ซอฟต์พาวเวอร์ หนุนตั้ง ฮาลาลทาวน์ ศูนย์กลางอาหารมุสลิม รับอาคันตุกะทั่วโลก

ซอฟต์พาวเวอร์ หนุนตั้ง ฮาลาลทาวน์ ศูนย์กลางอาหารมุสลิม รับอาคันตุกะทั่วโลก

จากการบรรยายในหัวข้อ “ทิศทางการขยายตลาดฮาลาลไทยในตะวันออกกลาง” โดยอดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย คุณวรวุฒิ อุ่นใจ เมื่อเร็วๆ นี้ มีเนื้อหาน่าสนใจตอนหนึ่งว่า ตลาดสินค้าฮาลาล เป็นตลาดที่ใหญ่มาก จากการคาดการณ์ของ State of the Global Islamic Economy ระบุว่า ในปี 2025 หรือ 2568 มูลค่านำเข้าอาหารฮาลาลทั่วโลกจะสูงถึง 8 ล้านล้านบาท

โดยในส่วนของประเทศไทย มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 หรือ ปี 2573 ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังประเทศมุสลิมได้ 5% ของตลาดโลก หรือประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งโอกาสและความเป็นไปได้มีสูง จากศักยภาพที่มี

คุณวรวุฒิ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันไทยส่งออกอาหารฮาลาลไปยังประเทศมุสลิม คิดเป็นประมาณ 2-3% ของตลาดโลก ดังนั้น หากจะส่งออกให้ได้ 5% ภายใน 8 ปี ข้างหน้า เท่ากับว่าต้องพัฒนาให้เติบโตอีกประมาณ 60%

นอกจากนี้ อาหารฮาลาล ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย เพราะหากเรามีอาหารฮาลาล  รองรับพี่น้องชาวมุสลิมอย่างเพียงพอ เช่น มีศูนย์อาหารฮาลาล หรือ ฮาลาลทาวน์ เป็นย่านดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นประเด็นที่น่าทำมาก อาจจะแยกเป็นจังหวัด กระจายอยู่ทั่วประเทศ

“การจะลุยอาหารฮาลาล ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ต้องมี คือ ข้อมูลความต้องการของตลาดอาหารฮาลาล ว่ามีกี่ประเทศในโลก จัดลำดับว่าประเทศไหน บริโภคอาหารฮาลาลมากที่สุด และอาหารที่นิยมบริโภคมีอะไรบ้าง พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างไร กำลังซื้อต่อครั้งมากน้อยแค่ไหน ต้องทำเป็นฐานข้อมูล ซึ่งปัจจุบัน ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันมีหน่วยงานใดทำไว้บ้าง แต่ถ้าจะพัฒนาในระดับโลกต้องมีข้อมูลเหล่านี้”

“โดยเฉพาะถ้ามุ่งส่งออก นับว่าเป็นสิ่งจำเป็น ที่ต้องแม่น ละเอียด นำไปใช้งานได้ ข้อมูลเหล่านี้ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องมี และต้องเปิดให้ผู้ประกอบการ เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ มีบทวิเคราะห์และคำแนะนำที่ชัดเจน” อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าว

และว่า สิ่งสำคัญอีกประการคือ การจัดการขายสินค้าออนไลน์ วันนี้เท่าที่ทราบ ประเทศไทย มี ฮาลาลมาร์เก็ตเพลส บ้าง แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก ต้องเร่งทำ อย่าให้เสียโอกาสไปเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ตนเสนอให้รัฐบาล ทำฐานข้อมูลเพื่อสร้างตลาดอีคอมเมิร์ซ สมัยนั้น อาลีบาบา เคนเซน ยังไม่เติบโต ถ้าทำตั้งแต่วันนั้น ป่านนี้เราก็มีสินค้าชุมชนไปขายทั่วโลกแล้ว

นอกจากนี้ คุณวรวุฒิ ยังแสดงความเป็นห่วงด้วยว่า วันนี้รัฐบาลได้เก็บฐานข้อมูลคนไทยไว้เป็นจำนวนมาก หากปล่อยให้ไปอยู่ในมือต่างชาติ เหมือนที่ทุกวันนี้ ต่างชาติมีฐานข้อมูลคนไทยหลายสิบล้านคน จากการซื้อของผ่านออนไลน์ วันดี คืนดี เราขายสินค้าดี เขาก็ปิดกั้นการมองเห็น กดดันให้ต้องซื้อโฆษณา และสุดท้ายขายของดี ต้องไปจ่ายให้กับแพลตฟอร์ม กันหมด

เรื่องแบบนี้ ถ้ารัฐบาลไทยเข้าใจและผลักดันให้เกิดการค้าขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มของเรา และผลักดันให้เกิดฮาลาลมาร์เก็ตเพลส ดูแลไม่ให้ล้มหายตายจาก ก็จะทำให้ตลาดอาหารฮาลาลเติบโตได้ แต่หากคิดทำจริงจัง รัฐต้องปล่อยให้เอกชนทำ เพราะราชการทำธุรกิจไม่เคยประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจ เพราะธุรกิจเป็นเรื่องของความเสี่ยง

ในขณะที่แพลตฟอร์มต่างชาติ เขายอมขาดทุนปีละหลายพันล้านบาทในช่วงแรก เพื่อต้องการฐานข้อมูลที่มากพอ จนวันนี้ ไม่มีคู่แข่ง จึงทำให้ประเทศจีน พ้นความยากจนกันทั้งประเทศแล้ว

“เชื่อว่า อาหารฮาลาลของไทย ขายได้ เพราะรสชาติ หากใช้ซอฟต์พาวเวอร์เข้ามาช่วย เรื่อง การวิจัยและพัฒนา ยกระดับเรื่องรสชาติ ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ธุรกิจไปได้ดี นอกจากนี้ รัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน โดยทุนใหญ่กับทุนเล็ก ร่วมมือกัน อย่าง อาลีบาบา ร่วมมือกับ ผู้ประกอบการชุมชน นำสินค้าไปขายบนแพลตฟอร์ม เป็นการเอื้อซึ่งกันและกัน ความเหลื่อมล้ำจะไม่เกิด”

“เพราะคนตัวใหญ่อยู่ได้เพราะสินค้าของคนตัวเล็ก ประชากรก็จะมีแต่ชนชั้นกลางกับคนรวย อย่างไรก็ตาม การค้าออนไลน์ระบบขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ต้องมีด้วย เพื่อเอื้อกัน และในช่วงแรกรัฐบาลควรให้การสนับสนุนส่งฟรีให้กับผู้ประกอบการด้วย” คุณวรวุฒิ กล่าว