ไขข้อข้องใจ! ทำไม “เลย์” ต้องมีลมค่อนถุง

จากการนำคณะสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตมันฝรั่ง “เลย์” ภายใต้การดูแลของบริษัท เป๊บซี่-โคลา (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ที่จังหวัดลำพูน เมื่อเร็วๆนี้

คุณช่อทิพย์ แดงใจ ผู้จัดการโรงงานฯ ตอบคำถามกรณีมีผู้บริโภคหลายคนข้องใจ ทำไมขนมขบเคี้ยว มักมีถุงโตแต่พอเปิดออกกลับมีแต่ลม ส่วนขนมในถุงมักมีนิดเดียว ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของห่อ ว่า หากสังเกตให้รอบด้าน  ผู้บริโภคจะพบว่า ไม่ใช่มีแต่ “เลย์” เท่านั้นที่มีลมเยอะ ไม่ว่าขนมขบเคี้ยว ยี่ห้อไหนก็ต้องมีลมแบบนี้

ซึ่งในส่วนของ “เลย์” นั้น เกิดจากหลักการที่ว่า เครื่องบรรจุซองอัตโนมัติ จะทำงานด้วยสปีดที่เร็วมาก ร้อยกว่าซองต่อนาที เครื่องรุ่นใหม่ อาจขึ้นไปถึง 120 ซองต่อนาที และจังหวะเวลาขนมลงถุง สแน๊กทุกตัวทำงานเหมือนกันหมด คือ เป็นการโปรยลงมา แต่ด้วยสปีดที่เร็วมาก หากไม่มี “เฮด สเปซ”หรือ ที่ว่างด้านบน ให้เลย เวลาเครื่องทำการซีลปากถุงและตัดไปห่อปั๊บ จะตัดโดนขนมเลย นั่นคือเหตุผลทำไมต้องมีลมด้านบน อีกทั้งเวลาขนส่ง ถ้าไม่มีลม คนจะจับโดนหมด และมันจะแตก ทำให้คุณภาพลดต่ำลงไปได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “เลย์” ใส่ลงไปในถุงนั้น ไม่ใช่อากาศปกติ แต่เป็นการใส่ “ก๊าซไนโตนเจน” หรือ “ก๊าซเฉื่อย”เข้าไปไล่ก๊าซออกซิเจน  เนื่องจาก ก๊าซเฉื่อย มีคุณสมบัติเป็นสารกันหืน ถ้าในถุงมีออกซิเจนแล้ว จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาอ็อกซิไดต์ ซึ่งทำให้ขนมหืนเร็ว