ราคาดี สร้างรายได้พอใจ “จิ้งโกร่ง” เลี้ยงไม่ยาก ขายได้ทั้งสด แห้ง แปรรูป

ราคาดี สร้างรายได้พอใจ “จิ้งโกร่ง” เลี้ยงไม่ยาก ขายได้ทั้งสด แห้ง แปรรูป  

ช่วงการทำโครงการในปีแรก ชาวบ้านในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่ตาด อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ยังคลุมเครือ และยังไม่เข้าใจว่า “จิ้งโกร่ง” จะทำให้เกิดรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างไร เพราะเป็นของใหม่ ชาวบ้านไม่คุ้น จึงไม่กล้าลงแรง และสละเวลาเข้ามาร่วมโครงการ

แม้ คุณสิริพล เพ็งโฉม ผู้รับผิดชอบโครงการ จะบอกว่า ทุกขั้นตอนทางโครงการมีงบประมาณสนับสนุนในการเริ่มต้น มีการอบรมให้ความรู้ในด้านวิธีการเลี้ยง พร้อมกับแสดงตัวเลขรายได้จากการขายจิ้งโกร่ง ตัวโตเต็มวัยให้ดูว่านี่เป็น Trend ของโปรตีนในโลกยุคใหม่ แต่ชาวบ้านกลุ่มเป้าหมายบางส่วนก็ยังคงลังเล

จากที่ต้องการหาอาชีพเสริมให้ชาวบ้านกลุ่มคนด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และคนพิการ มีรายได้ในภาวะวิกฤตโรคระบาด จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในบางประเด็นเพื่อ “พิสูจน์”  ให้ชาวบ้านเห็นว่า ขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งโกร่งไม่ยาก ลงทุนทำกล่องหรือกรงเลี้ยงรอบเดียว จากนั้นดูแลตามวิธีการ เช่น ให้น้ำ ให้อาหาร ดูการเจริญเติบโต และเก็บขาย

พ่นน้ำ ให้จิ้งโกร่ง

“นี่อาจเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่เราได้พบ เพราะชาวบ้านถูกหน่วยงานมาชวนให้ทำนู่น ทำนี่แล้วไม่ประสบความสำเร็จ พอเราไปชวนอาจจะยังลังเล เลยต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า เลี้ยงง่าย และขายได้จริงๆ” คุณสิริพล ผู้รับผิดชอบโครงการ สะท้อนบทเรียนที่ได้รับ

และผลของการพิสูจน์ ชาวบ้านหลายรายมีรายได้เสริม เช่น คุณวรัญยา คล้องสัมฤทธิ์ อายุ 58 ปี อาชีพขายผลผลิตการเกษตร แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร และรับจ้างทั่วไป กลุ่มเป้าหมายโครงการปีแรก บอกว่า ช่วงต้นโครงการยังไม่กล้าเข้าร่วม แต่พอเห็นทางโครงการจริงจัง เลยตัดสินใจ เพราะต้องการหารายได้เสริม

“พอเข้ามาร่วม ก็เห็นว่าเลี้ยงไม่ยาก และขายได้ราคาดี ขายได้ทั้งแบบสด และแบบแห้ง หรือถ้าเราไม่ขาย ก็เอาไปแปรรูปทำอาหารได้” คุณวรัญยา บอก

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเป้าหมายคนอื่นๆ ที่เริ่มเข้าใจและเข้าร่วมโครงการ 141 คน และกระบวนการทำงานในปีแรกยังทำให้เกิดองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงจิ้งโกร่ง อาทิ เทคนิคและวิธีการให้อาหาร การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

จิ้งโกร่ง แหล่งโปรตีน

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น นำไปสู่การต่อยอดของโครงการในปีถัดมา ซึ่ง คุณสิริพล และชาวบ้านสันกำแพงคิดไปไกลว่านั้น “อยากให้อำเภอสันกำแพงเป็นแหล่งเรียนรู้การเพาะเลี้ยงจิ้งโกร่ง”

ฉะนั้น การดำเนินงานโครงการยกระดับการเลี้ยงจิ้งโกร่งคุณภาพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานสู่การพัฒนาอาชีพสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ในปีที่สอง สิ่งที่คุณสิริพล และคณะทำงานคิดว่าจะต่อยอดจากโครงการในปีแรก คือ การพัฒนาศักยภาพคนทำงาน การกระจายผลไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยทั้ง 3 ภารกิจ จะนำไปสู่ ข้อที่ว่า เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเลี้ยงจิ้งโกร่ง ในพื้นที่อำเภอสันกำแพง

