เผยแพร่ |
---|
เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง หัตถกรรมแห่งภูมิปัญญา สร้างอาชีพให้ชาวบ้าน
‘เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง’ งานหัตถกรรมแสดงถึงภูมิปัญญา และวิถีชีวิตของชุมชนเวียงกาหลงที่สืบทอดมายาวนาน ผลิตภัณฑ์มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งตัวเครื่องปั้นที่ยังคงวิถีแบบโบราณ มีการใช้ ‘ดินดำ’ ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษทำให้ขึ้นรูปได้บางและมีน้ำหนักเบา อีกทั้งลวดลายยังอ่อนช้อยงดงามคงความเป็นอัตลักษณ์ หากแต่ว่าเครื่องปั้นอันทรงคุณค่าแห่งเวียงกาหลงเหล่านี้กลับกำลังเลือนหาย
“แต่ก่อนทำกัน 30 ครอบครัว ตอนนี้เหลือครอบครัวเดียว ชาวบ้านทยอยล้มเลิกกันไป เนื่องจากต้นทุนสูง และไม่มีใครอยากฝึกปั้นหรือเขียนลาย เพราะว่าใช้ทักษะสูง จึงไม่มีลูกหลานสืบต่อ” พระครูโฆษิตสมณคุณ เจ้าอาวาสวัดแม่ห่าง ตำบลเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย กล่าวด้วยความเสียดาย
อย่างไรก็ดี วัดแม่ห่าง ได้พยายามสานต่อภูมิปัญญา จัดสอนหลักสูตรการปั้นและเขียนลายเวียงกาหลงให้แก่สามเณรมาตั้งแต่ประมาณปี 2552 และยังได้ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทำโครงการสัมมาอาชีพให้แก่สามเณรในเรื่องของทักษะอาชีพ ทั้งนี้ ยังได้รับรางวัลกิจกรรมดีเด่น นวัตกรรม ผลการปฏิบัติงานที่ดี (Best Practice) จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี 2561-2563
“พระองค์ทรงรับสั่งว่า แล้วเราจะเอาลวดลายเวียงกาหลงลงไปสู่ชุมชนได้อย่างไร เราก็พยายามคิดหาทาง เพื่อที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน เพราะเครื่องปั้นเวียงกาหลง เป็นงานหัตถกรรมที่มีราคาสูง แต่ก็ต้องหาทางลดต้นทุนการผลิต ให้ทุกคนนำไปใช้ในครัวเรือนได้ ซึ่งช่วงแรกคุยกับพ่อหลวงผู้ใหญ่บ้าน จังหวะพอดีมีงบของกระทรวงมหาดไทยให้เงินสนับสนุนหมู่บ้านละ 200,000 บาท”
“ก็เลยคุยกับชาวบ้านว่าอยากส่งเสริมอาชีพเครื่องปั้นเวียงกาหลง แต่ต้องมีเตาเผา ชาวบ้านก็เห็นด้วยและยินยอมให้ใช้งบตรงนี้มาซื้อ จากนั้นตั้งวิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นเครื่องเคลือบเวียงกาหลง และวิสาหกิจชุมชนเขียนลายเวียงกาหลงขึ้น” เจ้าอาวาสวัดแม่ห่าง เล่ามาอย่างนั้น
เมื่อองค์ความรู้และอุปกรณ์พร้อม ขาดเพียงการสนับสนุนที่จะให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเรียนรู้ วิสาหกิจชุมชนงานเครื่องปั้นเครื่องเคลือบเวียงกาหลง จึงทำโครงการฟื้นฟูทักษะการปั้นและเขียนลายเวียงกาหลงสู่อาชีพที่ยั่งยืน โดยกลุ่มเป้าหมาย 60 คน ประกอบด้วย แรงงานนอกระบบ (เกษตรกรรม) จำนวน 22 คน ผู้สูงอายุ 20 คน ผู้ว่างงาน จำนวน 13 คน และแรงงานนอกระบบ (ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว) จำนวน 5 คน
แม้เวียงกาหลง จะเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยโบราณขึ้นชื่อของดินแดนล้านนามาแต่อดีต แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้ภูมิหลังและรากเหง้ามากนัก โครงการฯ จึงเริ่มต้นกิจกรรมจากการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณและเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง’ ด้วยการพาไปดูโบราณสถาน แหล่งผลิต แหล่งเตาเผา
