Y-Economy เทรนด์ธุรกิจทรงพลัง ที่จับกระแส Y มาใช้ จนได้ดี!

Y-Economy เทรนด์ธุรกิจทรงพลัง ที่จับกระแส Y มาใช้ จนได้ดี!

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราอาจเห็นกระแสคู่จิ้น ชาย-ชาย หรือ คู่จิ้นวาย (Y) ในสังคมไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โฆษณา งานอีเวนต์ รวมถึง ละคร ที่ไม่ว่าช่องเล็กช่องใหญ่ช่องออนไลน์ ก็หันมาผลิต หนังวาย (หนัง Y) ออกมาฉายกันมากขึ้น ส่งผลให้เกิด ดาราคู่จิ้น ขึ้นมากมาย

ข้อมูลจาก คุณนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE Thailand ได้ออกมาเผย อินไซต์ของกลุ่ม Boys Love ในงาน LINE Thailand Business 2020 ในตอนหนึ่งว่า

จากข้อมูล ไลน์ ประเทศไทย พบพฤติกรรมที่แยกย่อยลงไป สะท้อนจากพฤติกรรมการรับชมแพลตฟอร์ม ไลน์ ทีวี (LINE TV) โดยมีผู้ชมไลน์ทีวีมากถึง 18 ล้านคนที่ดูคอนเทนต์ ซีรีส์วาย ซึ่งคนกลุ่มนี้ คือ กลุ่มผู้หญิง ที่สำคัญ กระแสนี้กำลังเติบโตขึ้นในไทย และค่อยๆ ขยายตัวออกไปในตลาดเอเชีย รวมถึงทั่วโลก

ด้วยกระแสที่เกิดขึ้น ทำให้ ไลน์ เริ่มสนใจและศึกษา Y-Economic ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจแบบใหม่ ด้วยการใช้ศิลปิน นักแสดงเป็นกลไกนำไปสู่ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ และการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้อง

แล้ว Y คืออะไร?

จริงๆ แล้ว วาย (Y) หรือ กระแสวาย ก็คือกระแแสความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง อาจมีชื่อเรียกก่อนหน้านี้หลากหลาย ทั้ง Boy’s Love (BL) หรือ โดจินชิ (การ์ตูนที่เขียนและวาด โดยมือสมัครเล่นแต่ไม่ได้ตีพิมพ์ผ่านสำนักพิมพ์ โดยนำคาแร็กเตอร์ตัวละครนั้นๆ ของตัวการ์ตูนหรือสื่อบันเทิงกระแสหลัก มาแต่งเติมจินตนาการของแฟนการ์ตูน-แฟนคลับนักแสดง ซึ่งเป็นผู้เขียนเข้าไป โดยโดจินชิ ปรากฏขึ้นครั้งแรก ช่วงปลายยุค 1970 เทียบง่ายๆ ก็คล้าย แฟนฟิค ในปัจจุบันนั่นแหละ)

มีต้นกำเนิดมาจากคำว่า ยะโออิ (Yaoi) ในภาษาญี่ปุ่น เป็นคำที่แสดงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ชาย-ผู้ชาย ซึ่งมักถูกวาด-แต่งขึ้นโดยผู้หญิง เพื่อกลุ่มผู้หญิง ที่ชื่นชอบในความสัมพันธ์ของชายคู่เดียวกัน นอกจากนั้น วาย (Y) ไม่ได้จำกัดเฉพาะกับความสัมพันธ์ระหว่าง ชาย-ชาย เพียงเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง ความสัมพันธ์แบบ หญิง-หญิง อย่าง ยูริ (Yuri) หรือ Girl’s Love (GL) ได้อีกเช่นกัน

รูปภาพจาก มติชนออนไลน์

โดย กระแสวาย มีการเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ผ่านการ์ตูนและวรรณกรรมที่มีการแปลมาจากญี่ปุ่นในช่วงปลายยุค ปี 1990 ก่อนจะกลายมาเป็นอิทธิพล ก่อให้เกิด นักเขียนนิยายวาย (นิยาย Y) ชาวไทย ที่มักเผยแพร่ผลงานกันในเว็บบอร์ดดังอย่าง Dek-D นั่นเอง

ซึ่ง กรแะส Y ในสมัยก่อน แอดมินจำได้เลยว่าไม่ได้รับการเผยแพร่หรือหาเสพได้ง่ายๆ บนสื่อหลักอย่างสมัยนี้ จะหาเสพแต่ละที ก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แถมหายากอีกต่างหาก แต่เมื่อกาลเวลาผันผ่าน สังคมเปิดกว้าง (กว่าเก่า) และมีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น กระแส Y ได้รับการยอมรับอย่างเปิดกว้างมากขึ้นจากอุตสาหกรรมบันเทิงไทย

