ค้นพบแล้ว! วิธีลด-ชะลอ การตกกระของกล้วยไข่ เพิ่มมูลค่าผลไม้ไทย ส่งออกฉลุย

ค้นพบแล้ว! วิธีลด-ชะลอ การตกกระของกล้วยไข่ เพิ่มมูลค่าผลไม้ไทย ส่งออกฉลุย
ค้นพบแล้ว! วิธีลด-ชะลอ การตกกระของกล้วยไข่ เพิ่มมูลค่าผลไม้ไทย ส่งออกฉลุย

ค้นพบแล้ว! วิธีลด-ชะลอ การตกกระของกล้วยไข่ เพิ่มมูลค่าผลไม้ไทย ส่งออกฉลุย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทีมนักวิจัยสรีรวิทยาและอณูชีววิทยาของพืช ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ คิดค้นวิธีการลดและชะลอการตกกระของผลกล้วยไข่ด้วยเมทิลซาลิไซเลต ผ่านการควบคุมการตายของเซลล์อย่างเป็นระบบ (Programmed Cell Death)

ซึ่งผลงานวิจัยนี้ได้ให้องค์ความรู้ใหม่ที่สร้างประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้จำหน่าย จากการเล็งเห็นความสำคัญและแก้ปัญหาคุณภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่ภาคการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะการคงสภาพของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ชะลอไม่ให้เสียหายระหว่างการขนส่ง ไปจนถึงวางจำหน่าย

เดิมประเทศไทยเพาะปลูกกล้วยไข่เพื่อการบริโภคในประเทศเพียงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ กล้วยไข่จึงเป็นหนึ่งในผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง ในปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 210.5 ล้านบาท

ทีมนักวิจัยฯ ประกอบด้วย ผศ.ดร.กอบเกียรติ แสงนิล, ผศ.ดร.อุษรา ปัญญา และนายสิรวิชญ์ โชติกะคาม นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิชาชีววิทยา ค้นพบครั้งแรกว่าการตกกระของผลกล้วยไข่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการตายของเซลล์อย่างเป็นระบบ (Programmed Cell Death) ที่ถูกกำหนดไว้แล้ว เป็นการตายของเซลล์เปลือกผลที่มีขั้นตอนและกระบวนการที่ถูกกระตุ้นโดยอนุพันธ์ออกซิเจนที่ว่องไว (Reactive Oxygen Species)

ผ่านวิถีไมโทคอนเดรีย ที่นำไปสู่การกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์แคสเปส (Caspase) และเอนโดนิวคลีเอส (Endonuclease) จนทำให้นิวเคลียสของเซลล์แตกออกเป็นส่วนเล็กๆ (Nuclear Fragmentation) และนำไปสู่การตายของเซลล์ในที่สุด

พบว่าเมื่อนำผลกล้วยไข่หลังการเก็บเกี่ยวมาแช่ในสารละลายเมทิลซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) ความเข้มข้น 2 มิลลิโมลาร์ นาน 30 นาที สามารถลดและชะลออาการตกกระออกไปได้อีก 2 วัน โดยมีผลส่งเสริมศักยภาพในการป้องกันออกซิเดชัน ช่วยรักษาโครงสร้าง-หน้าที่ของไมโทคอนเดรีย และลดการปลดปล่อยไซโตโคมซี (Cytochrome C) ที่กระตุ้นการทำงานของแคสเปส

งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติแล้ว 2 เรื่อง และกำลังรอผลการตีพิมพ์อีก 1 เรื่อง ผลงานวิจัยนี้ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่แก่วงการการศึกษา และสร้างคุณค่านานัปการแก่การเกษตรไทยอย่างมาก

โดยงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นบันไดนำไปสู่การต่อยอดวิจัยในการพัฒนานำรูปแบบการใช้เมทิลซาลิไซเลตที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมการตกกระของผลกล้วยไข่ หรือการตายของเซลล์อย่างเป็นระบบที่เกิดกับผลไม้อื่นต่อไปในอนาคต

โดยจะเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรประเทศไทยถือว่าเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงมาก แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีสถานการณ์โควิดเข้ามา แต่มูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยกลับเพิ่มมากขึ้นถึง 5.7 พันล้านดอลลาร์ หรือนับเป็น 6 เท่าของการส่งออกผลไม้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา