สตาร์ตอัพรุ่นบุกเบิก ยอด ชินสุภัคกุล “วงใน” ไม่ใช่แค่ชวนชิม

ถ้าพูดถึง “สตาร์ตอัพ” (Startup) คงไม่มีใครไม่รู้จักธุรกิจแนวใหม่ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่หันมาให้ความสนใจและสนับสนุนธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง

ในระดับโลกมีตัวอย่างสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จเป็นแรงผลักดันให้กับสตาร์ตรุ่นใหม่มากมาย อาทิ Google, Facebook, Amazon, Uber ขณะที่ประเทศไทยแม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นแต่ก็มีธุรกิจสตาร์ตอัพไทยไม่น้อยที่กำลังเติบโตและเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว

รวมถึง วงในดอทคอม (www.wongnai.com) เว็บไซต์รวบรวมรีวิวร้านอาหารโดยผู้ใช้งานจริง เป็นที่นิยมของนักดื่มนักกิน ที่มองหาร้านอาหารดีๆ รสชาติอร่อย

หากมองย้อนกลับไปในยุคเริ่มแรกของวงการสตาร์ตอัพไทย เว็บไซต์ “วงใน” ถือกำเนิดขึ้น โดย ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด พร้อมด้วยกลุ่มเพื่อนสมัยเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีก 3 คน ในช่วงเริ่มแรกผู้ก่อตั้งทั้ง 4 ต้องทุ่มเทและอดทนอย่างมาก

ใช้เวลา 7 ปี ปัจจุบันเว็บไซต์วงในเป็นแอพพลิเคชั่นไลฟ์สไตล์อันดับต้นๆ ของเมืองไทย ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 2 ล้าน 5 แสนคน

gfgfgggg

 

– มองสตาร์ตไทยอย่างไร?

ผมมองว่าสตาร์ตอัพ คือธุรกิจสร้างใหม่ที่ต้องมีเป้าหมายที่ใหญ่ และสิ่งที่จะตัดสินความสำเร็จของสตาร์ตอัพมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอะไรเลย มันขึ้นอยู่กับตัวของคนที่ทำเอง

สำหรับประเทศไทยน่าจะเพิ่งเป็นช่วงเริ่มต้น แต่ก็มีโอกาสถึงทางตันถ้ารุ่นพี่อย่างผมไม่สามารถทำให้เห็นว่าสตาร์ตอัพสามารถโตได้ คือถ้าเกิดผมหรือรุ่นเดียวกับผมไปต่อไม่ได้กันหมด ไม่มีใครไปต่างประเทศได้ ไม่มีใครเข้าตลาดหุ้นได้ ไม่มีใครสามารถทำกำไรได้จริง รุ่นต่อมาก็เหลว เพราะไม่มีตัวอย่างที่ดีที่จะทำตาม นักลงทุนก็ไม่เชื่อมั่นในสตาร์ตอัพ ดังนั้น เราจะมีเคสใหญ่ๆ ให้รุ่นน้องให้คนที่กำลังจะสร้างบริษัทรวมถึงนักลงทุนเห็นว่ามีความสำเร็จหรือเปล่า

– คนที่ทำสตาร์ตอัพควรเป็นคนแบบไหน?

ต้องเป็นคนที่มีไอเดีย มีความทะเยอทะยานสูง มีแพชชั่นที่อยากจะทำให้ธุรกิจของตัวเองประสบความสำเร็จที่สูงมากๆ ผมคิดว่าคนที่ทำสตาร์ตอัพต้องไม่ใช่คนที่อยากจะทำธุรกิจเล็กๆ ต้องเป็นคนที่มีความฝันใหญ่มากๆ ต้องมีความบ้าพอสมควรต้องขยันแล้วก็ต้องอดทน ต้องพร้อมอยู่กับมันยาวๆ ด้วยไม่ใช่อยากมาทำ 3 ปีแล้วเลิก เพราะธุรกิจที่จะให้สำเร็จภายในสามปีมันมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย

– โอกาสที่สตาร์ตอัพจะประสบความสำเร็จมีมากน้อยแค่ไหน?

