เชฟสู้ชีวิต ไม่หยุดขวนขวาย ขายซาลาเปา ขายข้าวแกง ล่าสุด เปิดร้าน Fine Dining

เชฟสู้ชีวิต ไม่หยุดขวนขวาย ขายซาลาเปา ขายข้าวแกง ล่าสุด เปิดร้าน Fine Dining
เชฟสู้ชีวิต ไม่หยุดขวนขวาย ขายซาลาเปา ขายข้าวแกง ล่าสุด เปิดร้าน Fine Dining

เชฟสู้ชีวิต ไม่หยุดขวนขวาย ขายซาลาเปา ขายข้าวแกง ล่าสุด เปิดร้าน Fine Dining

หากเอ่ยถึงเซเลบริตี้เชฟ ที่มีบุคลิกเข้าถึงได้ง่าย จนเป็นขวัญใจคนเดินดินกินข้าวแกง เชื่อว่าต้องมีชื่อของ เชฟจากัวร์-ธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ เป็นหนึ่งในนั้นแน่ๆ ค่าที่ว่าเขาเองก็เติบโตมาจากครอบครัวธรรมดาๆ เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง จนก้าวขึ้นมาเป็นเชฟชื่อดังที่ ครั้งหนึ่งเคยได้รับฉายา “ข้าวแกงร้อยล้าน”

กระทั่งปัจจุบัน ได้กลายเป็นเจ้าของร้านอาหาร Sai & Lakeview และร้านอาหารหรู SARN Khonkaen Fine Dining ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งนับเป็นร้าน Fine Dining แห่งแรกและแห่งเดียวในขอนแก่นเวลานี้

หากย้อนไปเมื่อครั้งเชฟจากัวร์ เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เขาต้องย้ายมาจากปักษ์ใต้ แล้วมาอาศัยอยู่ที่แฟลตคลองจั่นกับแม่และพี่ชายอีก 2 คน แม่ ซึ่งมีหัวการค้า จึงต้องหารายได้จุนเจือครอบครัว ริเริ่มขายซาลาเปา โดยอาศัยเพียงรถเข็น 1 คัน จอดขายริมถนนภายในแฟลต โชคดีแฟลตมีคนอาศัยอยู่เยอะ ประกอบกับซาลาเปาของแม่เชฟจากัวร์ ราคาเป็นมิตร นึ่งขายสดๆ รสชาติอร่อย โดยเฉพาะตัวแป้งที่ใส่ใบเตย ทำให้มีกลิ่นหอมและสีสันชวนรับประทาน

ขณะที่พี่ชาย 2 คนไม่มีหัวทางด้านนี้ ต่างจากเชฟจากัวร์ ที่ซึมซับนิสัยชอบการค้าขายมาจากแม่ เขาจึงเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการช่วยแม่ขายซาลาเปา แต่ด้วยวัยเพียง 15 ปี เชฟจากัวร์ จึงอดจะรู้สึกเขินอาย ที่ต้องมานั่งขายซาลาเปาริมถนน ในขณะที่เพื่อนวัยเดียวกันได้เที่ยวเล่นตามประสา

“ชอบกินและชอบทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก เวลาเห็นคนทำอาหารจะรู้สึกโดนสะกด เหมือนเด็กผู้ชายที่เวลาเห็นเพื่อนเตะบอลก็อดไม่ได้ที่จะไปร่วมวง ผมรู้จักเอาของไปขายที่ตลาดตั้งแต่ ป.2 เช่น มะม่วง ขนุนแกะเนื้อ จนคนในพื้นที่รู้ว่าเด็กคนนี้ขายของเก่ง พอขายแล้วได้เงินก็จะรู้สึกตื่นเต้น ได้สิบ-ยี่สิบบาท ก็เป็นเงินของเรา”

เชฟจากัวร์ เจ้าของเรื่องราว

“แต่ตอนที่มาอยู่กรุงเทพฯ เริ่มเป็นวัยรุ่นอายุแค่ 15 ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่าอาชีพคืออะไร รู้แค่ว่า ถ้าอยากมีเงินเรียนหนังสือ ก็ต้องขายของ และพื้นฐานเป็นคนรักแม่มาก เลยคิดว่าแม่คงลำบากมากถ้าเราไม่ช่วย ก่อนนั้นเรียนอยู่นราธิวาส แต่ต้องลาออกมากลางคัน พักการเรียนไป 1 ปี พอเห็นเพื่อนวัยเดียวกันใส่ชุดนักเรียน แอบอิจฉาเหมือนกัน” เชฟจากัวร์ เล่าเสียงหม่น

ก่อนบอกต่อ

“ยอมรับว่าวันแรกที่ขายซาลาเปา รู้สึกอายมากจนน้ำตาไหล แต่พอคิดว่าชีวิตเราต้องอยู่ได้ ครอบครัวต้องอยู่รอด จะอายไปทำไม เดี๋ยวก็จะไปสมัครเรียนแล้ว ดีเสียอีกที่ได้ทั้งเรียนได้ทั้งเงินด้วย พอเข้าใจในเหตุและผลก็ทำให้ยอมรับมันได้”

เชฟจากัวร์ เล่าอีกว่า การขายของที่แฟลต ทำให้เขาได้บทเรียนอย่างแรกสำหรับการค้าขาย คือ นอกจากรสชาติอาหารที่อร่อยแล้ว ทำเลก็มีความสำคัญมาก เหมือนอย่างแฟลตคลองจั่นที่มี Traffic ดีมาก จนพูดได้ว่า ขายอะไรก็ขายได้ขอให้รสชาติไม่ถึงกับขี้ริ้วเป็นพอ และเพราะขายดิบขายดี ซาลาเปารถเข็นนั่นเอง จึงส่งให้พี่น้อง 3 คนร่ำเรียนจนจบ ช่วยลบความน้อยใจในอดีตไปได้อย่างหมดจด อีกทั้งตอกย้ำให้เขามั่นใจว่า ตัวเองรักการทำอาหารและชอบการค้าขายมากแค่ไหน

“พ่อกับแม่มีแนวคิดที่ต่างกันมาก พ่อเป็นตำรวจ เชื่อว่าการศึกษาจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนได้ ขณะที่แม่ เชื่อว่า ความสำเร็จเกิดจากการทำธุรกิจ พ่ออยากให้รับราชการ ทำงานธนาคาร หรือทำงานประจำ ผมจึงเรียนต่อด้านการบัญชี แต่ระหว่างนั้นยังช่วยแม่ขายซาลาเปา ก่อนที่จะขยับขยายมาเปิดร้านข้าวแกงที่ตลาดนัดจตุจักร วันธรรมดาเรียนหนังสือ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วยแม่ขายข้าวแกง เรียกว่าชีวิตผมได้รับการหล่อหลอมจากทั้งพ่อและแม่มาคนละครึ่ง” เชฟจากัวร์ เผยกับ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ อย่างนั้น

ช่วงเวลาที่ผ่านมา เขาจึงยังคงตั้งหน้าตั้งตาค้าขายตามแม่ ขณะเดียวกัน ไม่ทิ้งการเรียนตามที่พ่อแนะนำ ทำอย่างนี้เรื่อยมา จนเรียนจบปริญญาตรี จึงเริ่มทำงานประจำที่สำนักงานบัญชี เสาร์-อาทิตย์ ยังช่วยแม่ขายของที่จตุจักร แต่ด้วยความที่ทำงานบัญชีตอนบ่ายโมง-3 ทุ่ม ทำให้เกิดไอเดียว่า ช่วงเช้ายังมีเวลาว่างอยู่ จึงขายข้าวเหนียวหมูสวรรค์ที่ราชดำริในช่วงเช้า ก่อนไปทำงานอีกอย่างหนึ่ง ส่วนที่จตุจักรก็เปิดร้านเพิ่มอีก เรียกว่าเป็นคนที่ไม่หยุดขวนขวายในการทำมาหากินจริงๆ

ชอบทำ ชอบทาน

“ผมทำหลายอย่างมากจนเริ่มไม่มีเวลา เลยตัดงานบัญชีไป ช่วงนั้นเริ่มเป็นที่รู้จักเพราะมีทีวีและหนังสือพิมพ์หลายฉบับมาสัมภาษณ์เรื่องขายซาลาเปา พอดีตอนนั้นทางเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป อยากได้ซัพพลายเออร์มาเปิดร้านอาหารไทยในห้างสรรพสินค้าในเครือ ผมได้รับเลือกให้ไปเปิดร้านข้าวแกงที่พารากอน ชื่อร้าน ‘ครัวเบญจรงค์ by จากัวร์’ ซึ่งขายดีมาก เรียกว่าขายดีที่สุดในฟู้ดคอร์ตของพารากอนขณะนั้น”

“ทำอยู่ 2 ปีจนรู้สึกเหนื่อยมาก เลยหยุดทำแล้วไปเยอรมันอยู่พักหนึ่ง เพื่อไปทำ Cooking Show ให้กับเพื่อนฝรั่ง อยู่ที่นั่นทำให้ได้เรียนรู้มากมายและทำให้ตระหนักว่า การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเป็นสิ่งสำคัญ พอกลับมาจึงไปเรียนทำอาหารที่สถาบันแห่งหนึ่ง ก่อนเข้าวงการเชฟเต็มตัว”

ระหว่างนั้นเชฟจากัวร์ ได้มีโอกาสทำรายการทีวีหลายรายการ อันเป็นการเปิดทางให้พบเชฟมืออาชีพมากมาย ทำให้ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนทักษะ แนวคิด และประสบการณ์ต่างๆ จนเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญในด้านการทำอาหาร แต่ก็เช่นที่เชฟจากัวร์ บอก ตัวเองมีเลือดของพ่อและแม่หล่อหลอมอยู่ จึงยังคงยึดมั่นคำสอนของพ่อเรื่องการใฝ่รู้ใฝ่เรียน ด้วยการศึกษาต่อปริญญาโท หลักสูตรการจัดการโรงแรมและภัตตาคาร วิทยาลัยดุสิตธานี ทำให้เขาเกิดไอเดียที่จะสร้างแบรนด์ต่อไป

“วิทยาลัยดุสิตธานี สอนบริหารจัดการธุรกิจอาหาร ไม่ใช่แค่เก่งทำกับข้าว ทำให้เรารู้จักระบบ สามารถวางแผนการจัดการที่ดี และรู้จักคิดนอกกรอบ เมื่อรวมเข้ากับประสบการณ์ที่ได้รับมาตลอดชีวิตการทำงาน ทำให้เกิดไอเดียที่จะเปิดร้านอาหาร Sai & Lakeview ซึ่งเป็นร้าน Casual Dining ที่ขอนแก่น ก่อนจะเปิดอีกร้านที่อยู่ใกล้ๆ กันชื่อว่า SARN Khonkaen Fine Dining ซึ่งถือเป็นร้าน Fine Dining แห่งแรกและแห่งเดียวในขอนแก่น” เชฟจากัวร์ บอก

กิจการปัจจุบัน

แต่ก็มีหลายคนสงสัย ทำไมถึงเลือกเปิดร้านหรูระดับ Fine Dining ที่ขอนแก่น แทนที่จะเปิดในกรุงเทพฯ หรือเมืองท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆ เชฟจากัวร์ เฉลยกับ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ว่า

“โควิด ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยน เราพบว่า กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ล้วนต้องพึ่งพาคนภายนอกหมดเลย แล้วทำไมเราไม่เปิดร้านในจังหวัดที่สามารถพึ่งพาคนภายในได้ ผมตระเวนไปดูทำเลทั้งระยอง โคราช พัทลุง สงขลา หาดใหญ่ กระทั่งมาเจอว่า ขอนแก่น ยังเป็น Blue Ocean เป็นตลาดที่ยังมีโอกาสเปิดธุรกิจได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นร้านเหล้าเล็กๆ ขนาดไม่ใหญ่โต

น่าทาน

โดยอาศัยชื่อเสียงของเรา ประสบการณ์ ความรู้ และพละกำลังที่มีตัดสินใจมาปักธงที่นี่ ซึ่งนับว่าเป็นความคิดที่ไม่ผิดเพราะขายดีมาก” เชฟจากัวร์ บอกก่อนยิ้มปลื้ม

ลูกค้าตอบรับ น่าชื่นใจ

สุดท้าย เชฟจากัวร์ ฝากแนวคิดและแรงบันดาลใจในการประสบความสำเร็จทิ้งท้ายไว้ด้วย ว่า

“จากซาลาเปารถเข็น สามารถก้าวสู่ Fine Dining เพราะรู้จักการบริหารจัดการ และไม่ว่าจะเป็นรถเข็นหรือร้านใหญ่แค่ไหนก็ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีทั้งสิ้น นอกจากนี้ ต้องคิดนอกกรอบ เชื่อมั่นในตัวเองว่าต้องประสบความสำเร็จได้ ไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ที่สำคัญคือ ต้องลงมือเอง เพราะต่อให้เรียนเยอะ แต่ไม่ลงมือทำก็ไม่ได้ ถ้าผิดก็ถือเป็นครู”

หมายเหตุ : เผยแพร่แล้วเมื่อ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2565