ทำไม ทุเรียนเวียดนาม ถึงเติบโตในตลาดจีน และทางรอดไทย แก้เกมยังไง

ทำไม ทุเรียนเวียดนาม ถึงเติบโตในตลาดจีน และทางรอดไทย แก้เกมยังไง

หลังเวียดนามได้ไฟเขียวจากจีนให้นำเข้าทุเรียนสดได้ กลายเป็นเรื่องน่ากังวลใจของผู้ส่งออกไทย เพราะทุเรียนเวียดนามมีโอกาสเติบโตในตลาดจีน และในอนาคตข้างหน้า ยังมี ฟิลิปปินส์, สปป.ลาว และกัมพูชา ต่อคิวรับไฟเขียวจากจีน นอกจากนี้ ยังมีทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซียด้วย 

นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ไทย และเจ้าของล้ง “ดรากอน เฟรช ฟรุท” จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นผู้ส่งออกทุเรียนไทยรายใหญ่ กล่าวกับเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ ว่า ทุเรียนเวียดนามมีโอกาสเติบโตในตลาดจีน ด้วยเหตุผล 3 ข้อหลัก คือ 1. ระยะทางขนส่งใกล้กว่า 2. ต้นทุน-ค่าแรงต่ำกว่า มีการใช้ปุ๋ย-สารเคมีน้อยกว่า และ 3. ทุเรียนตัดแก่เป็นที่ชื่นชอบตลาดจีน

ปัจจุบันล้งของดรากอน เฟรช ฟรุท ได้ศึกษาลู่ทางที่จะเข้าไปตั้งโกดังรับซื้อทุเรียนในเวียดนามเช่นกัน เพราะทุเรียนเวียดนามถูกกว่าไทยเฉลี่ย กก.ละ 100 บาท เริ่มตั้งแต่ต้นทุนการผลิตของสวนเวียดนาม ถูกกว่าไทยอยู่ที่ประมาณ 20 บาท/กก. (ต้นทุนสวนทุเรียนไทยเฉลี่ย 35-50 บาท/กก.)

ส่วนราคาที่ผู้ส่งออกซื้อทุเรียนเวียดนามได้ประมาณ 125 บาท/กก. ขณะที่ราคาทุเรียนไทยที่ผู้ส่งออกซื้อได้ประมาณ 200-220 บาท/กก. แต่ตอนนี้ปริมาณทุเรียนเวียดนามยัง “น้อยกว่า” ทุเรียนไทยมาก ประมาณ 30-50% ขณะที่พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือ ช่วงที่ทุเรียนไทยออกมาชนกับทุเรียนเวียดนาม 7-8 เดือน หรือเกือบทั้งปี จะทำให้ราคาทุเรียนไทยลดต่ำลง ยกเว้น 3 เดือนช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และเวียดนามยังไม่มีระบบการรับซื้อ ไม่แบ่งคัดเป็นเบอร์

ทางออกทุเรียนไทยต้องทำส่วนแบ่งการตลาดด้วยคุณภาพ เพราะต่อไปยังมีประเทศฟิลิปปินส์ที่จีนกำลังจะอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนได้แล้ว และกัมพูชาที่ขอนำเข้าเช่นเดียวกัน ราคาทุเรียนเวียดนามที่ถูกกว่าทำให้ผู้ประกอบการในไทยเล็งเปิดสาขาในเวียดนามเพิ่มขึ้น

ปัญหาสำคัญของการส่งออกทุเรียนไทยต้องเร่งแก้ไข คือ ระบบการขนส่งทางบก ที่เป็นคอขวดระหว่างประเทศที่ 3 ส่วนทางรถไฟจีน-ลาว การขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ข้ามแดนมีค่าใช้จ่ายสูง ที่ผ่านมามีการขนส่งทางรถไฟน้อยมาก มีเพียง 200 ตู้จากการส่งออกทั้งหมด 100,000 ตู้” นายสัญชัย กล่าว