อันเห็นได้จาก รักแห่งสยาม ภาพยนตร์ที่กำกับการสร้างโดย คุณมะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2550 และประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้ รางวัล รวมถึงการสร้างมุมมองใหม่ๆ ต่อวัยรุ่นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก่อจะเป็นโมเดลต่อยอดให้ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย หยิบยกเอา นิยาย Y หรือ การ์ตูน Y มาสร้างเป็น ซีรีส์

ซึ่ง Love Sick The Series : รักวุ่น วัยรุ่นแสบ ที่มี ไวท์-ณวัชร์ พุ่มโพธิงาม และ กัปตัน-ชลธร คงยิ่งยง เป็นนักแสดงหลัก ถือเป็นซีรีส์ Y เรื่องแรกของไทย ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก หลังจากนั้นก็มีซีรีส์ Y ออกมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ที่ได้ คริส-พีรวัส แสงโพธิรัตน์ กับ สิงโต-ปราชญา เรืองโรจน์ มารับบทนำ

(นิยาย) พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง
(ซีรีส์) พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง

 

ตามด้วย เพราะเราคู่กัน ที่มี ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี กับ วิน-เมธาวิน โอภาสเอี่ยมขจร เป็นคู่หลักของเรื่อง ถัดมาเรื่อง แปลรักฉันด้วยใจเธอ ที่ได้ บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล กับ พีพี-กฤษฎ์ อำนวยเดชกร นำแสดงและทั้งคู่มักมีชื่อขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์กันบ่อยๆ และ นิทานพันดาว แสดงนำโดย เอิร์ท-พิรพัฒน์ วัฒนเศรษสิริ และ มิกซ์-สหภาพ วงศ์ราษฎร์ ส่งผลให้ดารานักแสดง Y ในเรื่องดังที่กล่าวมา (รวมถึงเรื่องที่ไม่ได้ยกตัวอย่าง) โด่งดังและมีงานพรีเซนเตอร์จากสินค้าแบรนด์ต่างๆ เข้ามาร่วมงานด้วยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง รวมถึง บริการต่างๆ ที่เข้ามาลุยตลาด Y กับเขาด้วย

จากข้างต้น อาจก่อให้เกิดคำถามสำหรับหลายๆ คนว่า ทำไมซีรีส์ Y ถึงได้รับความนิยมมากขนาดนี้?

หากมีการคิดวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างจริงจังแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ที่ กระแส Y หรือ ซีรีส์ Y ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มจะเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจมาจาก

เคมีของนักแสดงนำ : การจับคู่นักแสดงนำของเรื่องมีส่วนสำคัญมากๆ เพราะการจะทำให้ซีรีส์เรื่องนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ เคมีและความสนิทสนมของเหล่านักแสดง สำคัญกว่าสกิลการแสดงของพวกเขาเสียอีก

รูปภาพจาก ข่าวสดออนไลน์

พล็อตเรื่อง : สตอรีไลน์ที่สนุกและน่าสนใจ จะทำให้คนดูตัดสินใจจะรับชมตอนถัดๆ ไป

ทีเซอร์หรือเทรลเลอร์ที่น่าสนใจ : การทำทีเซอร์ที่ถูกต้องสำหรับซีรีส์วายคือ การใส่ฉากไคลแม็กซ์ที่ทำให้คนดูจิ้นต่อและอยากรู้เรื่องมากขึ้น และกระตุ้นให้ผู้ชมเลือกรับชมได้มากขึ้น

โปรดิวเซอร์ผู้จัด : ผู้จัดซีรีส์วายหลายเจ้าได้รับความเชื่อถือจากแฟนคลับว่าจะทำซีรีส์ออกมาได้ดี เช่น สตูดิโอวาบิซาบิ / GMM / นาดาว บางกอก เป็นต้น

ละครต้นฉบับที่ถูกนำมาทำ : แฟนซีรีส์วายหลายคน มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นแฟนคลับนิยายวายบนโลกโซเชียล พวกเขารักเนื้อหาบนหน้ากระดาษมากๆ ทำให้พวกเขาจะดูและจับผิดหากผู้ผลิตนำนิยายมาทำให้ผิดจากเส้นเรื่องตัวหนังสือมากเกินไป

เทรนด์โซเชียลมีเดีย หรือ คลิปรีแอ๊กชั่น : ถือเป็นตัวช่วยที่ทำให้ผู้ชมค้นพบซีรีส์ใหม่ๆ และช่วยกระจายข่าวการมาถึงของซีรีส์วายบนโลกโซเชียลได้

ข้อมูลจาก LINE, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ , FEE:D และ The Matter

——————————————————————————————————————————–

เตรียมพบกับนักแสดงซีรีส์ Y มากมาย ในงาน Feed Y Capital 24 กันยายน 2565 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ที่ SIAM SQUARE ลานจอดรถที่ 3 (SEE FAH) งานนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย

รายละเอียดเพิ่มเติม : feedforfuture.co/feed-read/7152