กรมสวัสดิฯชี้แก้กฎหมาย ‘ลากิจได้ค่าจ้าง’ต้องเป็นเหตุจำเป็น ขึ้นกับดุลยพินิจนายจ้าง

หลังจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือไตรภาคี ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ จนได้ข้อสรุปจัดทำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวได้แก้ไขเพิ่มเติมให้สิทธิสวัสดิการลูกจ้างมากขึ้น อาทิ การเพิ่มความชัดเจนในเรื่องหญิงตั้งครรภ์สามารถลาคลอดได้ 90 วัน แต่ที่ผ่านมาไม่รวมวันก่อนคลอด โดยร่างกฎหมายใหม่ให้สามารถรวมไว้และกำหนดให้ลาเพื่อไปตรวจตั้งครรภ์ โดยไม่ถูกหักเงิน เป็นต้น

เมื่อวันที่ 26 มกราคม นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) กล่าวว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.ฯดังกล่าว นับเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะการกำหนดเรื่องเกษียณอายุ ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาพันธ์ฯและเครือข่ายแรงงานได้มีการร้องขอเรื่องนี้มาตลอด เพราะหลายบริษัทไม่มีการกำหนดอายุเกษียณของลูกจ้าง ปล่อยให้ลูกจ้างทำงานไปเรื่อยๆ ทำไม่ไหวก็จะลาออกไปเอง โดยที่ไม่ได้รับเงินเกษียณอะไรเลย หรือไม่ได้รับเงินชดเชย เหมือนกรณี น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ที่ทำงานกว่า 35 ปีและลาออกไปโดยไม่ได้รับค่าชดเชย ทั้งที่ทำงานมานานก็ตาม หลายคนอายุเกิน 60 ปีก็ยังทำงานอยู่ด้วยซ้ำ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ต้องมีสัญญาจ้าง

“ทางกลุ่มเรียกร้องมาตลอดเรื่องเกษียณอายุ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี โดยให้บริษัทกำหนดการเกษียณอายุว่า ต้องทำงานถึงเท่าไร ซึ่งขณะนี้อยู่ที่อายุ 60 ปี อย่างไรก็ตาม แต่ที่ยังไม่คืบหน้าเลย คือข้อเรียกร้องที่เสนอต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่องการออกเป็นกฎหมาย ให้สถานประกอบการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือการจัดตั้งเงินสะสมออกเป็นบำเหน็จบำนาญ เพราะหลายบริษัทก็ไม่มี จึงอยากให้กรมสวัสดิการฯ ให้ความสำคัญกับจุดนี้ หากเป็นไปได้เพิ่มในข้อกฎหมายด้วยก็ดี เพราะกฎหมาย ณ ขณะนี้มีเพิ่มเฉพาะเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างเท่านั้น” นายยงยุทธ กล่าว

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงกรณีการแก้ไขกฎหมายเรื่องให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระจำเป็น ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานนั้น จะต้องกำหนดเป็นระเบียบว่าวันลาประเภทใดหรือไม่ ว่า ไม่ต้อง โดยขอให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสถานประกอบการ แต่ก็คำนึงความจำเป็น ขนบธรรมเนียมประเพณี อย่างลาบวช พ่อแม่ หรือลูกเจ็บป่วย เป็นต้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์