โลกออนไลน์ล่ารายชื่อ ให้คราฟต์เบียร์ไทยถูกกฎหมาย ล่าสุดคนลงชื่อครึ่งหมื่น!

จากกรณีเจ้าหน้าที่สรรพสามิต พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าตรวจสอบตึกแถวอาคารพาณิชย์เพื่อเข้าจับกุมนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร อายุ 28 ปี พร้อมเบียร์ที่ผลิตขึ้นเอง โดยนายเท่าพิภพ ระบุว่า เพิ่งจะเรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งและเป็นคนชอบดื่มเบียร์เป็นชีวิตจิตใจ จึงได้ลองผสมหมักเบียร์ทำดู โดยคิดค้นสูตรเองขึ้นทั้งหมด และได้หาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ พร้อมส่วนผสมทำเบียร์มาหมักดื่มชิมเองก่อน หลังปรุงแต่งอยู่นานจนได้รสชาติที่กลมกล่อมดีแล้ว จึงนำออกมาลองขายให้กับกลุ่มวัยรุ่นที่รู้จักกัน พร้อมให้เพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยเดียวกันทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องได้ชิม จนรสชาติเป็นที่ยอมรับ และวันนี้เพิ่งจะได้ทดลองนำออกมาขายในราคาขวดละ 150 บาทเป็นวันแรก แต่ก็มาถูกจับเสียก่อน

จากกรณีดังกล่าว โลกออนไลน์มีการถกเถียงเรื่องดังกล่าว โดยอยากให้คราฟต์เบียร์ไทยถูกกฎหมาย

โดย เพจดังอย่าง Drama-addict ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.5 ล้านคน โพสต์ข้อความเชิงสงสัย ระบุว่า

” เวรกรรม แต่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฏหมายไทย เขาอนุญาตให้ประชาชนคราฟทเบียร หมักเหล้าขายมั้ยหว่า ถ้าไม่ ทำไมไม่อนุญาตล่ะนั่น”
ขณะที่เพจ “พลิกฟื้นผืนดินไทย” ซึ่งเป็นเพจเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวด้านความเป็นธรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการเมืองภาคประชาชน โพสต์ข้อความระบุว่า

“น่าเสียดายครับ ทำเบียร์เอง ขายเอง ผิดกฎหมายครับ ประเทศไทยเป็นประเทศที่คนบริโภคเบียร์เยอะเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ในปี 2557 ตลาดเบียร์ในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 137,000 ล้านบาท แต่น่าแปลกใจมั้ยครับที่ปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาดตกอยู่ที่บริษัทไม่กี่บริษัทเท่านั้น

ไม่ต้องตกใจหรอกครับ เพราะกฎหมายบ้านเราไม่เอื้อให้คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างเราๆทำเบียร์กินเองหรือขายเองครับ โดยมีการกำหนดว่า ถ้าจะทำเบียร์แบบขายเองในร้าน จะต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และจะต้อง มีกำลังผลิต 100,000 ลิตร ต่อเดือน

ไม่ต้องพูดถึงการทำแบรนด์ขายเอง ใช้เงินเป็นร้อยล้านครับ ในขณะที่ต่างประเทศ ไม่ได้มีกฎหมายห้ามแบบนี้เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ญี่ปุ่น หรือแม่แต่อังกฤษที่บริษัทเบียร์ มักจะเคยเป็น โฮมบริว หรือเบียร์ที่ทำเองในครัวเรือนมาก่อนครับ ว่ากันไปครับ #กฎหมายไม่เป็นธรรมเราควรทำอย่างไร”
ขณะที่ นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สื่อสารมวลชนชื่อดัง และนักเขียนรางวัลศรีบูรพา โพสต์ข้อความชวนคิด ระบุว่า

“ทำไมเบียร์บ้านเราจึงมีแค่สองบริษัทใหญ่ เวลาไปเมืองนอก ไม่ว่าญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป เราจะเห็นเบียร์หลายร้อยยี่ห้อ ไปตามต่างจังหวัด ก็เห็นเบียร์พื้นบ้านหลากหลาย รสชาติอร่อยไปตามวัตถุดิบในแต่ละท้องถิ่น ”