ด้าน นางสาวปทุมวดี อิ่มทั่ว อัครราชทูตที่ปรึกษา สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำปักกิ่ง ให้ข้อมูลสถานการณ์ทุเรียนตลาดจีน หลังเวียดนามส่งออกทุเรียนไปล็อตแรกอย่างเป็นทางการว่า ถือเป็นการทดลองตลาด สร้างกระแสการตื่นตัวคึกคักมาก มีรีวิวกดโหวตเปรียบเทียบทุเรียนไทย-เวียดนาม

ดังนั้น ในอนาคตทุเรียนไทยไม่ใช่ผู้ส่งออกทุเรียนสดเพียงรายเดียวที่ได้รับอนุญาตนำเข้าจีนอีกต่อไปแล้ว และฟิลิปปินส์เป็นประเทศต่อไป ตามด้วย สปป.ลาว-กัมพูชา และยังมีทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซียด้วย

ดังนั้น ทุเรียนสดไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านซัพพลาย ส่วนแบ่งทางการตลาดจะถูกแย่งชิงไป จากที่จีนเคยนำเข้าทุเรียนไทย 95-97% ต่อไปราคาทุเรียนไทยจะถูกลง จึงต้องวางแผนล่วงหน้า ด้านการขนส่งภาครัฐ-เอกชนต้องผลักดันเร่งเปิดด่านการค้าทางบกที่ค้างอยู่ 2-3 ด่านเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทางรถไฟจีน-ลาว และแก้ปัญหาการขนส่งคอขวดที่ด่าน

การวางโพสิชั่นของทุเรียนไทยเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเป้าหมายกลุ่มแมสจะแข่งขันกับทุเรียนเวียดนามด้วยราคาที่ค่อนข้างถูก ถ้าทำตลาดทุเรียนพรีเมี่ยมจะเป็นโอกาสดึงส่วนแบ่งการตลาดกลุ่มบนของจีน และกลุ่มชนชั้นกลางที่พร้อมจะจ่ายถ้าสินค้าดีมีคุณภาพ จากรูปลักษณ์ภายนอกทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามไม่ต่างกัน

ดังนั้น ต้องสร้างความแตกต่างของทุเรียนไทย ทำแบรนดิ้ง สร้างความน่าเชื่อถือเพื่อเพิ่มมูลค่า อาจมีการนำเสนอทุเรียนพันธุ์ใหม่ ทำ Rare Item เพิ่มจากหมอนทองที่เป็นฐาน การแปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ป้อนตลาดจีน

สร้างคิวอาร์โค้ดให้ตรวจสอบย้อนกลับ และการทำประชาสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ๆ ทันสมัย ที่มีอิมแพ็กต์แรงๆ เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ การร่วมมือกับผู้ประกอบการทำไลฟ์สตรีมมิ่งออนไลน์ ที่มียอดผู้ติดตามจำนวนมาก

“ช่วงนี้ทุเรียนในตลาดจีนราคาสูง เพราะทุเรียนไทยมีน้อย โดยราคาทุเรียนเวียดนามช่วงต้นเดือนกันยายนก่อนที่จะมีการนำเข้าอย่างเป็นทางการ กล่องละ 650-950 หยวน ทุเรียนไทยกล่องละ 1,000-1,300 หยวน

แต่เมื่อนำเข้าทุเรียนเวียดนามอย่างเป็นทางการแล้ว ปรากฏราคาทุเรียนเวียดนามได้เพิ่มสูงขึ้นใกล้เคียงกับทุเรียนไทย เนื่องจากทุเรียนเวียดนามที่นำเข้ามีปริมาณไม่มาก อย่างตอนนี้ราคาทุเรียนเวียดนามกล่องละ 950-1,000 หยวน ทุเรียนไทย 1,000-1,100 หยวน ทำให้ผู้บริโภคจีนมีทางเลือกมากขึ้น” น.ส.ปทุมวดี กล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