เปิดแนวโน้ม ตลาดงาน ปี 65 ทักษะอะไร คนทำงานยุคใหม่ต้องมี

เปิดแนวโน้ม ตลาดงาน ปี 65 ทักษะอะไร คนทำงานยุคใหม่ต้องมี

เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานข่าว ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 เป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในประเทศไทย ส่งผลให้เศรษฐกิจมีความเหวี่ยง และหดตัวสูง จึงทำให้เกิดอัตราการว่างงานเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่ตอนสิ้นปี 2564 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2.25% (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์กลับค่อยๆ ดีขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการเริ่มมั่นใจและเปิดรับคนเข้าทำงานอีกครั้งในไตรมาส 1 ปี 2565

ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัว จึงทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมองหาคนมาพัฒนาธุรกิจ ทั้งยังทำให้ผู้หางานเริ่มมีความหวัง ด้วยเหตุนี้ จ๊อบส์ดีบี จึงสำรวจภาพรวมและแนวโน้มตลาดงานปี 2565 (SURVEY TO SURVIVE : เจาะ INSIGHT แนวโน้มตลาดงาน ทักษะอะไรที่คนทำงานยุคใหม่ต้องมี) โดยอ้างอิงจากจำนวนประกาศงานและข้อมูลการสมัครงาน

“ดวงพร พรหมอ่อน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้โควิด-19 จะทำให้หลายธุรกิจต้องได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล แต่มี 4 ธุรกิจที่ได้โอกาสเติบโต โดยจากฐานข้อมูลและผลสำรวจภาพรวมและแนวโน้มตลาดงานของจ๊อบส์ดีบี พบว่าภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจที่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว มี 4 ธุรกิจ คือ

1. ธุรกิจสารเคมี พลาสติก กระดาษ และปิโตรเคมี ซึ่งได้รับผลพวงเชิงบวกมาจากการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 300% จากการใช้บริการส่งอาหารในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด

2. ธุรกิจไอที เติบโตจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งการสนับสนุนของรัฐบาลที่ผลักดันการนำเอาอุปกรณ์ไอทีมาประยุกต์ใช้ ทำให้มีผู้บริโภคใช้บริการเกี่ยวกับดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 30% ทั้งนี้ มีบริษัทที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน จำนวนมากกว่า 60% ลงประกาศงานหาคนเพิ่ม และพร้อมเสนออัตราเงินเดือนที่สูง เพื่อดึงดูดมนุษย์ไอทีเข้าทำงาน

3. ธุรกิจการผลิต ขยายตัวก้าวกระโดด มีการผลิตเพิ่มขึ้น หลังจากมาตรการควบคุมโรคระบาดเริ่มผ่อนปรนลง โดยจังหวัดชลบุรีมีประกาศงานสูงสุดถึง 16.5% ส่วนตำแหน่งงานระดับเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น 79.5% เป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของประกาศงานทั้งหมด

4. ธุรกิจการแพทย์และเภสัชกรรม ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาดหลายปีที่ผ่านมา โดยงานห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัยและพัฒนา เพิ่มสูงสุดที่ 51.95% นอกจากนั้น โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มเปิดตัวโรงพยาบาลเสมือนจริง (Virtual Hospital) นำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ให้คำปรึกษา และติดตามการรักษาแบบทางไกล

“สถานการณ์โควิด-19 มีบทบาทส่งเสริมและผลักดันการดำเนินธุรกิจ การซื้อขาย และการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ ช่วยกระตุ้นให้สายงานเหล่านี้พลิกกลับขึ้นมาเป็นสายงานสำคัญ และเป็นฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนธุรกิจปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เร็ว ย่อมได้เปรียบเชิงธุรกิจมากกว่า”

“ดวงพร” กล่าวว่า ครึ่งปีแรกของปี 2565 เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจภาพรวมปี 2565 ยังคงชะลอตัว การที่มีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการมั่นใจ และจ้างงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเฝ้าระวังและจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

จึงส่งผลให้ปี 2565 มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 2% ส่วนด้านตำแหน่งงานว่างปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30% และคาดการณ์การจ้างงานครึ่งปีหลังจะมีการจ้างงานมากขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ในปี 2564 ที่ผ่านมา ธุรกิจที่มีประกาศรับสมัครงานสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ หนึ่ง ธุรกิจไอที 11.3% สอง ธุรกิจขายส่ง ขายปลีก คิดเป็น 10.8% สาม ธุรกิจธนาคารและการเงิน คิดเป็น 8.4% สี่ ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ 8.1% และห้า ธุรกิจขนส่ง 8.1%

