โควิด มา อาชีพหาย เร่งช่วยชาวบ้าน พัฒนาผลิตภัณฑ์ ไม่แค่นำของมาขาย

โควิด มา อาชีพหาย เร่งช่วยชาวบ้าน พัฒนาผลิตภัณฑ์ ไม่แค่นำของมาขาย

หลายปีมาแล้ว ที่วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรบ้านมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ แม้ไม่คึกคักเหมือนแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ แต่สมาชิกในกลุ่มก็มีรายได้ราว 20,000-30,000 บาทต่อคนต่อปี โดยรายได้ส่วนใหญ่เกิดจากนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้วิถีเกษตรริมน้ำ เรียนรู้วิถีชาวนา เรียนรู้ประวัติศาสตร์ การแปรรูปไข่เค็ม ทำดินสอพอง ศึกษาการเพาะเลี้ยงไส้เดือน การทำสบู่สมุนไพรก้อน ฯลฯ

กระทั่งเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันที่ คุณอิงณภัสร์ วงษ์สิทธิชัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรบ้านมหาสอน คิดใช้ช่วงเวลานี้ในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกในกลุ่ม ให้มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดสินค้าใหม่ๆ

กิจกรรมรับนักท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด ระบาดหลายระลอก

พร้อมทั้งพัฒนามาตรฐานสินค้าให้ได้ SHA (มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยว) ผ่านการทำโครงการพัฒนาศักยภาพและฟื้นฟูวิสาหกิจท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรบ้านมหาสอน ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี

“สมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจฯ มี 29 คน เราอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ อยากช่วยชาวบ้าน ไม่ใช่แค่ให้เขาเป็นคนนำของมาขาย แต่อยากให้เขาเป็นผู้ประกอบการ มีกระบวนการคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้เอง เพราะมองว่าถ้าคนหนึ่งคิดได้หนึ่งผลิตภัณฑ์ ก็จะเกิดการจ้างงานตามมาอีก 3-5 คน โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ  มี 62 คน เน้นไปที่กลุ่มที่ไม่มีรายได้เป็นหลัก ถัดมาเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น อาชีพขับรถอีแต๋น อาชีพนวด เป็นต้น”

สำหรับกระบวนการเรียนรู้จะอิงจากฐานงานเดิมคือ การท่องเที่ยว เช่น การบริหารจัดการที่พักเพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงเพื่อเป็นรายได้เสริมและสามารถถ่ายทอดทักษะนี้ให้กับนักท่องเที่ยวได้ การทำสปาพื้นบ้าน การทำบัญชีครัวเรือน และการขายสินค้าออนไลน์

พัฒนาผลิตภัณฑ์

คุณอิงณภัสร์ เล่าถึงกิจกรรมพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพว่า เป็นกิจกรรมเพื่อให้สมาชิกในกลุ่มท่องเที่ยวได้ทบทวนบทบาทของตนเอง โดยให้เริ่มจากการพูดถึงเป้าหมายของตัวเอง และเปิดโอกาสให้ทบทวนบทบาทใหม่ เนื่องจากบางคนยังไม่รู้ว่าเขาเป็นสมาชิกกลุ่มหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาขาดการมีส่วนร่วมและขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของ กิจกรรมนี้จึงเน้นการทบทวนต้นทุนเดิมทั้งของตนเองและวัตถุดิบ

“อยากให้รู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ลูกจ้าง จึงให้เขาทบทวนตัวเอง ทบทวนต้นทุน ให้เขาบอกสิ่งที่เขาต้องการพัฒนาด้วยความคิดของเขาเอง โดยทุกกิจกรรมจะมีการทบทวน และถอดบทเรียนทุกครั้งว่า เขาได้เรียนรู้อะไร อะไรที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติม กระบวนการเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากทีมพี่เลี้ยง

ซึ่งกิจกรรมก่อนสุดท้าย คือ การทดสอบผลิตภัณฑ์มีการเชิญสื่อมวลชน และหน่วยงานท่องเที่ยวจังหวัดมาเป็นนักท่องเที่ยวเพื่อให้ข้อเสนอแนะ และฝึกกลุ่มเป้าหมายไปพร้อมกัน เมื่อเรียนรู้ครบทุกกิจกรรมแล้ว จึงมาสู่ กิจกรรมสุดท้ายคือ การคืนข้อมูล เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้ทบทวนกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดอีกครั้ง โดยมีการจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา”

อร่อยนะคะ

สำหรับผลจากการเรียนรู้ร่วมกันแบบ “ใจแลกใจ” มากกว่า 5 เดือน ทำให้การทำงานของสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมหาสอน ‘ใส่ใจ’ และ ‘กระตือรือร้น’ ในการทำงานมากขึ้น จากเดิมที่มีประชุมครั้งใดกว่าจะรวมตัวกันได้ก็ช้ามาก ขาดความสม่ำเสมอ และต้องให้จากประธานนำและลงมือทำก่อน เปลี่ยนเป็นการช่วยคิด ช่วยทำ แถมยังคิดแบบสร้างสรรค์อีกด้วย

“เมื่อก่อนเรียกมารวมตัวกันทียากมาก แถมทำงานกันไปทะเลาะกันไป แต่ตอนนี้ทุกคนให้ความร่วมมือดีมาก มีการทำงานเป็นทีม ลุกขึ้นมาเอาธุระกับงานส่วนรวมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และให้ความสำคัญในการร่วมกันแก้ไขปัญญา มีความคิดสร้างสรรค์ร่วมแชร์ไอเดีย เช่น เวลามีนักท่องเที่ยวมา เราโยนคำถามว่า อยากให้มีการแสดงเพิ่มขึ้นไหม ถ้ามีจะเป็นอะไร เขาก็จะช่วยกันแชร์ช่วยคิดว่า สมัยก่อน มีการละเล่นอะไร ทำให้เราได้ข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และรับรู้ได้ถึงความภาคภูมิใจในการเป็นคนมหาสอนมากขึ้น เมื่อก่อนเราอาจจะถูกกลืนไป ด้วยวิถีชีวิตอะไรก็ตามแต่วันนี้เขาอยากจะลุกขั้นมามีตัวตน” คุณอิงณภัสร์ กล่าว

