เผยแพร่ |
---|
ไขคำตอบ ชามตราไก่ จากลำปาง ดังขนาด กูเกิล ยังขึ้นรูปเฉลิมฉลอง
เราคนไทยคุ้นหน้าคุ้นตากันดี เพราะเห็น “ชามตราไก่” อยู่ในครัวตั้งแต่เด็กๆ และรู้หรือไม่ว่า ชามตราไก่ ไม่ได้ดังแค่ในบ้านเราเท่านั้น แต่ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของชามตราไก่ยังดังไปทั่วโลก โดยวันที่ 12 กันยายน นี้ เว็บไซต์ Google (กูเกิล) โดย Google Doodle (ทีมนักออกแบบของ Google) ได้ขึ้นภาพ ชามตราไก่ พร้อมระบุว่า “วันเฉลิมฉลองวันชามตราไก่จากลำปาง”
แล้วชามตราไก่ มีที่มาอย่างไร เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ พามาไขคำตอบ
จุดกำเนิด ชามตราไก่
ชามตราไก่ ถือกําเนิดในเมืองจีนเมื่อกว่าร้อยปี ถิ่นฐานเดิมที่ทำชามไก่ อยู่ที่ตำบลกอปี อำเภอไท้ปู (เมืองที่มีชื่อเสียงทางด้านการผลิตถ้วยชาม) มณฑลกวางตุ้ง ชามไก่ที่ชาวบ้านตำบลกอปีทำขึ้นมายังไม่มีลาย เป็นชามสีขาวธรรมดา ต้องนำไปเขียนลวดลายเผาสีบนเคลือบ ที่ตำบลปังโกย ติดต่อกับตำบลกอปี เกิดเป็นชามลายไก่ขึ้นมา ต่อจากนั้นจึงไปขายให้กับชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ตามประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย
สำหรับชื่อเรียก ชามตราไก่ หรือชามไก่ นั้นแตกต่างกันไปตามถิ่นฐาน เช่น คนเมืองเหนือเรียกว่า ชามก๋าไก่ หรือถ้วยก๋าไก่ คนแต้จิ๋วเรียก โกยอั้ว หรือแกกุงหว่อน
ลักษณะของชามตราไก่ ในยุคแรกเป็นชามทรงแปดเหลี่ยมเกือบกลมปากบาน ข้างชามด้านนอกมีรอยบุ๋มเข้าไปเล็กน้อย 8 รอย รับกับเหลี่ยมของชามและกระชับกับนิ้วมือในแต่ละรอยบุ๋ม ทำให้จับยึดชามได้มั่นคงขึ้น ไม่ลื่นหลุดจากมือได้ง่าย ชามต้องมีความหนาและก้นชามต้องสูง อันเป็น 3 เอกลักษณ์ประจำชามตราไก่
วาดลวดลาย รูปไก่สีส้ม ขนคอและลำตัวเป็นสีส้ม ส่วนหางและขาสีดำ ย่างขาหรือวิ่งอยู่บนหญ้าสีเขียว เป็นสัญลักษณ์ของการทำงานหนัก และมีดอกโบตั๋นสีชมพูม่วงออกม่วง ใบสีเขียวตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านซ้าย และมีต้นกล้วย 3 ใบสีเขียว ตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านขวาและต้นผักกาด แสดงถึงความหวังถึงความโชคดี
ผู้สร้าง ชามตราไก่ จ.ลำปาง
ผู้สร้างประวัติศาสตร์ชามตราไก่ แห่งเมืองลำปาง คือ อาปาอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน) ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เมืองไท้ปู จังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ได้อพยพเข้ามายังแผ่นดินสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2490 ทำงานในโรงงานถ้วยชามของ นายทวี ผลเจริญ ที่วงเวียนใหญ่ ธนบุรี
ทำงานได้ 2 ปี อาปาอี้ ตาม ซิวคิม (ลูกพี่ลูกน้อง) ขึ้นมาทำงานในโรงงานเครื่องปั้นดินเผาที่เชียงใหม่ด้วยกันหลายปี กระทั่งวันหนึ่งเห็นชาวบ้านนำหินลับมีดมาขาย หินลับมีดนั้นมีสีขาวคล้ายดินขาวที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา จึงซักถามกับคนขายหินลับมีดได้ความว่า เป็นหินที่ได้จากจังหวัดลำปาง
พวกเขาทั้งสองจึงลาออกจากโรงงานที่เชียงใหม่ เดินทางมายังจังหวัดลำปาง เข้าทำงานที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาของ นายประยูร ภมรศิริ เมื่อมีเวลาว่างทั้งสองจึงชวน นายเซี่ยะหยุย แซ่อื้อ ปั่นจักรยานพร้อมกับขวานกะเทาะหิน 1 เล่มออกตระเวนไปตามที่ต่างๆ ของอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง โดยมี นายทวี ผลเจริญ ให้การสนันสนุน
กระทั่งพบแหล่งดินขาว ที่บ้านปางค่า อำเภอแจ้ห่ม หลังพบแหล่งดินขาวได้จ้างเกวียนเทียมวัวบรรทุกดินขาวออกมา และได้นำไปลองเผาที่เชียงใหม่ กับกรุงเทพฯ ผลปรากฏว่า ออกมาดี
ทั้งสองจึงคิดตั้งโรงงานทำเครื่องปั้นดินเผาเอง แต่ยังขาดทุนทรัพย์ จึงได้ลาออกจากโรงงานของนายประยูร ภมรศิริ แล้วเดินทางขึ้นเชียงใหม่อีกครั้ง ซิวคิมไปช่วยเพื่อนตัดเสื้อผ้าที่ตลาดบ้านกาด อำเภอสันป่าตอง ส่วนอาปาอี้ไปทำสวนผักอยู่ที่บ้านกาดเช่นกัน
ทำงานอยู่หลายปี จนตัดสินใจร่วมกันตั้งโรงงานทำถ้วยชามแห่งแรกของลำปาง ที่บ้านป่าขาม ชื่อ “โรงงานร่วมสามัคคี” เมื่อปี พ.ศ. 2500
รู้หรือไม่
1. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2556 รัฐบาลไทยขึ้นทะเบียนชามตราไก่เป็นสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ของจังหวัดลำปาง นั่นหมายความว่า เป็นสินค้าที่ได้รับการยืนยันคุณภาพโดยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศถึงชื่อเสียงของชามตราไก่ที่ผลิตในภูมิภาค
2. ทุกวันนี้ในจังหวัดลำปางมีเพียงไม่กี่โรงงานที่ยังคงสานต่อกิจการผลิตภัณฑ์ตราไก่ ด้วยดีไซน์ดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งต้องใช้การเพ้นต์ด้วยมือ ชามตราไก่จึงกลายมาเป็นของสะสมหายาก
แหล่งอ้างอิง
https://www.matichon.co.th/social/news_3557547