เปิดคะแนนความสุข ‘คนไทย’ – พฤติกรรมการใช้จ่าย ในวันค่าครองชีพสูง

เปิดคะแนนความสุข ‘คนไทย’ – พฤติกรรมการใช้จ่าย ในวันค่าครองชีพสูง

วันที่ 14 ตุลาคม 2565 สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน ประเทศไทย (Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND)) เปิดเผย รายงานการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย รอบเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งร่วมกับบริษัทในเครือ ฮาคูโฮโด เพื่อศึกษาแนวโน้มการบริโภคของคนไทยทุกๆ 2 เดือน

โดยสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 19-29 สิงหาคม 2565 จากผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม เพศชายและเพศหญิงจำนวน 1,200 คน อายุ 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ

ผลการศึกษาระบุว่า แนวโน้มการใช้จ่ายยังคงสูงเท่าเดิม โดยเฉพาะอาหารและสินค้าจำเป็น แต่ข้อสังเกตคือ คนไทยปรับตัวอย่างเห็นได้ชัดเรื่องการใช้จ่าย โดยเน้นเฉพาะสินค้าอาหารและของใช้ประจำวันเพื่อกักตุน จากราคาของที่สูงขึ้น

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ อินไซต์ความเห็นของผู้บริโภค มีความต้องการที่ซื้อของช่วงนี้มากขึ้น เพราะช่วงนี้เด็กๆ ปิดเทอม และเป็นการซื้อเพื่อการเยียวยาจิตใจ ต่อให้เศร้าแค่ไหนก็มีเงินมาเยียวยาใจได้ ขณะที่บางความเห็นเลือกซื้อแต่ของที่จำเป็น เพราะราคาสินค้าสูงขึ้นมาก

การสำรวจความสุขในชีวิต ผลการศึกษาพบว่า คนไทยสุขเหมือนเดิม ช่วงนี้คนไทยยังมองบวก ผู้ชายสุขเพิ่มมากกว่าผู้หญิงจากกระแสสังคม ส่วนผู้หญิงสุขน้อยลง อาจเพราะภาระหน้าที่ในการดูแลรายจ่ายครอบครัว โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมที่ต้องจัดสรรเวลาและกิจกรรม

มุมของเทรนด์การใช้จ่าย ยังคงที่ต่อเนื่อง คะแนนการใช้จ่ายยังคงที่ 67% จากช่วงตุลาคมที่ผ่านมา แปลว่า คนไทยยังคงต้องการจับจ่ายสินค้าตามกระแส ด้วยผลบวกทั่วประเทศ ยกเว้นคนกรุงเทพฯ มีค่าคะแนนจับจ่ายลดลง 13% เนื่องด้วยสภาวะเงินเฟ้อที่กระทบค่าครองชีพในเมืองที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

ในทางกลับกัน ต่างจังหวัดกลับมีแนวโน้มการจับจ่ายเป็นบวกมากกว่า โดยเฉพาะคนภาคอีสาน จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ทำให้แหล่งงานและรายได้ของคนในภาคนี้กลับมาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อีกด้าน เรายังเห็นกระแสจับจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กับกลุ่มวัยสร้างตัวช่วงอายุ 20-39 ปี ด้วยสาเหตุที่มีความมุ่งมั่นเพิ่มความรู้เพื่อการพัฒนาศักยภาพตัวเองด้วยในหน้าที่การงานจึงอยากซื้อของเพื่อ Upskill ตัวเอง

ผลการศึกษาดังกล่าว ยังเปิดเผย 5 สิ่งที่คนให้ความสำคัญที่สุดในชีวิตตอนนี้ โดยครอบครัวยังเป็นสิ่งแรกสุดที่ให้ความสำคัญ แม้จะมีแนวโน้มที่ลดลงมาจากเดิม ขณะที่สิ่งสำคัญใหม่ที่คนเริ่มให้ความสำคัญในชีวิตช่วงนี้มากขึ้นคือ “ความรู้” โดยเป็นครั้งแรกที่ความสำคัญด้านความรู้ ติดอันดับ Top 5 เป็นครั้งแรก

สถาบัน ฮาคูโฮโด ให้ความเห็นว่า การที่ความสำคัญด้านความรู้ ติดอันดับ Top 5 ครั้งแรก สะท้อนความเชื่อที่ว่า ความรู้คือจุดเริ่มต้นของความก้าวหน้า เพื่อเพิ่มศักยภาพในระยะยาว และเพื่อการจับจ่ายที่ดีต่อใจ ฮีลตัวเองจากปัญหารอบตัวที่ควบคุมไม่ได้

นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุ 2 สิ่งที่เล็งเห็นเป็นโอกาสของเหล่านักการตลาด คือ

1. เสนอ Tips & Tricks เทคนิคการประหยัดใน Every Living

เน้นประหยัดค่าใช้จ่าย หรือเสนอแนะการประยุกต์ของใช้ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์กว่าเดิม เช่น เทคนิคการจัดเก็บอาหาร ขับรถประหยัดน้ำมัน

2. เป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Special Memory ภายในครอบครัว รับวันปิดเทอม

วันหยุดยาว และช่วงปิดเทอม เป็นโอกาสที่แบรนด์จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความทรงจำสุดพิเศษในครอบครัว ผ่านการนำเสนอไอเดียกิจกรรมสำหรับพ่อแม่ลูกในแต่ละช่วงวัย หรือแคมเปญพิเศษสำหรับครอบครัวที่มาใช้จ่ายด้วยกัน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