“หลายประเทศที่เห็นมา การทำเบียร์โดยคนทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ต่างจากการเปิดร้านอาหาร แต่มาบ้านเรา กลับถูกผูกขาดโดยสองบริษัทใหญ่มาช้านาน ที่ผูกขาดตลาดเบียร์มูลค่าเกือบ 200,000 ล้านบาท”

เหตุผลก็คือ 1. ธุรกิจน้ำเมา เป็นธุรกิจที่กำไรมหาศาล หากยิ่งผูกขาดมาก ก็กำไรมาก 2.ผลประโยชน์มหาศาล เลยทำให้มีการล็อบบี้ จนทำให้ กฎหมายการขออนุญาตผลิตเบียร์หรือน้ำเมา เป็นไปด้วยความยุ่งยากและเงินลงทุนมาก 3.เมื่อสิบกว่าปีก่อน เคยมีความพยายามของภาคประชาชนในการแก้ไขกม.ให้สามารถผลิตสุราพื้นบ้าน แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ 4.รัฐไทยมักอ้างว่า หากให้รายย่อยต้มเบียร์หรือเหล้ากินเองได้ เกรงว่าจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ และกลัวว่าคนไทยจะเป็นขี้เมากันทั่วประเทศ 555

และว่า ” 5.ทุกวันนี้บรรดาเหล้าไทยยี่ห้อแปลก ๆ ที่เห็นกันมากขึ้น ล้วนแต่ผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนจะนำเข้ามาขายในประเทศ 6.สองบริษัทน้ำเมาจึงเป็นตระกูลรวยที่สุดในประเทศมาตลอดกาล การผลิตเบียร์หรือผลิตเหล้ารายย่อยในประเทศจึงเป็นอาชญกรรมมาตลอด
ขณะที่โลกออนไลน์ เพจเฟสบุ๊กชื่อ “ขบวนการเสรีเบียร์” มีผู้กดไลค์กว่า 8 พันคน มักโพสต์ข้อความเรียกร้องการให้ประชาชนสามารถทำเบียร์ขึ้นกินเอง โพสต์ข้อความ ระบุว่า

“จงยกแก้วขึ้นเหล่าสหายแห่งอุดมการณ์ เพื่อเสรีภาพ สุนทรียะ และความฝัน”

“คณะเสรีเบียร์ขอติดเหรียญสดุดีวีรกรรมสหายผู้กล้าอีกหนึ่งนาย ไม่ใช่รายแรกที่โดนแต่เป็นรายแรกที่เป็นข่าวใหญ่โต และอาจจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอีกจากที่ได้ยินมา555555 สู้กันจนกว่าจะมีทางออกให้พวกเขากันนะครับ”
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ มีการรณรงค์เพื่อล่ารายชื่อประชาชน เรียกร้อง อยากให้คราฟต์เบียร์ไทยถูกกฎหมาย www.change.org ระบุว่า

“เมื่อกฎหมายแก้ไข ธุรกิจ SME จะมีบทบาทมากขึ้นเกี่ยวกับการผลิตเบียร์รายย่อย จะมีการแข่งขันของอุตสาหกรรมเบียร์มากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ผลิตรายย่อยเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันนี้ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายได้ระบุไว้ว่าจะทำเบียร์ให้ถูกกฎหมาย ต้องผลิตไม่ต่ำกว่า 1,000,000 แกลลอน ต่อปี กฎหมายนี้ไม่ได้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ค้ารายย่อย ปัจจุบันตลาดเบียร์ไทยที่ถูกกฎหมายนั้นมีรสชาติที่ซ้ำซากจำเจ และไม่มีการพัฒนาตัวสินค้าแต่อย่างใด (พัฒนาเพียงบรรจุภัณฑ์)

เราจึงอยากให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเบียร์ ใครๆ ก็ทำได้ คนไทยทำ คนไทยดื่ม คนไทยภูมิใจ”
ล่าสุดมีประชาชนร่วมลงรายชื่อกว่า 5,000 รายชื่อเเล้ว

สถานการณ์การต่อสู้เรื่องเบียร์ จะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าจับตาอย่างยิ่ง นับจากนี้!