ผู้เขียน | ธนิษฐา แดนศิลป์ : เรื่อง/ภาพ |
---|---|
เผยแพร่ |
ร้านหนังสือหัวเมือง อีกหนึ่งธุรกิจ ต้องพลิกสู้ทุกรูปแบบ หวังแค่…ต่อลมหายใจ
สมัยก่อนถ้าพูดถึงร้านหนังสือ ในต่างจังหวัด หรือตามหัวเมืองต่างจังหวัด จะไม่ใช่ภาพร้านหนังสือสมัยใหม่ ร้านหนังสือแฟรนไชส์ หรือเชนสโตร์ แบบที่เราเห็นกันตามห้าง หรือร้านในกรุงเทพฯ แบบปัจจุบัน
ภาพจำที่คนรุ่นก่อนคุ้นตา คือ ภาพแผงหนังสือพิมพ์ที่เรียงรายอยู่ด้านหน้า ถัดขี้นไปเป็นบรรดานิตยสารรายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์ ที่เรียงรายซ้อนกันจนแน่นแผง ด้านในร้านมีชั้นหนังสือ ที่อัดแน่นด้วยการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนจีน นิยาย วรรณกรรม และแบบเรียน คู่มือสอบต่างๆ
การเป็นเด็กต่างจังหวัด หลังเลิกเรียน ร้านหนังสือเป็นพื้นที่คุ้นเคย ปลอดภัย หรือประหนึ่งห้องสมุดกลายๆ ให้เด็กเข้าไปนั่งอ่าน ยืนอ่านหนังสือ นิตยสารในร้าน และเจ้าของร้านผู้อารี ไม่เคยว่ากล่าวอะไร
ส่วนหนังสือ หรือนิตยสารเล่มที่ต้องการซื้อจริงๆ เหมือนที่เราหลายคนรู้กันดีว่า บางทีนิตยสารหรือหนังสือเหล่านั้น ไม่เคยมาถึงแผงหรือร้านในต่างจังหวัด ถึงขั้นต้องสั่งจองกับร้านไว้ เช่นเดียวกับการ์ตูนบางเรื่องก็เช่นกัน
แน่นอนว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ภาพร้านหนังสือที่เคยรุ่งเรืองเหล่านี้ล้วนเลือนหายกลายเป็นอดีตไปแล้วแทบทั้งสิ้น
เมื่อการมาถึงของยุคอินเทอร์เน็ตข้อมูลที่ท่วมท้น นิตยสารบางหัวค่อยๆ ทยอยปิดตัวไปพร้อมๆ หนังสือพิมพ์หัวต่างๆ การขยายตัวของโลกโซเชียล และการขายออนไลน์ นิตยสาร หนังสือ กลายเป็นการสั่งซื้อได้เพียงคลิกเดียว
การล้มหายตายจากของร้านหนังสือตามหัวเมืองเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นเพียงการหายไปของร้านหนังสือเท่านั้น แต่เป็นการหายไปของห้องสมุดกลายๆ การหายไปของสายส่ง และเอเย่นต์จำหน่ายหนังสือต่างจังหวัด รวมถึงแผงหนังสือ แผงหนังสือพิมพ์ในอำเภอ ตำบลที่ห่างไกล
ชาวบ้านที่ปกติเคยได้อาศัยข้อมูลความรู้จากหนังสือพิมพ์รายวัน เปลี่ยนไปเป็นการรับข้อมูลข่าวสารจากโลกโซเชียล ส่วนคนที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต เมื่อไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันให้ติดตามข่าวสาร หรือข้อมูลความรู้อื่นๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์เหล่านั้นก็ทยอยหมดโอกาสแห่งการอ่านและการเข้าถึงความรู้ไปด้วย
ร้านหนังสือ ที่เปลี่ยนไป ปรับตัวเพื่อไปต่อ
ในหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรูปหน้าร้านหนังสือ “รุ่งเรืองพาณิชย์” ร้านหนังสือแห่งแรกที่เคยเป็นดั่ง คลังปัญญาของคนเมืองอุทัยธานี ได้ไปปรากฏและบรรจุอยู่ในหนังสือ
สัญลักษณ์ ธงช้าง เด่นเป็นสง่า และธงตราสัญลักษณ์สีเหลือง สีม่วง ที่ติดประดับอยู่หน้าร้าน บนตึกหัวมุมถนน กลายเป็นภาพจำในยุคหลังของร้านหนังสือรุ่งเรือง
คุณชุติมา จะเรียมพันธ์ ทายาทผู้ดูแลกิจการร้านหนังสือยุคหลัง เล่าให้ฟังถึงความปลาบปลื้มดีใจต่อพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อครั้งเสด็จฯ เมืองอุทัยธานี ซึ่งพระองค์ไม่เพียงแต่ทรงถ่ายรูปร้านเท่านั้น แต่ยังทรงเสด็จฯ เข้ามาชมภายในร้านด้วย เหมือนมาให้กำลังใจเราให้ทำต่อไป เพราะช่วงนั้นถือเป็นช่วงที่ร้านหนังสืออยู่ในช่วงขาลงแล้ว