จากนั้นได้จัดเวทีถอดบทเรียน โดยคณะทำงาน มีทั้งคุณครูที่เกษียณราชการ และเชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนเวียงกาหลง มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของเวียงกาหลงมาให้ความรู้กับชุมชน โดยหลังจากพูดคุยเขาก็เริ่มตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของเวียงกาหลง และอยากรักษาไว้
เมื่อกลุ่มเป้าหมายเริ่มมีใจในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นตน โครงการฯ เดินหน้าสร้างการเรียนรู้ทั้ง ‘หลักสูตรการปั้น การเขียนลายเวียงกาหลง และการชุบเคลือบและการเผาเคลือบ’ มีการสอนภาคทฤษฎีรวมกันเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มปั้นและกลุ่มเขียนลาย
โดยให้กลุ่มเป้าหมายเลือกเรียนตามความสนใจ ซึ่งวิทยากรมีพระครูโฆษิตสมณคุณ และปราชญ์ชาวบ้าน 2 ท่าน คือ คุณติณธร นามสกุลอะไร ช่วยสอนการปั้น และคุณธวัชชัย ชัยวงศ์ สอนเขียนลาย ขณะที่สามเณรซึ่งเคยผ่านการอบรมแล้วเป็นผู้ช่วยวิทยากร
ทั้ง 2 หลักสูตรจะสอนแบบลงลึกต่อเนื่อง 12 วัน เริ่มจากกลุ่มปั้นจะสอนว่าการปั้นมีกี่แบบ ฝึกการผสมดิน ที่ต้องนำดินดำมาทุบก่อน แช่น้ำ 1 คืน แล้วต้องผสมกับดินขาวอัตราส่วนเท่าไหร่เพื่อให้เกิดดินที่สมบูรณ์ จากนั้นก็กรอง นำมานวด แล้วก็ฝึกปั้นด้วยมือ เริ่มจากการปั้นแก้ว แจกัน ซึ่งบางคนบอกยากมากต้องตั้งศูนย์ บางคนวันแรกทำได้เลย วันที่สองปั้นไม่ได้ต้องเริ่มใหม่ เป็นงานที่ต้องฝึกต่อเนื่อง
เมื่อทุกคนผ่านการปั้นมือแล้วจะได้เรียนรู้เรื่อง การหลอมแม่พิมพ์ การปั้นจากเครื่องจิกเกอร์ ซึ่งทำได้หลากหลายแบบทั้งแจกัน แก้ว จาน เสร็จแล้วจะเป็นการฝึกเผา ส่วนกลุ่มการเขียนลายต้องเริ่มฝึกจากการใช้ดินสอเขียนเส้นตรงและเส้นโค้งจนชำนาญก่อน ถึงจะเริ่มฝึกการใช้พู่กันจีน เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลายคนหลังจากเรียนจบแทบไม่เคยจับปากกามาหลายสิบปี
“การฝึกใช้พู่กันต้องจิ้มกดปัด” พระครูโฆษิตสมณคุณ เผยถึงเทคนิคและอธิบายว่า “จิ้มลงกระดาน กดลงไป แล้วก็ปัดปลายไปก่อน ตวัดพู่กันไปจนชินถึงจะเริ่มสอนลายพื้นฐาน ได้แก่ ลายนก ลายปลา ลายเล็บช้าง แล้วก็ลายดอกเครือ เพราะว่าจะเป็นองค์ประกอบหลัก คือ ลายเล็บช้างจะทำฐาน ลายสัตว์ใช้ทำตัว แล้วก็ลายเส้นตรงจะทำขอบ
สำหรับลายของเวียงกาหลง ที่เรารู้จักชื่อมีทั้งหมด 174 ลาย ส่วนใหญ่เป็นลวดลายเชิงเดี่ยว เช่น รูปของแสงพระอาทิตย์ก็จะมีจานลายพระอาทิตย์อย่างเดียว ไม่มีลายอื่นเข้ามาผสม” เจ้าอาวาสวัดแม่ห่าง บอก
แม้ทั้ง 2 กลุ่มจะเรียนแยกกัน แต่เมื่อถึงเวลาทำงานจริงจะมีการนำทักษะความเชี่ยวชาญทั้ง 2 ด้าน มาเชื่อมประสานกัน โดยคนปั้นที่เขียนลายไม่ได้ต้องจับคู่กับเพื่อนที่วาดได้ ขณะที่คนเขียนลาย ก็ต้องหาคนปั้นเพื่อขอชิ้นงานมาทดลองวาดจริง หรือแม้แต่ในกลุ่มงานปั้นด้วยกัน หากไม่สามารถปั้นได้ อาจจะจับคู่กับเพื่อนเพื่อทำหน้าที่ประกอบชิ้นงานแทน
สุดท้ายเมื่อได้ชิ้นงานปั้นที่เขียนลายเรียบร้อยแล้ว กลุ่มเป้าหมายทุกคนจะมารวมตัวกันเรียนรู้ ‘การชุบเคลือบและการเผาเคลือบ’ เพื่อให้ได้เครื่องปั้นเครื่องเคลือบเวียงกาหลงที่เสร็จสมบูรณ์
