How To สร้างธุรกิจ ฉบับ วัยรุ่นสร้างตัว เริ่มต้นไม่ยาก

How To สร้างธุรกิจ ฉบับ วัยรุ่นสร้างตัว เริ่มต้นไม่ยาก

จากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลง นิสิต นักศึกษาที่ต้องการสร้างธุรกิจด้วยตัวเองในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ ควรปรับตัวและมีมุมมองแปลกใหม่ ในเบื้องต้นอาจต่อ ยอดจากธุรกิจครอบครัวที่เคยมีอยู่แล้ว หรือแตกไลน์สินค้าบริการ หาช่องว่างที่ยังไม่เคยทำ

ดร.สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด กล่าวว่า ทักษะที่วัยรุ่นยุคใหม่ควรมีเพื่อก้าวเข้าสู่การสร้างกิจการของตนเอง ควรเป็นทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการต่อยอดจากของที่มีอยู่เดิม

เช่น สร้างธุรกิจเดิมของครอบครัวหรือจากพ่อแม่ แต่เปลี่ยนการตลาดให้ออกมาในแนวทางของตัวเอง สร้างเป็นแบรนด์ย่อยหรือสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา โดยใช้ทัศนวิสัยของวัยรุ่นยุคใหม่ รวมทั้งปรับสินค้าให้มีความโดดเด่นแตกต่างจากสมัยอดีต ให้มีความน่าสนใจมีเอกลักษณ์โดดเด่น

ที่สำคัญ ควรเน้นนวัตกรรมรูปแบบออนไลน์ในการขายสินค้า ใช้เครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ที่สามารถเช็กเทรนด์โลกออนไลน์ ดูความต้องการของลูกค้าต่างๆ เพื่อศึกษาถึงความต้องการและกระแสยุคปัจจุบันว่ามีทิศทางไปในทิศทางไหน และฝึกหัดใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น TikTok ที่กำลังเปิดให้ผู้ประกอบการรายย่อยให้มาขายสินค้าออนไลน์ได้อย่างเสรี  

นอกจากนี้ การหาแหล่งเงินทุนมาลงทุนในยุคนี้ สามารถหาจากหน่วยงานจากภาครัฐ ซึ่งเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเริ่มดำเนินธุรกิจ เช่น โครงการ TED ที่เปิดโอกาสให้แหล่งเงินทุนกับนักศึกษาในสถานศึกษาในการสร้างธุรกิจและต่อยอดความคิดในการบริหารธุรกิจ ฯลฯ”

สำหรับธุรกิจหรือบริการที่น่าจับตา เหมาะสำหรับวัยรุ่นยุคใหม่ปลายปีนี้และปี พ.ศ. 2566 ได้แก่ ธุรกิจในกลุ่มสินค้า Holistic Wellbeing เป็นสินค้าที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน เช่น การดูแลสุขภาพ เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการนอนหลับ ยกตัวอย่าง Mouth Spray ช่วยในเรื่องการนอนหลับ

โดยสามารถสร้างเรื่องราวหรือสร้างคอนเทนต์ที่ดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้ จากปกติเป็นสินค้าที่อยู่ตลาดทั่วไป ต้องสามารถทำให้เกิดมาเป็นออนไลน์ได้ เช่น การใช้ลิปสติกที่มีเรื่องราวการเล่าเรื่องบรรจุภัณฑ์และที่มาของผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่ยาดม ที่ออกแบบแพ็กเกจให้มีความแตกต่างทันสมัยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  

นอกจากนี้ที่สำคัญ หากต้องการขยายสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศ ควรมีการศึกษากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการส่งออกไปยังต่างประเทศ เพราะความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศมีความต้องการที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่จะขายไปยังต่างประเทศอาจเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหาร เครื่องปรุงที่คนไทยนิยม เช่น กะปิ เครื่องแกง เครื่องปรุงรสอาหาร ฯลฯ ปัจจุบันสามารถวางขายได้ในตลาดต่างประเทศโดยอาศัยช่องทางที่เป็นออนไลน์ เช่น AMAZON หรือ แพลตฟอร์มออนไลน์การขายอื่น” ดร.สุทธิภัทร กล่าวทิ้งท้าย

ตั้งตัววัยเรียน! นักศึกษา หารายได้เสริม วีกละ 8,000 ด้วยบราวนี่ออนไลน์