น้อยมากครับอาจจะซัก 1-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น มันมีปัจจัยหลายอย่างมากครับ ที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ

ส่วนสำคัญคือ โปรดักส์ของคุณ และทีมของคุณดีแค่ไหน ตลาดพร้อมกับโปรดักส์ของคุณหรือเปล่า สองส่วนนี้จะต้องไปด้วยกัน มีอย่างใดอย่างหนึ่งก็คงไม่ได้ เพราะถ้าคุณไม่มีทีมที่ดี คุณก็ไม่น่าจะทำโปรดักส์ที่ดีได้ หรือถ้าคุณมีทีมที่ดีแต่คุณทำโปรดักส์ผิดมันก็เจ๊งอยู่ดี เช่น ผมมีทีมที่ดีมากเลย แต่ผมไม่ได้ทำวงใน แต่ไปทำแอพพ์เรียกรถแท็กซี่แข่งกับ Uber ผมอาจจะเจ๊งไปแล้วก็ได้ ส่วนเรื่องเงินทุนผมมองว่ามาเป็นอันดับสุดท้าย

– มองไอทีหรือออนไลน์มีบทบาทกับสตาร์ตอัพมากแค่ไหน?

ผมว่าไอทีหรือออนไลน์มีส่วนกับสตาร์ตอัพ คือถ้าไม่ได้ใช้ไอทีเลยหรือไม่ออนไลน์เลยมันก็ลำบาก อย่างวงในเองพึ่งออนไลน์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เลย ดังนั้น ถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ต ก็คงไม่มีวงใน

– ก่อน “วงใน” เคยทำสตาร์ตอัพมาก่อนหรือเปล่า?

ประมาณปี 2552 ผมเรียนปริญญาโท MBA จาก UCLA Anderson ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนนั้นทำสตาร์ตอัพขึ้นมาตัวหนึ่งเกี่ยวกับโซเชียล เน็ตเวิร์กกิ้ง เเนะนำของอะไรก็ได้ ค่อนข้างกว้างไม่ได้เจาะเกี่ยวกับร้านอาหารโดยตรง ตอนนั้นไม่มีทีมงานที่เป็นคนไทยเลย ส่วนโปรแกรมก็จ้างคนอินเดียเขียน ทำได้ประมาณ 6 เดือนก็เจ๊ง เพราะเงินหมดก่อน บวกกับการเเข่งขันที่อเมริกาค่อนข้างสูงมาก ตอนนั้นมีเฟซบุ๊กแล้ว เลยไม่ค่อยมีคนใช้เท่าไหร่ต้องล้มเลิกไป

– เคยเจ๊งมาแล้วรอบหนึ่ง ตอนทำ “วงใน” กลัวไหม?

กลัวครับ เพราะมันเป็นอะไรที่เสี่ยง แต่เราก็มั่นใจเพราะทีมงานของเราเป็นทีมงานที่ดีกว่าเว็บแรกที่เราทำค่อนข้างเยอะ ตอนนั้นจ้างทีมอินเดียเขียนโปรแกรมให้ พอผมเงินหมดเขาก็เลิกทำ แต่ทีม “วงใน” พวกเราเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เราไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินให้เขา เขาก็ทำงาน เพราะเขาเป็นเจ้าของร่วมกันกับผม เลยมีสถานะที่แตกต่างกันค่อนข้างเยอะกับโปรเจ็กต์แรก

แล้วผู้ร่วมก่อตั้งแต่ละคนเขาเชื่อในโปรเจ็กต์นี้ เชื่อในตัวเราและเขาพร้อมที่จะทุ่มเทเวลาส่วนตัวเพื่อให้โปรเจ็กต์นี้มันเดินหน้าต่อไปได้ในขณะที่เขามีงานประจำอยู่แล้ว

– ข้อมูลเนื้อหาในช่วงแรกมาจากไหน?

ข้อมูลเริ่มแรกมีการขอความร่วมมือจากทั้ง ททท. และหน่วยงานต่างๆ อีกส่วนจะมาจากการจ้างพนักงานคีย์ข้อมูลแล้วก็เขียนเข้าไปว่ามีร้านอะไรบ้าง โดยพยายามหาข้อมูลจากเฟซบุ๊ก ในช่วงแรกมีร้านอยู่ในระบบประมาณ 2,000 ร้านก็ยังไม่เยอะเท่าไหร่

– มีวิธีการอะไรที่ทำให้คนสนใจ “วงใน”?

