นักวิชาการ รับบท “พี่เลี้ยง” ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน ช่วยชาวบ้านยิ้มได้ถ้วนหน้า

นักวิชาการ รับบท “พี่เลี้ยง” ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน ช่วยชาวบ้านยิ้มได้ถ้วนหน้า

 

วิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า “บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า” ต้องเสียสละเพื่อประชาชนและประเทศชาติเพียงใด โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทุ่มเทอย่างสุดกำลังเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์จาก 3 คณะแพทย์ และส่วนงานที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยมหิดลบรรลุภารกิจดังกล่าว

“มหาวิทยาลัยด่านหน้า” ในชุมชนก็มีภารกิจสำคัญเพื่อประชาชนและประเทศชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ได้เดินหน้าโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T” ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) ทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” พลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง

นพ.สุรพร ลอยหา รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมา ในฐานะ “หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้ากระทรวง อว.” ของจังหวัดอำนาจเจริญ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทในการบริการวิชาการดูแลประชากรในจังหวัดอำนาจเจริญ ถึงร้อยละ 90 ของจำนวนตำบลทั้งหมดในจังหวัดอำนาจเจริญ ให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19

โดยในปี 2565 ได้รับงบประมาณสนับสนุนให้ดูแลตำบลในจังหวัด 43 ตำบลจาก 56 ตำบล ตั้งเป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากโดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นถิ่นให้ได้อย่างน้อย 2 ชิ้นต่อตำบลรวมให้ได้ 86 ผลิตภัณฑ์จากชุมชน ภายใน 3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน 2565)

นพ.สุรพร ลอยหา

เมื่อเร็วๆ นี้ ผลิตภัณฑ์จากชุมชนคุณภาพ ซึ่งให้การส่งเสริมโดย โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากงาน U2T for BCG Hackathon 2022 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

จากการเพิ่มมูลค่า “ต้นกก” ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรณไม้มงคลของชาวอีสาน ให้ “ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเสื่อกก” ของตำบลปลาค้าว อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ สามารถต่อยอดพัฒนาให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ด้วยรูปลักษณ์และการใช้งานที่หลากหลาย

ซึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชุมชน นอกจากการทำให้ดูน่าดึงดูดใจ ยังสำคัญที่คุณภาพ ถือเป็นภารกิจสำคัญของ “มหาวิทยาลัยด่านหน้า” ที่จะต้องใช้หลักวิชาการเข้ามาช่วย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเสื่อกก นอกจากดูดีน่าใช้ ยังมีคุณภาพที่แตกต่าง จากการใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำให้เป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่ปลอดเชื้อราซึ่งคงทนมากขึ้น

นอกจากผลิตภัณฑ์ชุมชนจากพรรณไม้มงคลของชาวอีสานแล้ว โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้มองไปถึงการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลคึมใหญ่และเครือข่ายอำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ จาก “รังไหม” ซึ่งถือเป็นหัวใจของเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดอำนาจเจริญ

โดยจะขยายประโยชน์การใช้สอยสู่ “สารสกัดโปรตีนจากรังไหม” จากการนำมาวิเคราะห์ถึงคุณค่าของโปรตีน และแนวทางการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ที่เชื่อมั่นได้ว่าจะเป็นอีกสิ่งที่ดีที่สุด ที่โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมมอบให้ประชาชนและประเทศชาติ

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอีกส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีที่ตั้งในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ที่เข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T” กระทรวง อว. อย่างเข้มแข็งถึง 2 ปีซ้อน

นอกจากการเป็นที่พึ่งทางด้านสุขภาวะ จากการจัดการเรียนการสอนด้านสาธารณสุขศาสตร์แล้ว โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีความโดดเด่นในวิชาการด้านเกษตรศาสตร์ ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์เพื่อชุมชน และส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ตามนโยบาย SDGs เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ

พญ.มนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์

พญ.มนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T” กระทรวง อว. ที่ทางวิทยาเขตนครสวรรค์ ร่วมดำเนินการว่า ได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์จากชุมชนคุณภาพขึ้นมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นที่ตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากฝรั่ง ตามที่ปรากฏอยู่ในคำขวัญของตำบล โดยโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ส่งนักวิชาการเกษตรและทีมลงพื้นที่ชุมชนตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์

ทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ให้ชาวชุมชน ได้มีผลิตภัณฑ์จากชุมชน “ปุ๋ยน้ำฝรั่ง” จากการหมักฝรั่งเหลือทิ้งด้วยหลักวิชาการ แล้วนำกลับไปใช้บำรุงต้นฝรั่งให้ออกดอกออกผลงดงาม ได้เพิ่มทั้งปริมาณและคุณค่าทางเศรษฐกิจ ให้ชาวสวนฝรั่งตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ ยิ้มได้กันถ้วนหน้า

หรือจะเป็นที่ตำบลเนินขี้เหล็ก อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยการสนับสนุนทางวิชาการโดย โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ชาวตำบลเนินขี้เหล็ก อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ได้มีผลิตภัณฑ์จากชุมชน “น้ำผึ้งสมุนไพร” ที่นำความภาคภูมิใจมาสู่ท้องถิ่น

อบรม

โดยเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชน “น้ำผึ้งสมุนไพร” ที่ปลอดสารพิษ จากการเลี้ยงผึ้ง ในสภาวะแวดล้อมที่ได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี และเสริมคุณค่าด้วยการนำมาดองกับพืชสมุนไพรหลากประโยชน์ อาทิ พืชสมุนไพร “ม้าฮ่อ” ที่มีสรรพคุณช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ และ พืชสมุนไพร “รากสามสิบ” ที่มีสรรพคุณเป็น “ยาสตรี” ที่ช่วยบำรุงเลือด และผิวพรรณให้ดูเปล่งปลั่ง เป็นต้น

แม้โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T” กระทรวง อว. จะมีกำหนดระยะเวลาเพียง 3 เดือน แต่มหาวิทยาลัยมหิดลยัง คงไม่หยุดยั้งที่จะขยายผลอย่างต่อเนื่อง และเต็มศักยภาพ ด้วยกำลังใจและแรงศรัทธาจากพี่น้องชาวไทย เชื่อว่าจะสามารถร่วมฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ และบรรลุนโยบาย BCG สู่การเป็นประเทศนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืนในที่สุด