เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะทำงานร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า
เดิมทีเครือข่ายภาคแรงงานได้รวบรวมรายชื่อกว่าหมื่นชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ฉบับผู้ใช้แรงงานมาตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งเมื่อมีการยุบสภา จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการเสนอร่างดังกล่าวอีก สุดท้ายมีการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ฯ โดยอิงร่างหลักจากกระทรวงแรงงาน แต่มีร่างของผู้ใช้แรงงานประกบนั้น และได้ตั้งคณะทำงานดำเนินการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฯ ซึ่งมีอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธาน มอบให้นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีฯ ประชุมแก้ไขเพิ่มเติม ล่าสุดได้ยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา โดยผู้ใช้แรงงานได้เสนอแก้ไข 5 ประเด็น และหลังจากนี้ทางกระทรวงแรงงานจะมีการทำประชาพิจารณ์ในช่วงเดือนมีนาคม ก่อนจะสรุปและเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
นายมนัสกล่าวต่อไป สำหรับประเด็นแก้ไขดังกล่าวได้ดำเนินการทั้ง 3 ฝ่าย มีนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ ฝ่ายละ 5 คน ในส่วนของผู้ใช้แรงงานมี 5 ประเด็น อาทิ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 118 กำหนดอัตราค่าชดเชยกรณีนายจ้างเลิกจ้าง สำหรับลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชย 400 วัน จากเดิมกำหนดให้ 10 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชย 300 วัน ส่วนค่าชดเชยอื่นๆ ยังเหมือนเดิมคือ ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน ถ้าทำงาน 3 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชย 180 วัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 กำหนดให้ลูกจ้างเป็นหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อตรวจรักษาสุขภาพก่อนคลอดบุตร เพิ่มเติมนอกเหนือจากการลาเพื่อคลอดบุตร และยังเพิ่มเติมมาตรา 59 โดยกำหนดให้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นหญิงในวันลา เพื่อตรวจรักษาสุขภาพก่อนคลอดบุตรด้วย กล่าวคือ แรงงานหญิงจะไปตรวจครรภ์ก็สามารถลาและได้ค่าจ้างด้วยเช่นกัน ให้รวมทั้งค่าจ้างรายวันและรายเดือน นายจ้างต้องจ่ายให้ตามกฎหมาย เป็นต้น
“ยังมีเพิ่มมาตรา 55/1 กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน ไม่ว่าจะลาบวช หรือลาเพื่อกิจธุระใดก็ตาม นอกจากนี้ ในมาตรา 13 วรรคสอง กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษ กรณีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล เดิมไม่มี ลูกจ้างหากต้องการเงินชดเชยต้องไปฟ้องศาลกันเอง ทั้งหมดหากผ่านประชาพิจารณ์และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับร่าง กระทั่งประกาศเป็นกฎหมาย จะถือเป็นเรื่องดีของลูกจ้างทุกคนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ เป็นการปรับแก้กฎหมายจากของเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2541” นายมนัสกล่าว
นายอภิญญากล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความคิดเห็นไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย มีนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ จากนี้จะส่งไปยังนิติกรพิจารณา และสอบถามความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คาดว่ากระบวนการนี้จะดำเนินการภายในเดือนมีนาคม จากนั้นเสนอ ครม.พิจารณา เพื่อประกาศใช้ต่อไป ร่าง พ.ร.บ.ฯดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับลูกจ้างมากขึ้น และนายจ้างก็ไม่ได้เสียประโยชน์อะไร เพราะได้ผ่านความคิดเห็นมาแล้ว ที่สำคัญเดิมกฎหมายมีอยู่ เพียงแต่อาจไม่ชัดเจน ก็ทำให้ชัดขึ้น
“ยกตัวอย่างกรณีการแก้ไขเพื่อเพิ่มสิทธิลาในการตรวจครรภ์ก่อนคลอดนั้น เนื่องจากที่ผ่านมามีการตีความกฎหมายว่า การลาไปฝากครรภ์นั้นไม่เข้าเงื่อนไขวันลาคลอดจำนวน 90 วัน ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. … จึงมีการแก้ไขในประเด็นนี้ด้วย ระบุให้ชัดเจนในกฎหมายว่าให้นับรวมการลาไปฝากครรภ์หรือตรวจสุขภาพครรภ์ด้วย ให้นับรวมอยู่ในจำนวน 90 วัน การลาไปฝากครรภ์ก็ยังได้รับค่าจ้างเหมือนเดิม โดยรวมทั้งลูกจ้างรายวันและรายเดือนก็จะได้รับค่าจ้าง” นายอภิญญากล่าว และว่า ที่ผ่านมานายจ้างบางรายอาจไม่ยืดหยุ่น ไม่ยอมให้ลูกจ้างลาไปฝากครรภ์ที่ได้ค่าจ้างด้วย กล่าวคือ ไม่ได้รวมอยู่ใน 90 วัน ดังนั้น กฎหมายนี้จะทำให้ชัดเจนขึ้น เพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การนับรวมการฝากครรภ์เป็นวันลาคลอด 90 วัน จะทำให้ลูกจ้างมีเวลาในการเลี้ยงลูกลดลง ทั้งที่หลายฝ่ายพยายามผลักดันให้มีการลาคลอดมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นายอภิญญากล่าวว่า ถือว่ารวมอยู่ใน 90 วัน แต่คิดว่าไม่น่ามีผลกระทบอะไร เพราะปกติแล้วบางคนก็ใช้สิทธิลาคลอดไม่ถึง 90 วัน ส่วนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็มีการผลักดันเรื่องมุมนมแม่ในที่ทำงานอยู่แล้ว
ที่มา มติชน