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นเครื่องเคลือบเวียงกาหลง มีหลากหลายทั้งของใช้ทั่วไป เช่น แก้วกาแฟ แก้วมัค แก้วญี่ปุ่น ถ้วยชา ชุดชา จาน หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีทางศาสนา อาทิ แจกัน ที่กรวดน้ำ ที่ครอบน้ำมนตร์ คนโท ซึ่งช่องทางการจำหน่ายมีทั้งที่วัดแม่ห่าง วิสาหกิจชุมชน รวมถึงช่องทางใหม่ ที่กำลังพัฒา คือ ตลาดออนไลน์ โดยมีวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาอาสาเข้ามาช่วย
สำหรับตลาดออนไลน์ตอนนี้มีการโพสต์ขายสินค้าในเพจ ‘เครื่องปั้นลือนาม งดงามเวียงกาหลง’ ซึ่งจัดทำและดูแลโดยพระครูโฆษิตสมณคุณ นอกจากนี้ ที่วัดแม่ห่างยังทำสตูดิโอเล็กๆ เพื่อเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ชาวบ้านได้มาไลฟ์สดขายผลิตภัณฑ์เครื่องปั้น รวมถึงสินค้าอื่นๆ ด้วย
“ถ้ามีออร์เดอร์เข้ามา ก็กระจายงานผ่านไลน์กลุ่ม เช่น ตอนนี้มีออร์เดอร์แก้ว 50 ใบ ยอมรับว่าชาวบ้านยังทำได้ไม่เชี่ยวชาญเท่าไหร่ โดยมากยังเป็นเณร และปราชญ์ชาวบ้านที่ปั้นชิ้นส่วนไว้ และให้กลุ่มเป้าหมายมาช่วยประกอบและตกแต่ง คนที่มาช่วยจะมีรายได้เสริมเดือนละ 300-500 บาท ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ ก็ช่วยกันเป็นตัวแทนจำหน่าย รับผลิตภัณฑ์ไปขายต่อ ซึ่งจะมีกลุ่มคนวัยทำงานที่สนใจซื้อไปเป็นของฝาก ของชำร่วยงานแต่งงาน หรือของที่ระลึกงานเกษียณ” เจ้าอาวาสวัดแม่ห่าง บอก
และด้วยงานปั้นและเขียนลายเวียงกาหลงเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะสูง พระครูโฆษิตสมณคุณ กล่าวยอมรับว่า ในช่วงแรกก็มีความกังวลใจและไม่มั่นใจว่ากลุ่มเป้าหมายจะทำได้หรือไม่ แต่พอมาถึงวันนี้ ได้เห็นถึงพัฒนาการ ผลงานแต่ละชิ้นมีความละเอียดมากขึ้น กระทั่งวันที่พวกเขาได้มีโอกาสไปร่วมออกบู๊ธในงาน 113 ปี ของดีเวียงป่าเป้า ก็สามารถทำออกมาได้สำเร็จอย่างน่าภูมิใจ
“เราพากลุ่มเป้าหมายขนของไปนั่งปั้น นั่งเขียนลายโชว์ในงานเลย แล้วเขากลับมาบอกว่า เขารู้สึกขนลุก รู้สึกว่ามีตัวตนในสังคม เมื่อก่อนไปเที่ยวงานไปในฐานะผู้ชม แต่ตอนนี้มีอีกบทบาทหนึ่ง มีคนมาดูเราทำงาน แล้วก็มาดูด้วยความชื่นชม จนเกิดความภูมิใจ เกิดความรัก และอยากจะพัฒนาผลงานของตัวเองให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก” พระครูโฆษิตสมณคุณ กล่าว
และว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาต่อจากนี้ อยากให้กลุ่มเป้าหมายเดิมได้เรียนรู้ฝึกฝนเพิ่มเติมมากขึ้นเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ ขณะเดียวกัน อยากขยายองค์ความรู้ไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ เพื่อขยายเครือข่าย รวมทั้งให้คนทั้งตำบลรับรู้เรื่องการปั้นและเขียนลายเวียงกาหลงมากขึ้น สามารถพัฒนาไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ นำลวดลายเวียงกาหลงไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่แค่เซรามิก ให้เรื่องราวของเวียงกาหลง สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ของคนในชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
สนใจ โครงการฟื้นฟูทักษะการปั้นและเขียนลายเวียงกาหลงสู่อาชีพที่ยั่งยืน สอบถามเพิ่มเติมที่ พระครูโฆษิตสมณคุณ โทรศัพท์ 089-997-2792