อธิบดีกรมศิลป์แถลงความคืบหน้าก่อสร้างพระเมรุมาศ เร่งก่อสร้างก่อนเข้าหน้าฝน ก.ค.นี้

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวในการแถลงความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า นับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งที่ 1/2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งได้เปิดเผยแบบพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ โดยกรมศิลปากรได้เริ่มสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบมาตลอด 2 เดือน มีความคืบหน้าระดับหนึ่ง โดยการวางผังพระเมรุมาศในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง มีขนาดใหญ่กว่าพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 4 ครั้งหลัง

นายอนันต์กล่าวว่า การวางผังอาคารเลยถนนกลางสนามหลวงไปทางทิศเหนือ 80 เมตร ใช้พื้นที่ 2 ใน 3 ของท้องสนามหลวง การวางผังอาคารเชื่อมโยงสัมพันธ์กับศาสนสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ พระเมรุมาศมีการวางผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร สูง 50.49 เมตร พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด บนฐานชาลา 3 ชั้น ตรงกลางบุษบกประธานประดิษฐานพระจิตกาธาน พระเมรุมาศประดับด้วยเทวดา และสัตว์หิมพานต์ มีแนวความคิดในการตีความเชิงสัญลักษณ์ตามผังภูมิจักรวาล ตามปรัชญา และคติความเชื่อของไทย

นายอนันต์กล่าวอีกว่า ภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้าทางเข้ามณฑลพิธีด้านทิศเหนือ และทิศใต้ มีแนวคิดในการจัดภูมิทัศน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยการนำเสนอการจัดการพื้นที่ พืชพันธุ์ และเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เนื่องมาจากพระราชดำริ พรรณไม้ภายนอกรั้วราชวัตร นำมาจากพรรณไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริต่างๆ ภายในรั้วราชวัตรวางแนวคิดในการเลือกพรรณไม้ที่สะท้อนถึงสรวงสวรรค์ตามคติโบราณ และพรรณไม้สีเหลือง ขาวเพื่อสื่อถึงวันพระราชสมภพ

นายอนันต์กล่าวต่อว่า สำหรับภาพลายเส้นพระเมรุมาศนั้น ขณะนี้นำสู่การเขียนแบบก่อสร้าง โดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร จัดทำภาพ 3 มิติขึ้นมา และเตรียมพัฒนาเป็นภาพที่ดูได้ 360 องศา พระเมรุมาศซึ่งเป็นประธานในมณฑลพิธีออกแบบตามโบราณราชประเพณี และคติความเชื่อพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนสมมติเทพ

อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการจัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ โดยกลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ ประกอบด้วยเทวดายืนรอบพระเมรุมาศ 12 องค์ เชิญพุ่มโลหะ 4 องค์ เชิญฉัตร 8 องค์ เทวดานั่งรอบพระเมรุมาศอัญเชิญฉัตร และบังแทรก 56 องค์ ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ประกอบด้วย ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ และท้าววิรุฬหก ส่วนสัตว์มงคลประจำทิศ มีช้าง ม้า วัว สิงห์ ประดับทางขึ้นบันได ชั้นที่ 1 ประจำทิศ ทิศละ 1 คู่ รวม 8 ตัว ส่วนประติมากรรมที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ คือ พระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม อย่างละ 1 องค์ รวม 4 องค์ จะอยู่บริเวณทางขึ้นพระจิตกาธานชั้นบนสุด ชั้นที่ 3 จะเพิ่มการสร้างครุฑยืนรอบพระเมรุมาศ 4 คู่ 8 ตัว 4 ทิศ ตามคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์เหมือนพระนารายณ์อวตารลงมาจุติบนโลกมนุษย์ โดยมีครุฑเป็นพาหนะ เมื่อเสด็จสวรรคตจะกลับสู่สรวงสวรรค์ไปอยู่กับทวยเทพ

นายอนันต์กล่าวอีกว่า ประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยขณะนี้ทยอยปั้นประติมากรรมต้นแบบจากภาพลายเส้น หากผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร จะนำไปสู่การขยายแบบเท่าจริง ขั้นตอนต่อไปจะผูกไม้ครอส ขึ้นดินโกลนหุ่น ปั้นกายวิภาค ใส่เครื่องประกอบ เก็บรายละเอียด ทำพิมพ์ หล่อชิ้นงาน ตกแต่งชิ้นงาน ลงพื้น และเขียนสี ลงสีทองปิดทองคำเปลว ประดับแวว และติดตั้งประกอบพระเมรุมาศ

นายอนันต์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจะมีความยิ่งใหญ่เทียบเท่างานพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก กรมศิลปากรจะเร่งทำงานอย่างเต็มที่ในช่วงปลายหนาว และหน้าร้อน เนื่องจากมีความกังวลเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน จะมีอุปสรรคในการก่อสร้างพระเมรุมาศอยู่บ้าง โดยจะมีพิธียกเสาเอกพระเมรุมาศปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนนี้ มั่นใจจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 ตามแผนงานที่นำเสนอในคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศฯ

นายอนันต์กล่าวต่อว่า ขณะนี้งานก่อสร้างพระเมรุมาศอยู่ในขั้นตอนปรับหาค่าระดับ และเกลี่ยดินให้ได้ระดับเดียวกัน โดยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศฯ จะประชุมคณะกรรมการ และลงพื้นที่จัดสร้างพระเมรุมาศเพื่อติดตามความคืบหน้า จากนั้นจะล้อมต้นมะขาม 50 ต้น เพื่อเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณที่จะสร้างถนนเพื่อใช้เคลื่อนราชรถเข้าสู่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมพืชมาจัดทำพันธุกรรมต้นมะขามทั้งหมด

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าในการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ และราชยาน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่ และเจ้าหน้าที่กรมสรรพาวุธทหารบก

นายอนันต์กล่าวด้วยว่า สำหรับการรับสมัครอาสาสมัครร่วมปฏิบัติงานจัดสร้างพระโกศจันทน์ และงานศิลปกรรมเครื่องประกอบพระเมรุมาศ ตั้งแต่วันที่ 16-25 มกราคม ที่ผ่านมา มีผู้สมัครรวม 228 คน ยังเปิดรับสมัครถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ จากนั้นจะคัดเลือกโดยทดสอบทักษะความสามารถด้านช่างฝีมือ และสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเข้าปฏิบัติงานร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ต่อไป

ที่มา มติชนออนไลน์