ผู้เขียน | พลชัย เพชรปลอด |
---|---|
เผยแพร่ |
รู้ไว้ใช่ว่า! การทำธุรกิจ หากไม่อยาก โดนแบน ต้องมีทั้ง จริยธรรม และ ความรับผิดชอบต่อสังคม
ช่วงนี้ผมได้ยินการถามหา “จริยธรรม” ค่อนข้างบ่อย หรือแม้แต่ช่วงก่อนหน้าที่แพลตฟอร์มออนไลน์เจ้าดังถูกถามหา “ความรับผิดชอบต่อสังคม” จนถึงขั้นที่ลูกค้ารวมหัวกันแบนไม่ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม
ในการทำธุรกิจ จริยธรรม ศีลธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม คือ เรื่องราวเดียวกันครับ
เรามาทำความเข้าใจความสัมพันธ์กันสักหน่อย เริ่มต้นจากจริยธรรม ซึ่งหมายถึง วิถีประพฤติ ปฏิบัติ ที่ดีงาม ถ้าถามว่าดีงามอย่างไร ก็คงแล้วแต่สังคมนั้นๆ กำหนดครับ สังคมก็มักใช้มาตรฐานทางวัฒนธรรม ประเพณี บทบัญญัติทางศาสนา ค่านิยม เอามารวมๆ กัน แล้วสร้างข้อกำหนดแบบไม่มีลายลักษณ์อักษรขึ้นมา
เมื่อทุกคนในกลุ่มสังคมนั้นรับรู้ผ่านการถ่ายทอดแบบรุ่นสู่รุ่น สมาชิกของสังคมก็ยึดถือปฏิบัติ นั่นคือ “จริยธรรม” วิถีปฏิบัติที่ทุกคนในสังคมคาดหวังจากสมาชิกที่อยู่ร่วมกันว่าจะทำตาม โดยไม่ต้องมีใครไปคอยจ้องจับผิด คอยบังคับ ข่มขู่
ถ้าทำได้…โลกก็สงบสุขไปอีกนาน
ปัญหาคือ มักจะมีคนที่ปลิ้นออกนอกลู่เสมอ “ปัญหาในโลกนี้ เกิดจากคนห่วยๆ เพียงไม่กี่คน”
เมื่อมีคนไม่ปฏิบัติตาม ก็เริ่มต้องหามาตรการที่เข้มข้นรุนแรงขึ้น จนอาจต้องถึงขั้นกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร กำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน “กฎหมาย” ก็อุบัติขึ้นในโลก เหตุจากพวกไร้จริยธรรมนำพาไปสู่จุดนั้น
ดังนั้น สรุปได้ง่ายๆ ว่า จริยธรรม ด้านหนึ่ง คือ วิถีปฏิบัติที่ดีงามที่คนในสังคมยอมรับ และอีกด้านหนึ่ง ก็คือความคาดหวังจากผู้คนในสังคม หวังให้สมาชิกของสังคมทำตามวิถีนั้น
จริยธรรม ไม่ใช่กฎหมาย โดยปกติจึงไม่มีบทลงโทษ แต่เป็นเรื่องไม่ดีไม่งาม ไม่ถูกไม่ควร เสียมากกว่า
บางทีเราก็ได้ยินคำว่า ศีลธรรม จริยธรรม พูดควบคู่กันไป ศีลธรรมก็จะเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับแนวคิดหรือบทบัญญัติทางศาสนา ซึ่งส่วนหนึ่งมักถูกหยิบยกเอามาร่วมเป็นข้อกำหนดของจริยธรรม
เวลานักธุรกิจ นักการเมือง ทำบางเรื่องบางราวที่สังคมรู้สึกว่า “มันไม่ใช่”
เรามักได้ยินคนพวกนี้ชอบออกมาปฏิเสธว่า “ไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย” …แต่ผิดจริยธรรมไง
จริยธรรม ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ผิดความคาดหวังของสังคม ที่มีต่อคุณไงล่ะครับ
การทำธุรกิจ บ่อยครั้ง มักเกิดปัญหา เอาเปรียบผู้บริโภคบ้างล่ะ หลอกลวงบ้างล่ะ ให้ข้อมูลไม่ชัดเจน เพื่อหวังการตีความผิดแต่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจบ้างล่ะ…ฯลฯ รวมๆ เรียกว่า “ธุรกิจเอาเปรียบผู้บริโภค”