และว่า ในการจัดกิจกรรมอบรมชาวบ้านครั้งที่ 3 เธอในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ เริ่มคิดเรื่องการดึงศักยภาพของชาวบ้าน หากมัวแต่จัดอบรมโดยไม่ดึงศักยภาพชาวบ้านออกมา ผลลัพธ์ที่ได้คงไม่ต่างไปจากเดิม จนกระทั่งพี่เลี้ยงได้นำเครื่องมือการถอดบทเรียนมาให้ จึงนำมาใช้ในการอบรมชาวบ้านครั้งที่ 4 และเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในทันทีเรื่องการมีส่วนร่วม

สินค้าดึงดูด

“เห็นภาพชัดเลยว่า เวลามาประชุมแล้วเขามีความสุขขึ้น เริ่มคิดถึงกันเวลาไม่มาประชุม พูดคุยและทำกิจกรรมกันมากขึ้น เกิดกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มของชาวบ้านกันเอง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ดีขึ้น ได้เห็นไอเดียสร้างสรรค์ เห็นความต้องการอยากจะทำผลิตภัณฑ์ใหม่ มีการจดงานบันทึกข้อมูลความรู้มากขึ้น” ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ กล่าว

ส่วนเป้าหมายที่โครงการฯ วางไว้ในเรื่องมาตรฐาน SHA ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมหาสอนสามารถผ่านมาตรฐานดังกล่าวได้แล้ว และมีการทำเพจเพื่อสินค้าออนไลน์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลายคนมาช่วยถ่ายภาพ โพสต์สินค้าขาย จากที่เมื่อก่อนส่องคนอื่นอย่างเดียว และไม่คิดว่าตัวเองจะทำ เดี๋ยวนี้โพสต์เป็น และมีรายได้จากการขายออนไลน์บ้างแล้วแม้จะไม่มากก็ตาม

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นก็มีหลากหลายชนิด ทั้งสบู่เหลว สบู่สมุนไพรก้อน โลชั่นชุมเห็ดเทศ ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโควิด-19  น้ำยาล้างมือ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากให้ชาวบ้านมีผลิตภัณฑ์ของตนเองวางขายตามจุดที่เป็นบ้านกิจกรรมในชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 3 จุด อย่างน้อยมีจุดละ 5 ผลิตภัณฑ์ ก็จะเกิดกลุ่มอาชีพกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นในชุมชน

ด้าน คุณเพ็ญศรี สดับสร้อย อายุ 65 ปี สมาชิกวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรบ้านมหาสอน เล่าว่า เธอนำความรู้จากโครงการฯ มาทำตะไคร้หอมไล่ยุงส่งขายขวดเล็กราคา 15 บาท หรือลิตรละ 30 บาท ให้กับบ้านสวนขวัญ และส่งขายเพื่อนๆ รวมถึงเย็บกระเป๋าขายตามออร์เดอร์ ทำให้มีรายได้เข้ามาใช้จ่ายบ้าง แม้จะไม่มากนัก

ส่วน คุณประไพ แสงทอง อายุ 57 ปี สมาชิกวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรบ้านมหาสอน เล่าว่า ความรู้ที่ได้จากโครงการฯ คือ การนำสมุนไพรมาแปรรูปเป็นสบู่ เป็นสมุนไพรแช่เท้า การทำพิมเสนน้ำ ทำเจลล้างมือ และน้ำพริกสมุนไพร

พิซซ่าชาวบ้าน ไม่ธรรมดา

“หลังฝึกอบรมเสร็จ นำตะไคร้ที่ปลูกอยู่แล้วมาแปรรูปเป็นน้ำพริกสมุนไพร และเมนูอื่นๆ ที่เน้นตะไคร้เป็นหลัก อย่างหมูตะไคร้ ปลาร้าสับ น้ำพริกกุ้ง ฯลฯ หรือนำพืชผักผลไม้ที่มีอยู่มาแปรรูป เช่น ปีนี้มะม่วงมีเยอะก็นำมาแปรรูปเป็นมะม่วงพริกเกลือ มะม่วงกวน ขายบ้างแจกบ้างแล้วแต่โอกาส”

“กิจกรรมที่ชอบและได้นำมาใช้มากที่สุดคือ กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี มาอบรมเรื่องการเพิ่มมูลค่าสินค้าว่าควรจะทำแพ็กเกจสวยงามเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และการโปรโมตสินค้า เราก็นำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์น้ำพริก จากเดิมที่ใส่ถุงขายก็เปลี่ยนมาใส่กระปุกแทน ทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้น ถ้าไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ นี้ ก็คงขายแบบเดิมๆ คือ มีอะไรก็ใส่ไป แต่ตอนนี้ต้องคิดสร้างสรรค์และต้องคิดให้ทันแม่ค้าคนอื่นด้วย” คุณประไพ บอก

และนี่คือตัวอย่างของกระบวนการเรียนรู้จากโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรม ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่ไม่ได้เน้นไปที่การฝึกทักษะอาชีพ แต่เป็นการพัฒนาให้กลุ่มเป้าหมายให้มีวิธีคิด วิธีทำงานแบบใหม่ ที่ใช้ความรู้สมัยใหม่ผสานกับฐานทุนของชุมชน เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเพิ่มรายได้ให้ตนเอง