อาหารไทย จะเป็น Soft Power เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แค่ไหน

อาหารไทย จะเป็น Soft Power เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แค่ไหน

ช่วงที่ผ่านมา กระแสอาหารไทย “ฟีเวอร์” ได้เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก จากการที่มิลลิ นักร้องแร็ปเปอร์สาวชาวไทย ได้นำข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นไปกินบนเวทีระดับโลก รวมถึงนักร้องสาวไทยในวงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีชื่อดังอย่าง ลิซ่า Blackpink ที่รีวิวโรตีสายไหม

ส่งผลให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยด้วย Soft Power หรืออิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อความนิยม มุมมอง และพฤติกรรมของผู้คน เพื่อผลักดันภูมิปัญญาและความเป็นไทย โดยเฉพาะในด้านอาหาร ตามรอยบางประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ Soft Power มาแล้ว

ดังเห็นได้จาก เกาหลีใต้กับ Soft Power ที่ถ่ายทอดผ่านสื่อบันเทิง กระทั่งปัจจุบันสินค้าและอาหารสไตล์เกาหลีมีความแพร่หลายเป็นอย่างมากในทั่วทุกมุมโลก เนื่องจากประเทศเกาหลีใต้ใช้กลยุทธ์ผลักดันให้ Soft Power ด้านวัฒนธรรมของตนเป็นที่แพร่หลายผ่านสื่อต่างๆ ทั้งซีรีส์ เพลง ละคร ภาพยนตร์ เพื่อให้เข้าถึงผู้ชมได้ง่าย

ปรากฏการณ์ในครั้งนี้ทำให้ยอดการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทะเลในประเทศเกาหลีใต้ในช่วงสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมาพุ่งสูงถึง 10,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 340,000 ล้านบาท สูงกว่ายอดส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อนถึง 16.1%

และในส่วนของการท่องเที่ยวก่อนวิกฤตโควิด-19 สภาเศรษฐกิจโลกได้ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศเกาหลีใต้เมื่อปี 2562 ขึ้นสู่อันดับที่ 16 จากเดิมอันดับที่ 19

เชฟอาหารไทย

ขณะที่ ไต้หวันกับ Soft Power ด้วยชานมไข่มุก เพราะชานมไข่มุกถือว่าเป็น Soft Power ด้านอาหารของไต้หวันที่คนทั่วโลกชื่นชอบ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนความแพร่หลายของชานมไข่มุกเกิดขึ้นพร้อมๆ กับสื่อบันเทิงไต้หวัน ที่เสริมแรงด้วยกลยุทธ์ฟรีวีซ่าที่รัฐบาลไต้หวันตั้งใจดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศ เดินทางเข้ามาเยือนไต้หวันได้ง่ายขึ้น ผนวกกับการที่บริษัทและหน่วยงานต่างๆ ในไต้หวัน ยกให้เครื่องดื่มนี้เป็นเครื่องดื่มประจำชาติ หาซื้อได้ทั่วไปในราคาหลากหลายระดับ

ผลการศึกษาโดยบริษัท Momentum Works ร่วมกับบริษัท Glub สัญชาติสิงคโปร์ พบว่า เพียงแค่รายได้จากตลาดชานมไข่มุก ในภูมิภาคอาเซียน ก็มีมูลค่าถึง 3,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 129,000 ล้านบาท โดยประเทศไทย เป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียนที่บริโภคชานมไข่มุกถึงปีละกว่า 26,000 ล้านบาท

ส่วนโอกาสในการผลักดัน Soft Power ด้านอาหารของประเทศไทย ในมุมของประเทศไทย แนวโน้มในการพัฒนา Soft Power ด้านอาหารมีอยู่หลากหลายทิศทางด้วยกัน นับตั้งแต่อาหารไทยต้นตำรับ อาหารแปลก อาหารเพื่อสุขภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย

โดยล่าสุด TasteAtlas เว็บไซต์รวบรวมสูตรอาหารและรีวิวจากนักวิจารณ์อาหารทั่วโลก ได้จัดอันดับให้ข้าวซอยขึ้นมาเป็น 1 ใน 50 เมนูซุปที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และเมนูสุดฮิตอย่างต้มยำอยู่ที่อันดับ 11 ในขณะที่ต้มข่าไก่อยู่ที่อันดับ 29

ดร.ทิวา พาร์ค คณบดีหลักสูตรไทย วิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันสอนด้านธุรกิจและศิลปะการประกอบอาหารโดยตรง ได้แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยแต่ละภูมิภาคมีความหลากหลายในการสร้างสรรค์เมนูอาหารคาวหวาน ถึงแม้จะชื่อคล้ายๆ กันแต่มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน

เมี่ยงกลีบบัว

อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากันผ่านวัฒนธรรมการกิน ผ่านการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบ การเดินทางต่างๆ มาตั้งแต่อดีต ซึ่งสามารถนำมาสร้างเป็น Story เพื่อเพิ่มความน่าสนใจได้

นอกจากนี้ วัฒนธรรมการกิน ก็มีความสร้างสรรค์ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้นอย่างเทรนด์รักสุขภาพ ผู้ประกอบการจึงเพิ่มสินค้าและบริการที่เป็นการกินทางเลือกมากขึ้น เช่น ปรับอาหารไทยอย่างหมูกรอบให้เป็นอาหาร Plant-based เป็นต้น

ดังนั้น หากประเทศไทยเพิ่มอิทธิพลของ Soft Power ทางวัฒนธรรมการกินมากขึ้น ก็จะสามารถสร้างมุมมองใหม่ต่อชาวต่างประเทศได้นอกเหนือจากต้มยำกุ้งและผัดไทย ไม่เพียงเท่านั้น บางเมนูยังสามารถ Rebranding และสร้างมูลค่าเพิ่มได้

เช่น การสร้างมูลค่าอาหารจากเทรนด์ Wellness ที่กำลังเติบโตทั้งในต่างประเทศและในไทย สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าอาหารไทยจะสามารถเป็น Soft Power ที่ผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตได้ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ

กล่าวโดยสรุป Soft Power จึงนับเป็นต้นทุนทางปัญญาและวัฒนธรรมที่หาได้ง่ายและลงทุนน้อยที่สุดในการทำให้เมืองไทยกลายเป็นครัวของโลก อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือภาครัฐว่าจะเอาจริงเอาจังกับการใช้เครื่องมือนี้กระตุ้นเศรษฐกิจมากแค่ไหน หรือแค่ตื่นเต้นไปตามกระแสแค่ชั่วครั้งชั่วคราว