งานเข้าแน่! เซอร์วิสชาร์จ ผปก.ร้านค้า แจ้งลูกค้า ไม่เคลียร์ มีความผิดนะ

งานเข้าแน่! เซอร์วิสชาร์จ ผู้ประกอบการร้านค้า แจ้งผู้บริโภค ไม่ชัดเจน รู้ไหม มีความผิด

เมื่อไม่นานมานี้ มีประเด็นในโลกโซเชียลที่กำลังถูกพูดถึงกันอย่างมาก อย่าง Service Charge (เซอร์วิสชาร์จ) หรือ ค่าบริการที่ผู้ประกอบการขายสินค้านั้นๆ คิดเพิ่มจากผู้บริโภค ที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งบางร้านก็ชาร์จแพง สวนทางกับการบริการที่ไม่ได้ทำอะไรมากเป็นพิเศษ

เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับเรื่อง เซอร์วิสชาร์จ ไว้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 ดังนี้

ก่อนที่จะเข้าเรื่องของ Service Charge นั้น ขอแนะนำให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับสิทธิในฐานะผู้บริโภค ของตัวเองกันก่อน โดย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้ผู้บริโภคไทยได้รับสิทธิไว้ 5 ประการ คือ

  1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
  2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
  3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
  4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
  5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

ดังนั้น ร้านค้าใดที่มีการเรียกเก็บค่า Service Charge นั้นจะต้องมีป้ายที่แสดง Service Charge ที่ชัดเจน หากไม่ติดแสดงไว้ ผู้บริโภคสามารถ “ปฏิเสธ” ได้ แม้ว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจะไม่ได้พูดถึงเรื่องของ Service Charge โดยตรง แต่ก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยให้อำนาจคณะกรรมการออกประกาศ “เรื่องการต้องแสดงราคาสินค้าหรือบริการ” ประกาศนี้บอกว่า ราคาสินค้า และบริการ ต้องแสดงราคาต่อหน่วย มีตัวเลขเป็นภาษาใดก็ได้ แต่ขอให้มีอารบิกอยู่ด้วย

ทั้งนี้ ข้อความต้องเป็นภาษาไทยในลักษณะที่เห็นชัดเจน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย เพื่อจะแสดงให้ผู้บริโภคเห็นก่อนการตัดสิน ที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการ สิ่งนี้คือหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจในการขายสินค้า ถ้าไม่มีแสดง หรือมีแต่อ่านไม่ชัดไม่ครบถ้วนก็มีความผิด คือโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ประชาชนสามารถแจ้งที่กรมการค้าภายในได้ทันที

พูดง่ายๆ ว่า ร้านอาหารมีหน้าที่ต้องติดป้ายแสดงทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ราคา แต่หมายถึง “Service Charge” ด้วย หากไม่ชัดเจนไม่ครบถ้วน นับว่ามีความผิด และที่สำคัญที่สุด ต้องไม่ลืมว่า “หน้าที่ตัดสินใจอยู่ที่ตัวเรา” หากร้านค้าติดป้ายแสดงราคาและ Service Charge ไว้อย่างเปิดเผย ชัดเจนครบถ้วนตอบสนองสิทธิผู้บริโภคแล้ว หน้าที่ต่อมาของเราคือ ดูรายละเอียด ประเมินความคุ้มค่า ก่อนตัดสินใจเลือกรับบริการ

สำหรับสถานที่ที่คิด Service Charge แพงเกินจริง หาเหตุผลไม่ได้ ภาครัฐมี พระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้า และบริการ มาตรา 29 ควบคุม โดยระบุว่า ถ้าผู้ประกอบการขายจำน่ายสินค้าในลักษณะทำให้เกิดความปั่นป่วน สร้างกลไกการตลาดบิดเบี้ยว ราคาเกินจริง โดยชี้แจงไม่ได้ว่าเหตุที่เรียกสูงเกินจริงนั้นมาจากอะไรนั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซี่งผู้บริโภคที่พบเห็นข้อมูลราคา ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน หรือ สคบ. 1166