พัฒนาอาชีพ ขนมสารทเดือนสิบ คนรุ่นใหม่ต่อยอด เพิ่มมูลค่า ขายได้ทั้งปี 

พัฒนาอาชีพ ขนมสารทเดือนสิบ คนรุ่นใหม่ต่อยอด เพิ่มมูลค่า ขายได้ทั้งปี 

ประเพณีสารทเดือนสิบ งานบุญประเพณีสำคัญของคนภาคใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับไปแล้ว โดยในพิธีจะมีการทำอาหารคาวหวานหลายชนิด ซึ่งขนมที่นิยมใช้ในพิธีคือ ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนเรือ แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ

ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า สำหรับใช้เล่นต้อนรับสงกรานต์ เหตุเพราะขนมบ้า มีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า การละเล่นที่นิยมในสมัยก่อน ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทน เงิน เบี้ย สำหรับใชัสอย ขนมกง (ไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ เพราะรูปทรงมีลักษณะ คล้ายกำไล แหวน

แต่ในปัจจุบันองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำขนมสารทเดือนสิบ เริ่มลดน้อยลงไปตามกาลเวลา เนื่องจากผู้รู้เหลือน้อย และคนรุ่นใหม่ไม่สนใจเรียนรู้ ดร.อภิวรรณ์ ดำแสงสวัสดิ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์สมุนไพรบ้านนก จังหวัดสงขลา จึงคิดพลิกฟื้นภูมิปัญญาการทำขนมสารทเดือนสิบด้วยโครงการพัฒนาอาชีพเพื่อสืบสานขนมประเพณีสารทเดือนสิบ

ขนมลา

จากโจทย์ปัญหาแรก คือ ขาดคนรุ่นใหม่ เข้ามาสืบสานการทำขนมสารทเดือนสิบ แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดก็พบว่า การถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาด้านการทำขนามสารทเดือนสิบ ก็ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายทั้ง 50 คน จึงมีหลายช่วงวัย คือ 1. ผู้ถ่ายทอดความรู้ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ 8 คน 2. ผู้เรียนรู้ ประกอบด้วย แม่บ้านว่างงาน 13 คน, คนพิการทางขา 2 คน

และแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 18 คน ที่เหลือ 11 คน เป็นลูกหลานของสมาชิกกลุ่มทำขนมลาจากวิสาหกิจชุมชนศูนย์สมุนไพรบ้านนก และสมาชิกกลุ่มขนมประเพณีจากหมู่บ้านศีลห้า และยังมีเด็กๆ อายุ 8-10 ปี ติดตามผู้ปกครองเข้าร่วมเรียนรู้ด้วย ทำให้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดกว่า 62 คน

ดร.อภิวรรณ์ เล่าว่า กระบวนการค้นหากลุ่มเป้าหมายจะใช้การสำรวจและสอบถามข้อมูลจากนายกเทศมนตรีตำบลบ่อตรุ กำนันตำบลวัดสน เจ้าอาวาสวัดสามบ่อ ผู้อำนวยการโรงเรียนสามบ่อวิทยา และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านยางเอน เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นจะมีการสัมภาษณ์พูดคุยเพื่อคัดเลือก โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับอาหารและมีใจรักในอาหารเท่านั้น

ในส่วนของกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด 13 ครั้ง ประกอบด้วย การสอนทำขนมสารทเดือนสิบทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมเทียน และขนมดีซำ โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอาหารมาถ่ายทอดองค์ความรู้ ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ การเลือกชนิดแป้ง การนึ่ง การชั่ง ตวง วัด มาตรฐาน อย. และฮาลาล ฯลฯ

ขนมกง

มีการเชิญเชฟรายการเชฟกระทะเหล็ก มาแบ่งปันถึงประสบการณ์การทำอาหารและเป็นวิทยากรเรื่องการต่อยอดเมนูในช่วงท้ายของกิจกรรม นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้เรื่องการทำบัญชี การทำตลาดออนไลน์ การถ่ายภาพ การทำคลิปวิดีโอ และการ Live ขายของผ่านโซซียลมีเดียอีกด้วย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายประกอบอาชีพได้จริง

และเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้ทักษะความรู้ ทีมงานมีการเติมความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่หรือโคกหนองนาโมเดล เพื่อฝึกกระบวนการคิดเรื่องต้นทุนการผลิต การใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาดัดแปลงหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เรื่อง Zero Waste หรือแนวคิดขยะเป็นศูนย์ เพื่อย้ำเตือนกลุ่มเป้าหมายไม่ละเลยสิ่งของเหลือทิ้ง

ส่วนกระบวนการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ดังนี้ ชี้แจงรายละเอียดและหลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพ โดยแบ่งกลุ่มการเรียนรู้ออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน และจัดให้มีการแข่งขัน ทำให้เกิดความสนุกไม่น่าเบื่อ  เติมความรู้ทางวิชาการ เช่น วัตถุดิบพื้นฐานในการทำอาหาร คุณภาพอาหาร ความรู้เกี่ยวกับแป้ง การเลือกวัตถุดิบ โดยเป็นการสอนลงลึกในแต่ละเมนู

เรียนรู้เรื่องการชั่ง ตวง วัด เนื่องจากที่ผ่านมาผู้สูงอายุส่วนใหญ่ใช้วิธีการ “กะๆ เอา” ดังนั้น ก่อนการทำขนมในแต่ละสัปดาห์ได้ให้ปราชญ์ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญการทำขนมแต่ละชนิดแจกแจงรายละเอียดส่วนผสมและขั้นตอนการทำอย่างละเอียด มีทีมงานคอยเก็บข้อมูลสัดส่วนที่ต้องใช้นำมาชั่งบนเครื่องชั่งดิจิทัลออกมาเป็นอัตราส่วน เพื่อให้ได้สูตรการทำขนมที่ได้มาตรฐานที่คนรุ่นใหม่เห็นแล้วสามารถทำได้ง่าย

ฝึกทำ

โดยจัดทำเป็นชาร์ตแสดงสูตรการทำขนม ซึ่งระหว่างเรียนรู้จะมีทีมงานคอยประกบการสอนเรื่องชั่ง ตวง วัด ไปพร้อมกัน และสุดท้ายจบที่การบรรจุถุงหรือแพ็กเกจจิ้ง ที่ต้องมีการให้ข้อมูลผู้ผลิต วันหมดอายุ และส่วนผสมต่างๆ เพี่อให้ผู้บริโภคมั่นใจ

สำหรับผลที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการฯ ดร.อภิวรรณ์ กล่าวว่า กิจกรรมการเรียนรู้การทำขนมทั้ง 4 ชนิด นอกจากได้สูตรการทำขนมที่ได้มาตรฐานดั้งเดิมแล้ว ยังได้สูตรใหม่ที่มาจากแนวคิดคนรุ่นใหม่ สามารถนำไปประกอบอาชีพขาย เช่น ปรับสูตรการทำ “ขนมลา” ต่อยอดเป็น “ขนมขบเคี้ยว” ที่ยังคงรสชาติเป็นขนมลาแต่มีความกรอบมากกว่า

บรรจุถุงซีล ขายถุงละ 20 บาท (1 ถุงไม่เกิน 100 กรัม) ขณะที่สูตรดั้งเดิม ขายกิโลกรัมละ 120 บาท คิดโดยเฉลี่ยแล้วการต่อยอดเป็นขนมขบเคี้ยว สามารถเพิ่มมูลค่าขนมได้ถึง 200 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ที่สำคัญคือ สามารถทำขายได้ตลอดปี ไม่ต้องรอขายเฉพาะเทศกาลเดือนสิบ เหมือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ได้นำเตาทำเครป เข้ามาใช้แทนเตารูปแบบเดิม เพื่อแก้ปัญหาเรื่องของความร้อนที่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าแก๊สและแรงงานคนลงไปได้มาก และมีนวัตกรรมตะแกรงตาก ที่ช่วยลดระยะเวลาการตากขนมจาก 1 คืน เป็น 1 ชั่วโมง ซึ่งสะอาด ปลอดภัย และเร็วขึ้นแล้ว