สำหรับที่มาของแนวคิดดังกล่าว คุณสิริพล เล่าย้อนว่า ระหว่างการดำเนินงานในปีแรก มีชาวบ้านให้ความสนใจมาถามไถ่ค่อนข้างมากว่าเลี้ยงแล้วเป็นยังไงบ้าง รายได้ดีไหม นั้นทำให้เห็นโอกาสในการขยายองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงจิ้งโกร่ง ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง แต่ข้อจำกัด คือ ขาดคนที่มีความรู้ ความเข้าใจที่จะมาช่วยกันอธิบายวิธีการและขั้นตอนเลี้ยง จิ้งโกร่ง

แบ่งปันความรู้

“พยายามสังเกตว่า ชาวบ้านก็แนะนำเพื่อนๆ ในแบบที่เขาเข้าใจ ว่าเลี้ยงแบบไหน วิธีการเลี้ยงเป็นอย่างไร เลยคิดว่า ถ้าสนับสนุนให้เขาพัฒนาศักยภาพตัวเขาเองให้มีทักษะ และสามารถส่งต่อความรู้ให้กับคนในชุมชนได้หรือคนที่สนใจได้อย่างมีกระบวนการ อีกทั้งยังสามารถตั้งคำถามเพื่อแลกเปลี่ยนเวลามีคนมาดูงานได้”

“และสามารถต่อยอดเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากจิ้งโกร่ง ที่เลี้ยง เป็นการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอื่น เช่น ขนมดอกจอก ขนมจิ้งโกร่ง จิ้งโกร่งทอดกรอบอบสมุนไพร หรือว่าน้ำพริกจิ้งโกร่ง เพื่อที่จะสามารถทำการตลาดได้มากขึ้น น่าจะช่วยให้ชาวบ้านสามารถดำเนินงานไปต่อได้ด้วยตัวเอง ในนามของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน” คุณสิริพล บอก

สำหรับกระบวนการ Up Skill คนทำงาน คือ การค้นหาความถนัดของแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่ม ว่ามีความเชี่ยวชาญหรือถนัดเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นค่อยหาวิธีหนุนเสริมทีละประเด็น

นำมาปรุงอาหาร

“ในส่วนของการพัฒนาทักษะวิทยากร หลักๆ ก็มีเรื่องการพูด การสื่อสาร การให้ความรู้ว่าการเลี้ยงจิ้งโกร่ง เลี้ยงแบบไหน เลี้ยงอย่างไร สำหรับกลุ่มแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต้องจัดกิจกรรมเพื่อให้แต่ละคนมาเสนอความเห็น แล้วช่วยกันสรุปว่าจะต่อยอดเรื่องไหน” คุณสิริพล บอก

และว่า ข้อสรุป คือ จัดประกวดการปรุงอาหารโดยใช้วัตถุดิบหลักจากจิ้งโกร่ง จัดงานที่ถนนคนเดินสันกำแพง มีคนเข้าร่วมประกวดเยอะมาก เราก็ได้เมนูอาหารใหม่ๆ กว่า 10 เมนู โดยใช้จิ้งโกร่งเป็นวัตถุดิบหลัก ผลที่เกิดขึ้นคือชาวบ้านก็เห็นช่องทางในการพัฒนาตัวจิ้งโกร่ง ส่วนผู้บริโภคก็ได้รับรู้ว่า จิ้งโกร่งเอาไปทำอะไรกินได้ตั้งหลายอย่าง ไม่ได้ทำได้เฉพาะทอดกินอย่างเดียว

นอกจากการยกระดับผลิตภัณฑ์ คุณสิริพล เล่าว่า แนวคิดของการทำงานในครั้งนี้คือ ‘ใช้งานพัฒนาคน’ เพราะโครงการต่อยอดในปีที่ 2 คือการยกระดับการเลี้ยงจิ้งโกร่งคุณภาพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานสู่การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคำสำคัญอยู่ที่ ‘ยกระดับการเลี้ยง’ โดยวิธี ‘ลดต้นทุน’ และ ‘เพิ่มรายได้’

“ลดต้นทุน คือ การผลิตอาหารที่ใช้สำหรับการเลี้ยงจิ้งโกร่ง เพราะโครงการปีแรก ชาวบ้านเองก็มีการทดลองเอาพวกผัก ผลไม้ ในชุมชนมาให้จิ้งโกร่งกิน และเราก็พบว่า หลายอย่างเราน่าจะปลูกกันเองได้ และชาวบ้านส่วนใหญ่มีทักษะเรื่องของการปลูกผักอยู่แล้ว เราแค่เสริมเรื่องความรู้เรื่องการปลูกผักอินทรีย์”

