เผยแพร่ |
---|
มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงพื้นที่ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี ชมความสำเร็จการบริหารจัดการน้ำชุมชน
วันที่ 17 ส.ค. 2565 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนจากภาคเอกชน ร่วมเยี่ยมชมจุดดำเนินงาน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อดูตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำชุมชน โดยมีบรรยายพิเศษในหัวข้อ วิกฤตทรัพยากร และวิกฤตเศรษฐกิจในยุคโควิด พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า สู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจชุมชน และร่วมสรุปแนวทางรอดพ้นวิกฤตทรัพยากร และวิกฤตเศรษฐกิจ
ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 35,189 ไร่ ประกอบด้วย 14 หมู่บ้าน มีประชากร 10,230 คน และ 2,224 ครัวเรือน เป็นชุมชนที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ แต่ประสบปัญหาน้ำแล้งทุกปี ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเกษตร แต่พอถึงช่วงหน้าฝนจะประสบภาวะน้ำหลาก น้ำท่วมเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณถนนสุวรรณศร ทำให้ผลผลิตเสียหาย และยังมีปัญหาขาดแหล่งกักเก็บน้ำ รวมถึงไม่มีการวางแผนการบริหารจัดการที่ดี
ต่อมาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ได้คัดเลือกเป็นชุมชนแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเรียนรู้การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิเคราะห์สมดุลน้ำและหาแหล่งสำรองในพื้นที่ ขุดสระสำรองน้ำหรือแก้มลิงในพื้นที่ทำกินของตัวเอง โดยเริ่มจากสมาชิก 3 ราย ก่อนขยายครอบคลุมทั้งตำบล
หลังจากนั้น มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้ามาสนับสนุน แนะนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แผนที่ภูมิศาสตร์ ภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน
ปัจจุบัน ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก สามารถพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำและสำรองน้ำในพื้นที่ ด้วยสระน้ำประจำไร่นาหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เขื่อนใต้ดิน ทำให้มีน้ำใช้ในยามฝนทิ้งช่วง สามารถบริหารจัดการปิดเปิดประตูน้ำ และเชื่อมต่อคลองเพื่อกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ 28,850 ไร่ ช่วยลดภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม พร้อมปรับเปลี่ยนแนวคิดมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ โดยการร่วมเรียนรู้ ลงมือทำ และขับเคลื่อนงานร่วมกัน