ต้องทำทุกอย่างดีกว่า (หัวเราะ) ในเชิงของการบริหารเรามีหน้าที่วางเป้าหมายให้ถูกต้องว่า เราต้องการอะไร เช่น ต้องการยูสเซอร์เพิ่มขึ้น อาจจะต้องทำการตลาด ทำกิจกรรมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ลด แลก แจก แถม มอบรางวัล ทำคลิปไวรัล ตลอดจนใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กมาช่วยเพิ่มยูสเซอร์ ซึ่งมันเป็นเรื่องของเทคนิคทางการตลาด

ตัวอย่าง “วงใน” เราสามารถเพิ่มยูสเซอร์จาก 300,000 ขึ้นมาเป็น 1,000,000 ภายในหนึ่งปีคือเพิ่มการใช้งานขึ้น 700,000 คน เพราะฉะนั้น วันหนึ่งเราต้องเพิ่มยูสเซอร์เกือบ 2,000 คน ตอนนั้นเราทำทุกอย่าง ใช้ทั้งเงิน ใช้ทั้งแรงใช้ทุกอย่างเพื่อให้ยูสเซอร์เข้ามาใช้งานเรามากขึ้น เรื่องการทำตลาดไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว ต้องทำการปรับทุกวันเพราะว่าสื่อที่เคยใช้ได้เมื่อวาน เดือนหน้ามันอาจจะใช้ไม่ได้แล้วก็ได้

– ผลตอบรับเป็นอย่างไร?

ช่วง 2 ปีแรกประมาณปี 2553-2554 ผลตอบรับไม่ดีเลย คนใช้งานน้อย ข้อมูลยังไม่ดี คนเข้ามาเลยรู้สึกไม่ค่อยมีประโยชน์เขาเลยไม่ใช้งาน แล้วเว็บ “วงใน” ต้องการพึ่งรีวิวจากผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้น้อยรีวิวก็ไม่เพิ่ม เป็นช่วงที่ทำงานยากที่สุด แล้วช่วงนั้นเราต้องทำงาน 2 ขาด้วย คือต้องเป็นซอฟต์แวร์เฮาส์ รับงานข้างนอกแล้วยังต้องทำ “วงใน” ด้วย

จนปี 2555 เราถึงจะเริ่มเติบโตแบบก้าวกระโดดมีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมากจากคนใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น แล้วเขามองหาแอพพลิเคชั่นใช้กัน ซึ่งวงในเป็นแอพพลิเคชั่นค้นหาร้านอาหาร แทบจะเป็นแอพพ์เดียวในขณะนั้น คนเลยเลือกเข้ามาใช้งานเยอะมาก ยังมีปัจจัยอื่น เช่น อินเตอร์เน็ต 3 จีที่เร็วขึ้น และข้อมูลร้านจากปีแรกเรามีประมาณ 2,000 ร้าน ตลอด 2 ปีเราสะสมมาอยู่ที่ประมาณ 10,000 ร้าน ทำให้คนใช้รู้สึกมีประโยชน์ แล้วก็ใช้มากขึ้นเรื่อย รีวิวก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งดึงคนใช้เข้ามามากขึ้นอีก ทำให้เราเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด

– มีการตรวจสอบคุณภาพร้านอย่างไร?

วงในเป็นแพลตฟอร์มให้คนเข้ามารีวิว ไม่ว่าจะเป็นร้านที่ดีหรือไม่ดีจะอยู่ด้วยกันได้ ส่วนคุณภาพร้านขึ้นอยู่กับคนไปกินแล้วชอบร้านนี้หรือเปล่า เราไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินว่าร้านไหนดีหรือไม่ดี ลูกค้าจะเป็นคนตัดสินใจเองว่าเขาชอบร้านนี้หรือไม่

– แล้วมีรีวิวมั่วหรือข้อมูลไม่ถูกต้องบ้างไหม?

มีครับ แต่เราก็ทำให้ปัญหาตรงนั้นมันน้อยลงไป เช่น ทีมที่ดูแลข้อมูลของเราประมาณ 10 คน จะคอยดูว่าข้อมูลที่รีวิวขึ้นถูกต้องหรือไม่ มีรีวิวมั่วเข้ามาหรือเปล่า ถ้าเจอรีวิวมั่ว รีวิวจากเจ้าของร้าน หรือรีวิวที่ไม่น่าเชื่อถือ ก็จะไม่ให้ขึ้นโชว์ในระบบ รวมถึงร้านไหนที่มีรีวิวต้องสงสัยเยอะ จะไม่นำรีวิวต้องสงสัยนั้นมาคำนวณเรตติ้งของร้านนั้น รวมไปถึงการเรียงรีวิวให้คนเห็น ก็จะดูจากความน่าเชื่อถือสูงเป็นหลัก