สำหรับประเด็นการ ใช้งานพัฒนาคน คุณสิริพล อธิบายว่า เนื่องจากโครงการปีที่ 2 ต้องขยายผลไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง จำเป็นต้องมีวิทยากรในการถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมทั้งเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ

กิโลละเกือบ 300

“เห็นว่ากลุ่มชาวบ้านที่ทำมาแล้วในปีแรกน่าจะอธิบายเรื่องราว หรือถ่ายทอดประสบการณ์ได้ดีที่สุด เพราะเขามีประสบการณ์ในการลองผิดลองถูก การแก้ปัญหาที่เกิดจากการเลี้ยง จึงคิดว่าถ้าเรายกระดับให้เขาขึ้นมาเป็นวิทยากรชาวบ้านได้ ก็อาจจะช่วยเสริมเรื่องการพัฒนาพื้นที่สันกำแพงเป็นแหล่งเรียนรู้ได้”

เมื่อเป้าหมายคือ ‘ต้องการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้’ ดังนั้น วิธีต่อมาคือการสร้าง “องค์ประกอบของแหล่งเรียนรู้” ให้เกิดขึ้น ซึ่งจะประกอบด้วย 1. ตัวองค์ความรู้ และสถานที่ที่คนนอกจะเข้ามาเรียนรู้ 2. วิทยากรที่มีศักยภาพและความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ได้

ซึ่งโดยปกติ แหล่งเรียนรู้มักมีจุดเดียว แต่จะประกอบไปด้วยหลายฐานการเรียนรู้ กรณีการเลี้ยงจิ้งโกร่งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่ตาด แตกต่างไปจากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ กล่าวคือ ไม่ต้องการให้เกิดการกระจุกตัวที่จุดใดจุดหนึ่ง จึงมีการออกแบบให้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนหรือ 4 พื้นที่ในอำเภอสันกำแพง ตามศักยภาพและทักษะของทีม

น้ำพริกจิ้งโกร่ง

ปัจจุบัน ราคาขายปลีกจิ้งโกร่ง กิโลกรัมละ 250 บาท ชาวบ้าน 1 คน เลี้ยงเป็นอาชีพเสริมคนละ 1-3 บ่อ และ 1 บ่อให้ผลผลิต 3 กิโลกรัม แม้ผลลัพธ์จะทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น และรายจ่ายลดลง แต่สิ่งที่ได้เพิ่มมาก็คือ องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในตัวชาวบ้าน รวมไปถึง ‘แหล่งเรียนรู้’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

สนใจองค์ความรู้ อาชีพเกี่ยวกับ“จิ้งโกร่ง” สอบถาม นายสิริพล เพ็งโฉม ในฐานะเจ้าของโครงการยกระดับการเลี้ยงจิ้งโกร่งคุณภาพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานสู่การพัฒนาอาชีพสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โทรศัพท์ 064-254-6239

……………

สิ้นสุดการรอคอย

กลับมาอีกครั้ง กับงานสัมมนาธุรกิจ SMEs “พลิกเกมไว โอกาสใหม่ SMEs” 31 สิงหาคมนี้!

งานสัมมนาแห่งปีของเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ที่ปีนี้พร้อมจัดใหญ่ จัดเต็ม เอาใจผู้ประกอบการ นักธุรกิจหน้าใหม่ หรือผู้ที่สนใจอยากเริ่มสร้างธุรกิจ โดยจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 กลับมาเจอกันอีกครั้งพร้อมคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจ และเข้าถึงเหตุการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

พร้อมเชิญทั้งกูรู และ เหล่า SMEs ที่มีประสบการณ์ ฟันฝ่า ปรับตัว มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยน แชร์ประสบการณ์ สร้างการเรียนรู้เพื่อใช้ในการปรับตัวทางธุรกิจ หรือปรับกลยุทธ์ในการค้าขายให้ทันโลกในปัจจุบันมากขึ้น

สามารถร่วมสนุกกับงานสัมมนา “พลิกเกมไว โอกาสใหม่ SMEs” ได้ โดยการลงทะเบียนล่วงหน้าพร้อมลุ้นรับของรางวัลได้ที่ >> https://bit.ly/3zBg81E (จำนวนจำกัด)

#พลิกเกมไวโอกาสใหม่SMEs #สัมมนาเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ #SENTANGSEDTEEONLINE #OtteriWashAndDry #ตู้เต่าบิน #น้ำพริกป้าแว่น #โกโก้ร้านไอ้ต้น