ถ่ายทอดเทคนิค

คุณโสภา แสงบุญมี อายุ 50 ปี อาชีพขายส้มตำและขนมทองม้วน กลุ่มเป้าหมาย สะท้อนว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นผู้ช่วยสอนทำอาหารให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เกาะพะงัน และลาออกมาดูแลแม่ที่บ้านเมื่อปลายปี 2653 มารับจ้างเย็บผ้ามีรายได้วันละไม่ถึง 10 บาท ทำได้ 2-3 เดือน

พอทางอาจารย์ มาชักชวนเข้าโครงการฯ จึงไม่ลังเลเพราะอยากมีอาชีพเลี้ยงตัวเอง และคิดว่าการทำขนมจะสามารถทำเป็นอาชีพไปได้เรื่อยๆ แม้จะอายุมากขึ้นก็ยังสามารถทำขายอยู่ที่บ้านได้ หลังจากเข้าร่วมฝึกอบรมทักษะอาชีพ ตัดสินใจทำขนมทองม้วนขาย

“ก่อนโควิด-19 เคยทำทองม้วนขายวันเสาร์อาทิตย์ ถุงละ 20 บาท มีรายได้วันละ 100-200 บาท ส่วนวันธรรมดานำขนมไปฝากขายตามร้านค้าในชุมชน รายได้ดีกว่ารับจ้างเย็บผ้า ทำให้ชีวิตครอบครัวดีขึ้น กำลังคิดว่าจะขอยืมเตาเครปจากศูนย์ฯ มาทำขนมทองม้วน วางขายควบคู่กับส้มตำ เพื่อให้รายได้เลี้ยงดูลูกมากขึ้น”

ตั้งใจ

ส่วน น้องโก-ศุภชัย จันทร์คล้าย อายุ 18 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสามบ่อวิทยา ตำบลวัดสน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา กลุ่มเป้าหมาย กล่าวว่า เขาเคยขายขนมครีมฮอร์นทางออนไลน์อยู่แล้ว เมื่อได้เรียนรู้กับโครงการฯ จึงนำความรู้เกี่ยวกับตลาดออนไลน์ และการถ่ายภาพมาปรับใช้และต่อยอด ทำให้ปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาสั่งขนมเพิ่มมากขึ้น

ความรู้เหล่านี้ ถ้าไม่ได้ กสศ. เราก็คงไม่รู้ว่าจะไปเรียนรู้ได้ที่ไหน แม้ปัจจุบันจะสามารถหาได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังต้องการการลงมือปฏิบัติจริงถึงจะได้ผลจริง เพราะทักษะที่ได้เกิดการลงมือทำจริง ถ้าไม่ได้ไปเข้าร่วมโครงการในวันนั้น เราก็คงไม่ได้ทำเป็นเหมือนในวันนี้

น้องโก บอกว่า สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ คือ เรื่องตลาดออนไลน์ เช่น การถ่ายรูปขนม การจัดภาพเรื่อง เขียนยังไงให้คนสนใจ จนหน้าเพจหรือหน้าร้านมีความน่าสนใจและน่าเชื่อถือมากขึ้น ทำให้มีออร์เดอร์เข้ามามากขึ้น ปัจจุบันมีรายได้ประมาณวันละ 200 บาท ขึ้นอยู่กับวันที่ขายออนไลน์

“ในฐานะคนรุ่นใหม่ อยากบอกว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ที่เปิดโอกาส ให้เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลแบบผม ได้ลงเรียนรู้ร่วมกับคนในชุมชน และยังได้ทักษะความรู้ใหม่ๆ ที่หาไม่ได้จากห้องเรียน เป็นประสบการณ์ที่ดีที่ผมสามารถนำไปต่อยอดการเรียนหรือการทำงานได้ในอนาคต” น้องโก บอกอย่างนั้น