ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
งานวิจัยกัญชา 60 เรื่อง ชู มะเร็ง นอนไม่หลับ สุขภาพจิต มุ่งไทย เป็นเมดิคัลฮับ
นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการรวบรวมผลงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง กรมวิชาการ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ตั้งแต่มีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ในปี 2562
พบว่า มีงานวิจัยทั้งสิ้น 60 ฉบับ โดยเป็นการศึกษาด้านการนำไปใช้ประโยชน์สูงสุด 31 ฉบับ (55.00%) รองลงมาเป็นการศึกษาผลกระทบเชิงนโยบายและการออกแบบระบบ 14 ฉบับ (23.34%) การศึกษาสายพันธุ์และการปลูกที่มีประสิทธิภาพ 8 ฉบับ (13.33%) และน้อยที่สุดเป็นเรื่องการพัฒนาสูตรตำรับและผลิต 5 ฉบับ (8.33%)
ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กล่าวต่อว่า เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ทำให้เห็นแนวทางของการศึกษาวิจัยต่อยอดใน 3 กลุ่มโรคหรืออาการ ได้แก่ มะเร็ง นอนไม่หลับ และปัญหาสุขภาพจิตที่การรักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการวิจัยทั่วโลก
ในส่วนของมะเร็งนั้น แม้ยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนว่ายากัญชารักษามะเร็งได้ แต่จากการการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดกัญชาของกรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า สารสกัดที่มีความเข้มข้นของ THC และ CBD ที่แตกต่างกันสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง โดยที่กรมการแพทย์ กำลังวางแผนวิจัยเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม นพ.กิตติ ระบุว่า จากงานวิจัยหลายชิ้นที่ดำเนินการโดยกรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และโรงพยาบาลหลายแห่งในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ผลที่ตรงกัน คือ ยากัญชาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ซึ่งการวิจัยเหล่านี้เป็นหลักฐานสนับสนุนให้มีการคัดเลือกยากัญชาทั้ง 2 ตำรับ คือ THC เด่น และ THC:CBD (1:1) เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ
ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาเหล่านี้ได้มากขึ้น ในประเด็นเรื่องบรรเทาอาการนอนไม่หลับนั้น พบว่า ยาแผนไทยหลายตำรับ ทั้งยาศุขไสยาศน์ ยาน้ำมันกัญชาอาจารย์เดชา และยาน้ำมันกัญชาทั้ง 5 มีประสิทธิผลในการบรรเทาอาการนอนไม่หลับ
ปัจจุบันทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กำลังศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของแต่ละตำรับว่ามีกลไกการออกฤทธิ์ที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เพื่อทำให้เข้าใจและใช้ยาได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถใช้เพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบันได้อย่างปลอดภัย
สุดท้าย ในกลุ่มโรคทางจิตเวช ที่หลายโรคยังตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานได้ไม่ดีนัก กรมสุขภาพจิต ก็ได้ตั้งเป้าวิจัยเพื่อหาทางเลือกใหม่ที่ปลอดภัย เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ
ผอ.สถาบันกัญชาทางการแพทย์ กล่าวว่า ทั้งนี้ งานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ผู้สั่งใช้ยาและประชาชนเกิดความมั่นใจ จากรายงานการตรวจราชการ พบว่า ในปี 2565 ไตรมาสที่ 3 จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากัญชาทางการแพทย์เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2664 เมื่อผู้ป่วยต้องการยามากขึ้นก็ส่งผลให้มีภาคเอกชนเข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รายงานว่า มีผู้ประกอบการที่เข้ามาในตลาดจำนวนมาก ถึงแม้ยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรกลุ่มรักษาโรค ยังมีน้อย เมื่อเทียบกับอาหารและเครื่องสำอาง แต่ก็มีผู้สนใจสอบถามแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์และขึ้นทะเบียนมาเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้น ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ก็พบว่า ยังมีภาคเอกชนที่สนใจต่อยอดการให้บริการในโรคที่การรักษามาตรฐานยังไม่ได้ผลดีให้กับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเมดิคัล ฮับของรัฐบาล เพื่อเร่งหารายได้เข้าประเทศ นอกจากการเปิดปลายทางของห่วงโซ่ให้ชัดเจน กระทรวงสาธารณสุข ยังให้ความสำคัญกับการติดตามและกำกับผลกระทบจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งรับผิดชอบหลักโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
รวมถึงการพัฒนาต้นทางโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทยฯ เช่น การพัฒนาสายพันธุ์กัญชาไทย การศึกษาการปลูกที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ และในปัจจุบันกำลังศึกษาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับ 3 โรค รวมถึงอาการที่กระทรวงกำลังให้ความสนใจ การวิจัยหลังจากนี้น่าจะดำเนินการได้เร็วขึ้น เพราะเริ่มเห็นกลุ่มโรคที่ได้ผลดีชัดเจนแล้ว ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ก็เริ่มผ่อนคลาย บุคลากรจะได้ทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาวิจัยมากขึ้น