ขณะที่สายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ หนึ่ง สายงานไอที 19.1% สอง สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ 19.0% สาม สายงานวิศวกรรม 13.9% สี่ สายงานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ 11.4% และห้า สายงานบัญชี 9.0%

“สายงานไอทียังคงเป็นสายงานมนุษย์ทองคำที่ตลาดงานพร้อมแย่งชิงตัว และเป็นสายงานที่เงินเดือนขึ้นอันดับ 1 มาตลอดตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 โดยจำนวนบริษัทที่ให้อัตราเงินเดือนของปี 2564 เพิ่มจากปี 2563 มีถึง 41% สำหรับตำแหน่งงานไอทีที่ตลาดงานต้องการมากที่สุด

ได้แก่ 1. โปรแกรมเมอร์ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ 2. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล/นักวิเคราะห์ข้อมูล 3. คนดูแลระบบไอที 4. คนดูแลความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ 5. คนดูแลปฏิบัติการคลาวด์ 6. คนที่มีทักษะเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)”

ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัว ผู้ประกอบการเริ่มมองหาคนมาพัฒนาธุรกิจ ผู้หางานก็เริ่มมีความหวัง โดยคนสนใจสมัครงานในธุรกิจขายส่ง-ขายปลีก และขนส่งมากขึ้น สายงานที่มีจำนวนผู้ส่งใบสมัครสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ หนึ่ง สายงานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ 14.3% สอง สายงานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ 11.7% สาม สายงานธุรการและทรัพยากรบุคคล 10.9% สี่ สายงานวิศวกรรม 10.3% และห้า สายงานไอที 5.7%

“ดวงพร” กล่าวด้วยว่า จ๊อบส์ดีบี ร่วมมือกับบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และเดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) จัดทำแบบสำรวจระดับโลก “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัล” (Decoding Digital Talent Survey) จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2 แสนคน ใน 190 ประเทศ เพื่อศึกษาความต้องการที่เปลี่ยนไปของแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลทั่วโลก

จากผลสำรวจพบว่า แรงงานที่มีทักษะดิจิทัลมีความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนงานภายใต้สายงานเดิม โดยมีปัจจัยด้านความต้องการแสวงหาโอกาสในการก้าวหน้าอัตราค่าตอบแทนที่สูงขึ้น และความท้าทายใหม่ๆ เป็นแรงจูงใจหลัก นอกจากนี้ แรงงานยุคดิจิทัลจำนวนไม่น้อยตระหนักถึงความสะดวกสบายจากการทำงานระยะไกลในช่วงวิกฤตโรคระบาด

โดยเกือบ 70% ของคนทำงานทั่วโลกยินดีที่จะทำงานแบบระยะไกลให้กับองค์กรที่อยู่ต่างพื้นที่ โดย 5 ประเทศที่แรงงานในยุคนี้สนใจต้องการทำงานระยะไกลให้ด้วยมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และสิงคโปร์

นอกจากนั้น ผลสำรวจยังเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจอีกหนึ่งประเด็นด้วยว่าการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดงาน และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ ที่อาจเข้ามาแทนที่แรงงาน ส่งผลให้ผู้ที่มีทักษะดิจิทัลประมาณ 42% มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของระบบอัตโนมัติ รวมถึงความเป็นไปได้ของอัลกอริทึ่ม หุ่นยนต์ หรือซอฟต์แวร์ขั้นสูง ที่อาจเข้ามาแทนที่ความสามารถและทักษะต่างๆ ของพวกเขา

ทั้งนี้ ผู้มีทักษะดิจิทัลส่วนใหญ่จำเป็นต้องติดตาม และเข้าใจเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อฝึกทักษะใหม่ๆ ที่มีความสำคัญและจำเป็นในการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าความสามารถของพวกเขาจะนำไปสู่การจ้างงานที่มั่นคงและยั่งยืน

สำหรับจ๊อบส์ดีบียังคงยึดมั่นในปณิธานที่ตั้งใจเป็นแพลตฟอร์มหางานที่ดีที่สุดให้แก่ผู้หางาน โดยล่าสุดเปิดตัวแคมเปญ Up Level รวบรวมแหล่งความรู้ ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูงสุด นำเสนอในรูปแบบออนไลน์คอนเทนต์ รวมถึงเทคนิคการเขียนเรซูเม่ และการสัมภาษณ์งานให้โดนใจ HR รวมกว่า 30 คอร์ส เพื่อให้ผู้หางานได้บ่มเพาะ ฝึกฝน และเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม พร้อมพัฒนาศักยภาพขึ้นเป็นแรงงานคุณภาพในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง