ฝรั่งไส้แดง ผลไม้มาแรง เกษตรกรรุ่นใหม่ เคยโดนดูถูก ปลูกแล้วจะขายใคร

ฝรั่งไส้แดง ผลไม้มาแรง เกษตรกรรุ่นใหม่ เคยโดนดูถูก ปลูกแล้วจะขายใคร

คุณเปิ้ล-ธนพนธ์ นนทวัฒน์ อายุ 25 ปี บัณฑิตด้านการเกษตร จากรั้วมหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันเป็นเจ้าของฟาร์มไร่รังรัก สวนผลไม้ผสมผสานบนพื้นที่หลายไร่ ย่านอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี กรุณาสละเวลามาให้ข้อมูลกับ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ด้วยอัธยาศัยเป็นกันเอง เริ่มต้นให้ฟัง สวนผลไม้ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เป็นการสานต่อธุรกิจของครอบครัว ที่มีคุณพ่อของเขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ

โดยเมื่อก่อน คุณพ่อของเขาปลูกแต่กล้วยอย่างเดียว หรือไม่ก็ผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง พอผลผลิตออกมา กลายเป็นไปตีตลาดกัน เลยหันมาปลูกแบบผสมผสาน ทุกวันนี้จึงมีทั้ง กล้วย มะม่วงหลายสายพันธุ์ และล่าสุด ฝรั่งไส้แดง

สงสัยเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ไม่คิดอยากปลูกพืชฮิต อย่าง กัญชา กระท่อม บ้างหรือ คุณเปิ้ล บอกว่า พืชพวกนั้น อาจต้องใช้ต้นทุนสูง เขาเองก็เพิ่งเรียนจบใหม่ ไม่อยากรบกวนเงินทุนของครอบครัวมากนัก อีกอย่าง เชื่อว่า ฝรั่ง เป็นผลไม้ที่คนเราต้องกินเป็นประจำอยู่แล้ว แถมยังมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะให้วิตามินซีสูง ถูกใจกลุ่มคนรักษ์สุขภาพ

แล้วทำไมถึงเลือกปลูกฝรั่งไส้แดง เป็นผลไม้ชนิดแรกเป็นการประเดิมอาชีพเกษตรกรของเขา คุณเปิ้ล บอกว่า รู้จักผลไม้ชนิดนี้จากทางอินเทอร์เน็ต ทราบว่า เป็นผลไม้พันธุ์ใหม่มาจากไต้หวัน รู้สึกน่าสนใจ และเชื่อว่าน่าจะมีอนาคตไปต่อได้ ทั้งในแง่ของการขายกิ่งพันธุ์ และขายผล จึงลงทุนซื้อต้นพันธุ์จากสวนแห่งหนึ่ง ประมาณ 50 ต้น จากนั้นจึงนำมาขยายพันธุ์เอง บนพื้นที่ 5 ไร่

ใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา บวกกับเวลาเกือบ 1 ปี ก็ได้ผลผลิตอย่างที่ตั้งใจ มีทั้งผล และกิ่งพันธุ์ พร้อมจำหน่าย

แล้วทำอย่างไรถึงได้ลูกค้ามาอุดหนุน คุณเปิ้ลยิ้มกว้าง ก่อนบอก ช่วงแรก คนรอบข้างเขาก็ดูถูกเรา บอกว่า ปลูกแล้วจะไปขายใคร เพราะคนทำสวนในละแวก ส่วนใหญ่ปลูกข้าว หรือถ้าจะปลูกฝรั่งก็เป็นฝรั่งไส้ขาว ฝรั่งไส้แดง จึงเป็นม้ามืดมาใหม่ เลยต้องเปิดตลาดด้วยตัวเอง โดยให้ทุกคนทดลองชิม ถ้ารสชาติโอเค เดี๋ยวคงติดต่อมาเอง

จากวันแรกถึงวันนี้ ทำมาได้เกือบ 2 ปี ผลตอบรับดีมากน้อยแค่ไหน คุณเปิ้ล เผยให้ฟังว่า ผลตอบแทนน่าพอใจ เพราะขายได้ทุกเดือน ถ้าช่วงไหนขายผลไม่ได้ ก็สามารถขายกิ่งได้ มีส่งตามออร์เดอร์ทุกอาทิตย์ ส่วนผลมี “ติดจอง” แทบตลอด

“ตอนนี้ขายลูกสด มี หงเป่าสือ เฟิ่นหงมี่ ซีกัวป่าล่า กิโลละ 80-100 บาท แล้วแต่ช่วง อย่างช่วง ทุเรียนออก ก็จะขายได้แค่กิโลละ 80 บาท เพราะว่ามีผลไม้อื่นมาชนกัน ก็ต้องลดราคาลงมาหน่อย แต่ช่วงนี้ผลไม้อื่นอาจจะซา ฝรั่งอาจขายได้ กิโลละ 100-150 บาท ส่วนกิ่งพันธุ์ขายได้เรื่อยๆ ส่วนใหญ่ใครได้ชิมผลแล้วมักติดต่อขอซื้อกิ่งพันธุ์ไปปลูกบ้าง” คุณเปิ้ล บอกอย่างนั้น

ก่อนจบบทสนทนา ขออนุญาตถามตรงๆ การทำอาชีพเกษตรกร สามารถเข้าใกล้ “ความรวย” ได้มากน้อยแค่ไหน

คุณเปิ้ลหัวเราะเบาๆ ก่อนบอกจริงจัง

“เป็นเกษตรกร ก็รวยได้จริงครับ แต่ ต้องท่องไว้อีกอย่าง ขยัน คือ มี ไม่ทำ คือ อด”