แน่นอนว่า “วงใน” เรามีรีวิวเยอะแยะมากมายเราก็พอรู้ว่ารีวิวไหนมีความน่าเชื่อถือสูง รีวิวไหนที่ความน่าเชื่อถือต่ำกว่า เราก็พอจะคัดแยกได้ ถึงแม้จะมีรีวิวที่มั่วอยู่บ้าง แต่หวังว่าจะไม่ได้เยอะมากจนที่เป็นที่รำคาญใจของคนใช้งาน

– นอกจากการใช้อินเตอร์เน็ตมาช่วยแล้ว “วงใน” แตกต่างจากการรีวิวอาหาร ในสมัยก่อนยังไง?

ถ้าเทียบกับในอดีต เช่น เชลล์ชวนชิม หรือ แม่ช้อยนางรำ ผมมองว่ามีความคล้าย แต่ไม่เหมือนเพราะมีความแตกต่างที่ชัดเจนคือ วงใน เป็นการรวบรวมรีวิวจากผู้ใช้ เขาบอกว่ายังไงเราก็ว่าอย่างนั้น แล้วร้านไหนมียอดรีวิวเยอะถือว่าร้านนั้นยอดนิยม ขณะที่การชิมแล้วรีวิวเมื่อก่อนมาจากทีมงานกลุ่มเดียว

– เว็บรีวิวอาหารมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นหรือไม่แล้วมีผลกระทบต่อ “วงใน” ไหม?

ไม่มีครับ คู่แข่งเราน้อยลง เทียบแล้วในช่วงปี 2553-2556 คู่แข่งเยอะกว่าปัจจุบันอีก ในช่วงนั้นมีเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการรีวิวร้านอาหารขึ้นมาเยอะมาก ประมาณเกือบ 20 เว็บได้ ซึ่งเราผ่านช่วงนั้นมาแล้ว และเราเป็นผู้นำตลาดคู่แข่งใหม่ก็น้อยลง จึงไม่ค่อยมีผลกระทบกับรายได้ ตอนนี้รายได้ของวงในโตขึ้นมากกว่า 10 เท่าทุกปี ผมว่าสาเหตุที่คู่แข่งน้อยลงเพราะว่าเราก็เป็นผู้นำของตลาดแล้ว คนที่จะเข้ามาเห็นว่าตลาดตรงนี้ไม่ได้ว่าง ก็ไม่รู้จะเข้ามาทำไม

– ผลตอบแทนเป็นอย่างไร?

ช่วง 2 ปีแรกไม่ต้องคิดถึง ไม่มีรายได้อยู่แล้วครับ ช่วงสองปีแรกเราก็เลยต้องรับงานข้างนอกเริ่มเขียนโปรแกรมให้กับคนอื่นเป็นซอฟต์แวร์เฮาส์เพื่อเอาเงินเข้ามาที่บริษัทบ้าง พอพ้นช่วง 2 ปีแรกเป็นต้นมาก็เริ่มมีรายได้จากการซื้อโฆษณา จากการซื้อแอดของร้านอาหารที่ให้เราไปรีวิว เป็นต้น

ส่วนผลตอบแทนในปัจจุบันคุ้มค่ามากครับ ในเรื่องรายได้เรามุ่งหน้าไปได้ดีมาก ในปีที่แล้วเราอาจจะไม่ได้กำไรแต่รายได้ก็เพิ่มขึ้น จากปี 2558 รายได้เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า และในปี 2559 คิดว่ารายได้เราก็เพิ่มขึ้น 2 เท่า เพราะฉะนั้นเรื่องของรายได้เราก็ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วในอนาคตก็น่าจะเยอะขึ้นเรื่อยอีก รวมแล้วผลตอบแทนของเราน่าจะอยู่ในทิศทางที่ดี

– เคยคิดอยากจะเลิกทำ “วงใน” ไหม?

แน่นอนครับ ช่วงแรกๆ คิดหลายครั้งว่าอยากจะเลิก เพราะว่ามันไม่ประสบความสำเร็จ รู้สึกว่าไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่ก็ไม่เคยพูดออกมา แล้วไม่ได้คุยกันระหว่างทีมเลยไม่มีใครล้มเลิก แต่ผมว่าทุกคนน่าจะคิดในช่วงสองปีแรก เพราะว่ามันไม่มีรายได้ เหนื่อยแล้วก็กดดันด้วย

ที่ผมทำต่อเพราะผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือเราต้องโทษตัวเอง ว่ามีสิ่งที่เรายังไม่ทำ สิ่งที่ต้องปรับปรุงก่อน เราไม่ได้โทษฟ้าโทษฝนไม่โทษว่าฉันทำดีอยู่แล้วแต่มันไม่พร้อมเราก็เลยทำไม่ได้ เราไม่เคยบอกว่าฉันทำครบทุกอย่างแล้วแต่มันไม่ดีเอง เลิกดีกว่าเราไม่ได้คิดแบบนั้น

– ตอนนี้ “วงใน” ประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง

ตอนนี้เราอาจจะยังไปไม่ถึงครึ่งทางกับแผนที่เราวางไว้ แต่ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ถ้าดูจากส่วนแบ่งทางการตลาด ดูจากรายได้ รวมถึงทีมงานของเรา และถ้าเทียบกับต่างประเทศตอนนี้เราเป็น YELP.COM ของเมืองไทยได้แล้ว เป็นเว็บ หรือแอพพ์ที่คนนึกถึงเมื่อต้องการร้านอาหาร แต่เป้าของเราก็ใหญ่กว่านั้นแน่นอนเราต้องการเป็นซุปเปอร์ไลฟ์สไตล์ แอพพลิเคชั่นสำหรับคนไทยเข้ามาค้นหาทุกอย่างที่เป็นของดีๆ เป็นบริการดีๆ ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารอย่างเดียว

– คิดจะทำเว็บไซต์อื่นอีกไหม?

ไม่คิดครับ เพราะทุกอย่างที่เราอยากทำตอนนี้สามารถอยู่ในวงในได้ทั้งหมด

1ยอด ชินสุภัคกุล

 

กว่าจะเป็น “วงในดอทคอม”

แม้จะเคยล้มเหลวจากการทำสตาร์ตอัพมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ ยอด ชินสุภัคกุล ก็ไม่ได้ย่อท้อ หลังจากเรียบจบจากอเมริกาก็ตั้งเป้าจะกลับมาทำสตาร์ตอัพที่เมืองไทย

“ผมรู้สึกว่าที่เราทำไม่สำเร็จที่อเมริกา ถ้ามาทำที่เมืองไทยน่าจะมีโอกาสมากขึ้น แล้วตอนอยู่อเมริกาเราได้ใช้เว็บ YELP.COM ซึ่งเป็นเว็บรวบรวมร้านอาหารในประเทศ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ใช่เเค่ที่อเมริกาเเต่ทุกที่ทั่วโลกมีเว็บไซต์รีวิวร้านอาหารดีๆ ด้วยกันทั้งหมด เเต่เมืองไทยยังไม่มี เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเว็บไซต์ Wongnai.com ที่รวบรวมรีวิวอาหารขึ้นในประเทศไทย

“ตอนเรียนปริญญาโทเทอมสุดท้าย ยอดกลับมาเมืองไทยพร้อมเป้าหมายที่จะทำสตาร์ตอัพ โดยชักชวนเพื่อนอีก 3 คนที่มีงานประจำอยู่แล้วมาร่วมทีม ในระยะแรกวงในเป็นเหมือนงานพาร์ตไทม์ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนตั้งแต่ต้นปี 2553 จนถึงกลางปี เป็นจังหวะเดียวกับที่ยอดเรียนจบ ก็กลับมาตั้งบริษัท และเปิดตัวเว็บวงใน เป็นครั้งแรก

“สำหรับชื่อวงใน ยอดอธิบายที่มาว่า เราต้องการสื่อถึงรีวิว สื่อถึงข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ชื่อวงในจึงไม่ได้หมายถึงแค่อาหาร ตอนนี้มีการรีวิวเรื่องความสวยความงามและสปา (Beauty) ล่าสุด ยังร่วมมือกับเว็บดีล รวมถึงความร่วมมือกับ Line Man ในการให้บริการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ออนไลน์บนวงในด้วย

“สอดคล้องกับเป้าหมายของวงในเราต้องการเป็นซุปเปอร์ไลฟ์สไตล์ แอพพลิเคชั่นสำหรับคนไทย เพื่อให้คนไทยได้เชื่อมต่อกับสิ่งที่ดี”

 

ที่มา มติชนออนไลน์