บางเรื่องผิดกฎหมาย ก็สามารถไปจัดการดำเนินคดีกันได้ แต่บางเรื่อง “ผิดจริยธรรม” เอาผิดไม่ได้ ได้แต่ “เจ็บใจ”
แต่ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน เขามีเครือข่าย เขาสื่อสารกันได้รวดเร็ว เขารักษาสิทธิ์ของเขา ความเจ็บใจของผู้บริโภค พร้อมถูกแสดงออกด้วยการ “ไม่สนับสนุน” ธุรกิจนั้น
หลายธุรกิจ หลายอาชีพ เข้าใจผลกระทบนี้มานานแล้ว จึงสร้างข้อกำหนดด้านจริยธรรมให้วิชาชีพของตัวเอง ที่เราเรียกว่า “จรรยาบรรณ” ซึ่งหมายถึง จริยธรรมของวิชาชีพนั้นๆ กำหนดกันเองในกลุ่มวิชาชีพ หาทางดูแลลงโทษกันในหมู่สมาชิกอาชีพเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค
กระทั่งราว 20 กว่าปีที่ผ่านมา แนวคิดเรื่อง “ธุรกิจควรรับผิดชอบต่อสังคม” ก็กระจ่างชัดขึ้นในโลก เพราะการแข่งขันที่นับวันรุนแรงขึ้น ทำให้หลายธุรกิจเริ่มห่างไกลจาก “จริยธรรม”
CSR (Corporate Social Responsibility) แนวคิดเรื่อง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” จึงถือกำเนิดขึ้นมา แล้วแพร่ไปสู่ธุรกิจต่างๆ ให้ตระหนักว่า ทุกย่างก้าวของธุรกิจที่คุณกำลังดำเนินงาน “ต้องรับผิดชอบต่อสังคม”
รับผิดชอบอย่างไร…ง่ายสุด ก็แค่ ทำตัวดีมีจริยธรรม
แต่…องค์กรธุรกิจ เป็นเพียงแค่ นิติบุคคล บุคคลตามกฎหมาย ที่สมมติว่าเป็นองค์กรนี้เสมือนคนหนึ่งคน ทว่า…ในความเป็นจริง องค์กรใดจะมีชีวิตจิตใจ มีจริตไปในทางใด ขึ้นอยู่กับ “บุคคลในองค์กร”
เพราะคนในองค์กร คือ ผู้ขับเคลื่อนองค์กร
องค์กรนี้ดี ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ก็เพราะ…คนในองค์กรนั้นเป็นคนดี ได้คนดีมาบริหาร
องค์กรนี้เลวได้ใจ เผลอไม่ได้ไล่ไม่ทัน มันโกง มันเอาเปรียบสารพัด ก็เพราะ…องค์กรนั้น ได้รวมคนเลวเอาไว้
ลองคิดดูว่า ถ้าเราเจอองค์กรที่มีแต่คนดี คนที่มีจริยธรรม เป็นผู้บริหาร เป็นพนักงาน ไม่ต้องถามหาเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมให้เปลืองน้ำลาย เพราะเชื่อมั่นได้เลยว่า องค์กรนั้น คนดีๆ เหล่านั้น พวกเขาจะรับผิดชอบต่อสังคม โดยไม่ต้องให้ใครมาบอก มาเตือน
ตรงข้าม องค์กรที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม หลับตาฟันธงได้เลยครับ ว่าทั้งผู้บริหาร พนักงาน คงเลวเสมอกัน
ความไม่รับผิดชอบต่อสังคมของหลายองค์กร ถูกตอบโต้จากผู้บริโภคยุคนี้ ด้วยการแปรเปลี่ยนความเจ็บใจเป็นพลังการต่อต้าน การแบนสินค้าและบริการ การส่งต่อเรื่องราวเชิงลบ
บางทีธุรกิจ ไม่ต้องคิดโครงการ CSR อะไรให้ซับซ้อนมากมาย เพียงแค่ธุรกิจของเรา สรรหาแต่คนดี คนที่มีจริยธรรม เข้ามาบริหาร เข้ามาเป็นพนักงาน คนที่มีจริยธรรมเหล่านั้น เขามีพื้นฐานรับผิดชอบต่อความคาดหวังของสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงมั่นใจได้ว่า…
พวกเขาจะนำพาองค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างสง่างาม ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงใจ…