เกษตรกรต้นแบบอุบลโมเดล…ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

ปัจจุบันเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานีนิยมปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากมีตลาดรับซื้อแน่นอนเป็นพืชพลังงานและพืชอาหารที่สำคัญสร้างเศรษฐกิจให้จังหวัดและประเทศ วิถีในการเพาะปลูกมันสำปะหลังมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ แหล่งทรัพยากร องค์ความรู้ของเกษตรกรการเลือกใช้ท่อนพันธุ์ การจัดการแปลง การใส่ใจที่แตกต่างกัน และที่สำคัญคือการใช้ “ปุ๋ย” ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีแนวทางในการใช้ปุ๋ยตามความเคยชิน เพราะขาดวามรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง

การใส่ปุ๋ยที่ถูกต้องเหมาะสมจะสามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ มีวิธีการที่เรียกว่า“การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เกษตรกรอาจมองว่าเป็นเรื่องที่เข้าถึงยาก บางรายอาจยังไม่รู้จักเลย แต่ปัจจุบัน“โครงการอุบลโมเดล” เป็นช่องทางในการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร หน่วยงานราชการที่มีความรู้ และตลาดรับซื้อ ทุกหน่วยงานมาทำงานร่วมกันเพื่อเกษตรกรกลุ่มเดียวกัน ทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้ และมีประสบการณ์  มีพี่เลี้ยงที่หลากหลาย มีสังคมในการแลกเปลี่ยน ปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี เพราะมีเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จคอยให้คำแนะนำอยู่ในพื้นที่

นายสอน สำราญ ชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังที่ได้เข้าร่วมโครงการอุบลโมเดล ก่อนหน้านี้ นายสอนทำงานอยู่กรุงเทพฯ หลังจากทราบว่ามีโรงงานใกล้บ้าน และมีที่ดินเป็นของตนเองจึงตัดสินใจกลับมาทำการเกษตรปลูกมันสำปะหลังที่บ้านเกิด ปลูกมันฯ ประมาณ 20 ไร่ เดิมไม่มีความรู้มากนักปลูกไปแบบธรรมชาติ

“ก่อนหน้านี้ก็ปลูกตามมีตามเกิด ได้ 3 ตันบ้าง 5 ตันบ้าง ปลูกมา5-6 ปี ทดลองผิดทดลองถูก พันธุ์อะไรปลูกดียังไม่รู้จักซื้อตามเขาว่าดี ท่อนละบาทเอารถไปซื้อต่างอำเภอ พอดีได้มาเจอเจ้าหน้าที่จากโรงงาน อาจารย์หลายหน่วยมาจัดประชุมที่ศาลากลางหมู่บ้านถึงได้รู้จักโครงการ เลยลงชื่อว่าสนใจ ผมก็อยากทดลองดูว่าจะช่วยได้จริงหรือเปล่า พอได้เข้าร่วมเขาก็มาแนะนำให้รู้จักดินก่อน เจ้าหน้าที่ก็มาสอนให้เก็บดินเอาไปส่งตรวจ พอวิเคราะห์ดินออกมาแล้วเขาก็สอนให้ผสมปุ๋ยเองตามค่าวิเคราะห์ดิน เมื่อก่อนผมก็ใส่สูตรทั่วไป 15-15-15 แล้วก็ 0-52-34  พอมาลองใส่ปุ๋ยที่เราเรียนรู้ในการผสมมาทดลอง 1 ไร่ อีก 1 ไร่ก็ใส่แบบเดิม ไร่หนึ่งใส่ปุ๋ย 2 กระสอบเหมือนกัน เอามาเปรียบเทียบกัน ปรากฏว่าแปลงที่ใช้ปุ๋ยสูตรเดิมได้ 4-5 ตันต่อไร่ แปลงที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินได้ 8 ตันต่อไร่ ก็เลยดีใจว่าได้ผล ตอนนี้ก็ยังใช้อยู่ สำคัญที่ช่วยลดต้นทุนเพราะปุ๋ยที่ซื้อตามตลาดราคาแพง และใส่มากไปดินก็แข็งด้วย”

นายสอน สำราญ เข้าร่วมโครงการอุบลโมเดลตั้งแต่ปี 2558ได้นำเอาคำแนะนำและองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับจากโครงการฯ ไปประยุกต์ใช้อย่างมุ่งมั่นต่อเนื่อง พัฒนาการปลูกและการดูแลแปลงจนประสบผลสำเร็จ ได้รับรางวัลชนะเลิศเกษตรกรต้นแบบ ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ประจำปี 2559 ในงานประชารัฐ พัฒนาชาวไร่มันฯ ขยันแบบอุบลโมเดล เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ปีที่ผ่านมา

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเริ่มมีการขยายองค์ความรู้ในหลายพื้นที่ที่เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม บทบาทในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ที่สำคัญของกรมวิชาการเกษตรจึงมีการขยายผลมาตลอด

“เราอยากให้เกษตรกรตั้งคำถาม ว่าดินบ้านเราต้องการกินอะไร เป็นความคิดแรกก่อนทำอย่างอื่นเพราะดินเป็นแหล่งอาหารของพืช อย่างมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชหัว องค์ประกอบในการสร้างอาหารเริ่มต้นที่ดินดี มีธาตุอาหารเพียงพอ ดังนั้น เราจึงแนะนำให้เกษตรกรต้องเก็บดินมาตรวจ เพื่อตรวจหาธาตุอาหารพื้นฐานในดิน N P K ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเรามีหน่วยงานในการตรวจสอบบริการให้ เมื่อทราบผลเราจะเห็นว่าในดินของเกษตรกรมีธาตุอาหารแต่ละตัวเท่าไหร่ เกษตรกรก็สามารถนำผลไปซื้อปุ๋ยที่พอดีหรือที่ดินขาด ไม่จำเป็นต้องซื้อหมดให้กลายเป็นหว่านปุ๋ยหว่านเงิน หน้าฝนมาปุ๋ยไหลไปตามพื้นที่ รายได้ก็ไหลออกตามไปด้วย ซึ่งหัวใจของการที่เกษตรกรเรียนรู้วิธีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินคือสามารถลดต้นทุนให้เกษตรกรได้จริงๆ โดยเฉลี่ยต่อไร่ได้มากกว่า 1,000 บาท ขึ้นอยู่กับต้นทุนอื่น ๆ ด้วย”

นายสุกิจ รัตนศรีวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4กรมวิชาการเกษตรกล่าว

อุบลโมเดล โครงการประชารัฐเพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงความรู้ให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งความรู้ที่ถูกต้อง

โครงการพัฒนาการส่งเสริมการเกษตรการปลูกมันสำปะหลัง หรือ อุบลโมเดล เริ่มต้นในปี 2557 โดยการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในรูปแบบประชารัฐระหว่าง กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4  ศูนย์วิจัยพืชไร่  สำนักงานการเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 และสถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี เป็นแนวทางโครงการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกมันสำปะหลัง ภายใต้แนวคิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง เพื่อสร้างแหล่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง มีกระบวนการในการจัดพื้นที่การเกษตรของตนเองอย่างยั่งยืน