เปิดตัวเลข ครึ่งปี 65 ธุรกิจเลิกประกอบกิจการ เพิ่มขึ้น 22% 

เปิดตัวเลข ครึ่งปี 65 ธุรกิจเลิกประกอบกิจการ เพิ่มขึ้น 22% 

วันที่ 27 ก.ค. 2565 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนมิถุนายน 2565 และครึ่งปีแรก 2565 พบว่า

ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนมิถุนายน 2565 มีจำนวน 6,661 ราย เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 20,744.36 ล้านบาท ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 612 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 432 ราย คิดเป็น 6% และอันดับ 3 คือธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 276 ราย คิดเป็น 4%

ขณะที่ ธุรกิจจัดตั้งใหม่ครึ่งปีแรก 2565 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 40,301 ราย ลดลง 2% โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 280,604.79 ล้านบาท

ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 3,992 ราย คิดเป็น 10% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 2,165 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 1,388 ราย คิดเป็น 3%

ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนมิถุนายน 2565 มีจำนวน 1,463 ราย เพิ่มขึ้น 40% โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการจำนวน 5,168.37 ล้านบาท ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 133 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 71 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร จำนวน 39 ราย คิดเป็น 3%

ธุรกิจเลิกประกอบกิจการครึ่งปีแรก 2565 มีจำนวน 6,009 ราย เพิ่มขึ้น 22% โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการจำนวน 58,511.95 ล้านบาท ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 610 ราย คิดเป็น 10% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 283 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 175 ราย คิดเป็น 3%

ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ (ณ วันที่ 30 มิ.ย. 65) จำนวน 842,632 ราย มูลค่าทุน 20.22 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 202,814 ราย คิดเป็น 24.07% บริษัทจำกัด จำนวน 638,470 ราย คิดเป็น 75.77% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,348 ราย คิดเป็น 0.16%

นายทศพล กล่าวอีกว่า ภาพรวมการจัดตั้งธุรกิจในเดือนมิถุนายน 2565 และครึ่งปีแรก 2565 พบว่า มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2565 โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็น 9% และครึ่งปีแรกของปี 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพียง 2% เนื่องจากในเดือนมีนาคม 2564 มีจำนวนการจัดตั้งสูงที่สุดในรอบ 7 ปี อีกทั้งจำนวนการจัดตั้งใหม่ในครึ่งปีแรก 2565 สอดคล้องกับที่กรมฯ คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 40,000 ราย

จากต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม) จากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทำให้ต้นทุนสินค้าและบริการ รวมไปถึงค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคและทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังปรับตัวเพิ่มขึ้น จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนที่เริ่มมีการฟื้นตัว จำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับมาทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ที่เริ่มคลายความกังวลต่อโรคโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของประชาชนเริ่มกลับสู่สถานการณ์ปกติ

จากข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ของนิติบุคคล 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2562-2564) พบว่า จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) จะสูงกว่าจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งในช่วงครึ่งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค.) ทุกปี จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ตลอดทั้งปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 70,000-75,000 ราย

สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวเดือนมิถุนายน 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 47 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 31 ราย

โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 14,872 ล้านบาท เป็นผลให้ในปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น จำนวน 284 ราย เพิ่มขึ้น 8% เงินลงทุน 69,949 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (มกราคม-มิถุนายน 2564)

นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด 3 สัญชาติแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 11 ราย เงินลงทุน 2,961 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 9 ราย เงินลงทุน 224 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 1,233 ล้านบาท ตามลำดับ