ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ศาสตราจารย์ แกร์ฮาร์ด ยาห์รีส นักวิชาการจากสถาบันโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัยฟรีดริค ชิลเลอร์ เจนา ในเมืองเจนา ประเทศเยอรมนี เปิดเผยผลศึกษาวิจัยน่าทึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติเชิงโภชนาการของ “ดัควีด” หรือ “แหน” พืชน้ำที่พบเห็นทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง
ในฐานะนักโภชนาการ ศาสตราจารย์ยาห์รีสระบุว่า แหน อาจทำหน้าที่เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของอาหารในอนาคตสำหรับมนุษยชาติ ทั้งสามารถนำมาใช้โดยตรงอย่างเช่น ผสมในซุป, แกง, เป็นส่วนผสมของไข่เจียวและสลัด หรือนำไปทำเป็นอาหารแปรรูปได้
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ยาห์รีสระบุว่า จากการศึกษาทั้งของตนเองและนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันรวมถึงชาวอินเดียหลายคน เชื่อว่าดัควีดหลายชนิดมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก มีโปรตีนอยู่สูงในระดับเดียวกับถั่วทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งเมล็ดลูพิน (พืชในวงศ์ถั่ว มีทั้งที่เป็นไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม ออกผลเป็นฝัก) และเมล็ดเรพ (ในไทยเรียกผักกาดก้านขาว หรือผักกาดมูเซอ เมล็ดมาสกัดน้ำมันสำหรับทำสบู่, น้ำมันหล่อลื่น) โดย มีสัดส่วนของโปรตีนสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณเมื่ออบแห้ง ทั้งยังมีกรดไขมัน โอเมกา-3 ที่มีคุณค่าต่อสุขภาพสูงในหลายด้าน ตั้งแต่ลดอาการอักเสบไปจนถึงลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ และลดอาการหอบหืดในเด็กอีกด้วย
นอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว แหนยังมีคุณสมบัติด้านการรักษาอีกด้วย โดยศาสตราจารย์ยาห์รีสชี้ว่าตัวแหนเองนั้นมีคุณสมบัติสามารถดูดซับจุลธาตุ (ธาตุขนาดเล็กกว่ามีความเข้มข้นเฉลี่ยน้อยกว่า 100 อะตอมต่อล้านอะตอมของส่วนผสมทั้งหมด) ที่เจือปนอยู่ในน้ำได้ ดังนั้นจึงสามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ จากการเป็นพิษของภาวะทุพโภชนาการได้ โดยต้นทุนต่ำและทำได้ง่ายอีกด้วย
ข้อดีอีกประการของดัควีดหรือแหนก็คือสามารถเพาะปลูกได้ในน้ำโดยตรง ขยายตัวได้รวดเร็วมาก ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีที่ดินสำหรับใช้ในการเพาะปลูกเพิ่มเติม ซึ่งศาสตราจารย์ยาห์รีสบอกว่าทำให้แหนกลายเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ สำหรับการใช้เป็นแหล่งอาหารในหลายพื้นที่ซึ่งที่ดินเพื่อการเกษตรลดน้อยลง เช่นเดียวกับที่จะเป็นแหล่งโปรตีนที่มีค่าในอนาคต
ศาสตราจารย์ยาห์รีสระบุว่า ในเวลานี้มีโครงการริเริ่มเพื่อการผลิตแหนในระดับอุตสาหกรรมขึ้นแล้วในบางพื้นที่ อาทิ อิสราเอลและเนเธอร์แลนด์ แต่โครงการดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้แหนเป็นอาหาร แต่เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลเท่านั้น
ศาสตราจารย์ยาห์รีสระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ศึกษาวิจัยแหนเพราะสังหรณ์ว่าพืชน้ำชนิดนี้น่าจะเป็นแหล่งโปรตีนและกรดไขมัน โอเมกา-3 สำหรับเป็นอาหารระดับ “ซุปเปอร์ฟู้ด” ของมนุษย์ในอนาคตได้ และผลก็ปรากฏเช่นนั้นจริง
ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนขนานนามแหนว่าเป็น “เครื่องจักรสีเขียว” หรือ “กรีน แมชชีน” ในการต่อสู้กับความอดอยากและภาวะทุพโภชนาการของโลกในอนาคต