อาจารย์ยักษ์ กับ หัวหน้าโจน แนะ ลดโลกร้อนด้วยการกิน ในงาน SX 2022

อาจารย์ยักษ์ กับ หัวหน้าโจน แนะ ลดโลกร้อนด้วยการกิน ในงาน SX 2022

จากงานเสวนา หัวข้อ “ลดโลกร้อนด้วยการกิน” ในมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่สุดในอาเซียน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 26 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม นี้ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือที่รู้จักกันในนาม “อาจารย์ยักษ์” บุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ ลดโลกร้อนด้วยการกิน ว่า ในทางทฤษฎีมี 3 เรื่องหลัก เกี่ยวกับการกินที่เกี่ยวข้องกับโลก คือ กระบวนการผลิตอาหาร กระบวนการขนอาหารไปจนถึงปาก และ การแบ่งปันกันกินอย่างทั่วถึง

แต่เนื่องจากทุกวันนี้ การแบ่งปันกันกินนั้น ไม่ทั่วถึง จึงทำให้เกิดช่องว่าง และช่องว่างนั้นก่อให้เกิด ความขัดแย้ง ความขัดแย้งก่อให้เกิดสงคราม ทุกวันนี้เขายิงกัน ขนอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแย่งน้ำมัน แย่งพลังงาน แย่งอาหาร เพราะเกิดจากการกิน คน 10 เปอร์เซ็นต์ของโลก กินอาหารเท่ากับ 90 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งโลก

เหล่านี้ คือ ปัญหาทำให้โลกนี้ร้อนระอุ และไม่ใช่ร้อนเฉพาะกระบวนการผลิต แต่เริ่มมาตั้งแต่การทำลายทะเล เห็นได้จากกว่าจะได้อาหารจากท้องทะเลมา ก็มีการทำลายล้างทะเล เผาผลาญพลังงานไปไม่รู้เท่าไหร่ สูญเสียออกซิเจนไม่รู้เท่าไหร่ เกิดคาร์บอนไม่รู้เท่าไหร่ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนคำนวณได้ทั้งนั้น

“อาหารผลิตที่ประเทศหนึ่ง แล้วขนเดินทางมาพันกิโล เพื่อมากินอีกประเทศหนึ่ง การขนส่งมันเผาผลาญ จนทำให้โลกร้อนวินาศสันตะโร ฉะนั้น ถ้าไม่จำเป็นอย่ากินของที่มาไกลเกินไป การที่ผลิตแล้วต้องขนกันเป็นหมื่นกิโลเป็นพันกิโล กินข้ามโลกกันอย่างนี้นะ ว่ามันเป็นกระบวนการเผาพลังงานโลกแบบมหึมาทีเดียว” อาจารย์ยักษ์ กล่าว

อาจารย์ยักษ์

และว่า ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการอาหารโลก ซึ่งแต่งตั้งโดย FAO (องค์กรว่าด้วยอาหารและการเกษตร) ระบุว่า การกินของมนุษย์ ถ้าจะกินได้อย่างทั่วถึงไม่มีใครอด และไม่ทำลายโลกใบนี้ ประชาคมโลก ต้องให้ความสำคัญกับ เกษตรกรรายเล็ก และ ประมงรายเล็ก (Small Scale Farm) เพราะเกษตรกรเหล่านี้ มีศักยภาพด้านการผลิตและมีน้ำใจแบ่งปัน

ถ้าพวกเขาแข็งแรง เขาจะแจกกันกินทั้งหมู่บ้าน จะไม่มีใครอด ผู้มีอำนาจก็ไม่ต้องเอางบประมาณไปซื้อพืชผลจากพวกเขา แล้วเอาไปแจกคนจน เพราะเขาจะแจกกันเอง

ด้าน คุณโจน จันได ในฐานะผู้บุกเบิกและก่อตั้งศูนย์พันพรรณ ชุมชนแห่งการพึ่งตนเอง กล่าวว่า ปัญหาของความไม่ยั่งยืน ปัญหาโลกร้อน ปัญหาวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ สาเหตุหลัก ล้วนเกิดมาจาก “การกิน” ซึ่งการกิน ที่ทำให้เกิดปัญหาในวันนี้ เกิดมาจากการเรียนโภชนาการ ที่เน้นแต่เรื่องโปรตีน ว่าทำให้โตเร็ว ทุกคนเลยพยายามจะกินโปรตีนเป็นหลัก เพราะอยากสูงเหมือนฝรั่ง

ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวมาข้างต้น นับเป็นการใช้ข้อมูลทางวิชาการอย่างมีอคติ ทำให้คนจำนวนมาก กิน แค่เนื้อ นม ไข่ และเมื่อมีการกินอย่างนี้นานๆ เข้า จึงทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ ที่เน้นการกิน เนื้อ นม ไข่ จนวันนี้หลายๆ คนแทบไม่ได้กินผัก คล้ายกับเป็นการฝึกให้ตัวเองกินของน้อยชนิดลง จนคนทั้งประเทศกินแค่ ไก่ ไข่ หมู และข้าว

คุณโจน จันได

ซึ่งการกินอาหารน้อยชนิดลงเช่นนี้ ทำให้มีผลกระทบตามมา คือ ต้องทำให้ไก่ราคาถูกลงได้ยังไง รัฐบาลจึงจะไม่ถูกโค่น จะทำให้ไข่ราคาถูก หมูราคาถูกได้ยังไง รัฐบาลจึงจะอยู่ได้นานขึ้น ทั้งที่ความจริง มีอาหารอย่างอื่นที่ราคาถูกกว่า

และเมื่อคนพากันกินอาหารแค่ 4 อย่างนี้ เยอะขึ้น จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อเลี้ยงไก่ ไข่ และ เลี้ยงหมู ซึ่ง 3 อย่างนี้ โตมาจากข้าวโพด มันสำปะหลัง กระทั่งมีการโค่นป่าทั้งหมดเพื่อ เลี้ยงไก่ ไข่ เลี้ยงหมู

“ยิ่งคนกินไข่ ไก่ หมู มากขึ้นเท่าไหร่ ป่าก็ยิ่งจะลดลงๆ ผลกระทบที่ตามมา คือ หน้าดินหาย หน้าดินหรือดินร่วน เป็นสิ่งที่ธรรมชาติใช้เวลาเป็นร้อยปี จึงจะสร้างได้ 1 นิ้ว 2 นิ้ว แต่พอโค่นป่าปุ๊บ จุดไฟเผาปั๊บ ปีเดียวหน้าดินหายไปได้กว่า 1 นิ้วเลย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ฉะนั้น พฤติกรรมการกินของคนที่กินน้อยชนิดลงเรื่อยๆ จึงทำให้ระบบนิเวศทั้งระบบพังทลายลง ความสมดุลสูญหายไป” คุณโจน กล่าว

เสวนา ลดโลกร้อนด้วยการกิน

และว่า การกินอาหารน้อยชนิดลง แต่ปริมาณมากขึ้น อาจทำให้คนได้สารอาหารมากเกินจำเป็น คนจึงต้องเผชิญปัญหาสุขภาพ เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคเพิ่มขึ้น แม้จะมีเงินมากขนาดไหน ก็ต้องมาป่วยมะเร็ง เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ

การกินที่ไม่ได้กินเพื่อตัวเองอย่างเดียว ทำให้เกิดผลกระทบที่กว้างใหญ่มาก ตอนนี้เราจะเริ่มเห็นสงครามเกิดบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น น้ำท่วม ฝนแล้ง พายุถล่ม โลกร้อนขึ้น สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกันทั้งหมด ฉะนั้น พฤติกรรมการกินที่กินน้อยชนิดลงเรื่อยๆ คือ ปัญหาใหญ่ที่สุดในวันนี้

“เมื่อก่อนคนไทยกินปลาแม่น้ำมากกว่า 200 ชนิดต่อปี กินผักมากกว่าร้อยชนิดต่อปี แต่วันนี้ คนไทยกินปลาแม่น้ำอยู่ 3 อย่าง ปลาดุก ปลานิล และปลาทับทิม 3 อย่างนี้เกิดมาจากข้าวโพด และปลาเล็กปลาน้อยนิดหน่อย แล้วก็กินผักน้อยชนิดลง การมีพฤติกรรมการกินแบบนี้เอง ทำให้ป่าเมืองไทยหายไปจนเหลือไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด” คุณโจน กล่าว

สำหรับ มหกรรม SX 2022 ครั้งนี้ จัดขึ้นด้วยแนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy-SEP) ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มาเป็นแนวทางในการจัดงาน ซึ่งสอดคล้องกับ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ

SX 2022 จัดโดย 5 องค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนของไทย ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดงาน SX 2022 ได้ทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/SX.SustainabilityExpo/ และเว็บไซต์ https://sustainabilityexpo.com