เผยแนวโน้ม การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เผยแนวโน้ม การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกัญชาเสรีทางการแพทย์ ที่มี นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองประธาน ได้หารือร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข โดยได้ทบทวนแนวทางการควบคุมการปลูก ใช้ประโยชน์ ผลิต และจำหน่าย เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขภาพและทางการแพทย์ และป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด

โดยที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนประเด็นของผลกระทบที่เกิดจากการปลดพืชกัญชาออกจากยาเสพติดหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยเปรียบเทียบกับข้อกฎหมายระหว่างประเทศ และมาตรการป้องกันและติดตามผลกระทบ

นพ.ประพนธ์ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด มีระบบการควบคุมกำกับผลกระทบด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้น และมีการประชุมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล การทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้เราเข้าใจความเป็นพลวัตของสังคมและกัญชา ว่าทำไมฟากฝั่งประชาชน จึงต้องการให้ปลดกัญชาจากยาเสพติด เพราะต้องการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ที่เป็นความต้องการร่วมของคนทั่วโลก

เราพูดกันมานานว่า ต้องการปฏิรูประบบสุขภาพ คืนอำนาจการดูแลสุขภาพให้ประชาชน ซึ่ง กัญชา เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่คนไทยใช้มานาน คงไม่สามารถนำบริบทบ้านเราไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ไม่มีความรู้เหล่านี้อยู่เลย ในส่วนของผลลบที่สังคมกังวล ข้อมูลของกรมการแพทย์วันนี้ที่มารายงาน ก็พบว่า เมื่อเทียบกับยาเสพติดอื่น กัญชาไม่ได้ทำให้เกิดการเสพติดสูงเป็นอันดับ 1 แต่เป็นอันดับ 5

นอกจากนั้น สิ่งที่พบก็คือ รูปแบบการใช้ยาเสพติดมีการใช้ร่วมกันหลายชนิด และเมื่อดูแนวโน้มการใช้กัญชา เพื่อสันทนาการในแต่ละปี พบว่า ไม่มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตรงนี้เป็นสิ่งที่อยากสื่อสารถึงสังคม ขอให้มั่นใจว่าเรามีระบบในการป้องกันผลกระทบด้านลบ

ทั้งนี้ ในส่วนของความสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้มีการระบุว่าต้องกำหนดให้เป็นยาเสพติด แต่ต้องมีมาตรการป้องกันการนำไปใช้ในทางผิด อย่างเช่น อิสราเอล ก็กำหนดกัญชาเป็น Dangerous Drug ส่วนแคนาดา ก็มีการออกกฎหมายควบคุมที่เรียกว่า Cannabis Act ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีการกำหนดให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ที่หากไม่ทำตามจะมีความผิดทางอาญา

และในส่วนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดูแลอยู่ จึงไม่ใช่เป็นสุญญากาศแบบที่หลายคนเข้าใจ จากข้อมูลของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีผู้ได้รับอนุญาตจำหน่ายและแปรรูป 801 คำขอ ส่งออก 67 คำขอ รวมทั้งสิ้น 868 คำขอ

ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังได้เร่งอบรมและเสริมสมรรถนะพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดการทำงานไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนกันในเรื่องการติดตามผลิตภัณฑ์และบริการในท้องตลาด โดยการสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่องเป็นการประกันความปลอดภัยให้ผู้บริโภค