“เราเป็นร้านแรกในอุทัยธานี ทำมาตั้งแต่คุณแม่อายุ 21 ถึงวันนี้ก็ 70 ปี เป็นเอเย่นต์ใหญ่ทั้งของไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน และเป็นสายส่งไปตามอำเภอต่างๆ เป็นร้านหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก หนังสือเรียน เครื่องเขียน เรียกว่ามีครบ พอตอนหลังๆ ยอดขายไม่มี ทั้งนิตยสารหรือพ็อกเก็ตบุ๊ก เขาหยุดส่ง ประกอบกับเอเย่นต์สายส่งเลิกไปทีละเจ้า ก็หมด พ็อกเก็ตบุ๊กไปก่อนเลย
“มันเริ่มมาตั้งแต่ปี 54 หลังจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 54 ตอนนั้นเสียหายมาก ยิ่งเครื่องเขียนเสียหายไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องไปเช่าบ้านอยู่ตีนเขา ไปกางเต็นท์ขายหนังสือ ต่อมาก็เข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต” คุณชุติมา เล่าย้อนให้เห็นถึงภาพร้านหนังสือที่เปลี่ยนแปลงไป
เป็นกำลังใจ ให้ตนเองและผู้คน
จากความเสียหายในครั้งนั้น ประกอบกับยุคสมัยของอินเทอร์เน็ต ร้านรุ่งเรืองพาณิชย์ จึงตัดสินใจไม่เพิ่มสต๊อกสินค้าใดๆ ในร้าน ยกเว้นเฉพาะหนังสือในหมวดธรรมะ เพราะพระยังต้องใช้
“ตอนหลังเราเลยจัดธีมร้านใหม่เป็น ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาแบบนี้เลย เพราะมองว่ากำลังใจเท่านั้นที่ทำให้คนอยู่ได้ ยิ่งความทุกข์ขนาดนี้ โควิด ขนาดนี้ ข้าวไม่มีกิน ยังพึ่งวัดได้ ทำให้คนยังมีที่พึ่งไม่คิดฆ่าตัวตาย หรือปล้นสะดมกัน ช่วงนั้นที่พระออกมาแบ่งปัน รู้สึกมีความสุข จิตของคนเรา ยังมีการเอื้อเฟื้อและแบ่งปัน เลยคิดว่ามาถูกทางแล้ว เราใช้ธรรมะช่วยคนได้” คุณชุติมา บอกถึงการปรับแนวทางธุรกิจ
และว่า นับจากนั้น ร้านจึงเปลี่ยนมาเป็นธีมนี้ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นธีมที่ควรคงไว้ เพราะใครเข้ามาในร้านแล้วเขารู้สึกสงบ ร่มเย็น มีสติ พอใจมันเป็นสุข ความทุกข์มันจางลง สติมาปัญญาเกิด อันนี้สำคัญ
“ตอนที่พระองค์ท่านเสด็จฯ มาที่ร้าน ตอนนั้นคุณแม่ยังอยู่ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณมาก ท่านมาให้กำลังใจ มาชมในร้านพร้อมพระสหาย” (ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ พระสหายที่เรียนอักษรจุฬาฯ ท่านเกิดที่จังหวัดอุทัยธานี เป็นนักภาษาศาสตร์และนักอักษรศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดีบาลีและภาษาสันสกฤต พระไตรปิฎกฉบับภาษาจีน และพระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
“พี่ประพจน์ชี้ให้พระองค์ดูว่า ตอนเด็กๆ มานั่งอ่านหนังสือตรงไหนอย่างไร พี่ประพจน์เป็นคนที่มีความกตัญญู รักคุณแม่มาก พี่ประพจน์จะมาอ่านหนังสือที่ร้าน คุณแม่ก็เอ็นดูเหมือนลูกหลาน พี่ประพจน์มาอยู่เป็นวันๆ เลย บางทีช่วยขายของไปด้วย เวลาที่บ้านถามหาว่าไปไหน เป็นอันรู้กันว่า มาอ่านหนังสืออยู่ร้านป้ารุณ (คุณแม่ของคุณชุติมา) พี่ประพจน์ ยังบอกด้วยว่า โตมาได้เพราะคุณยาย ได้ความรู้หลากหลายจากร้านหนังสือป้ารุณนี่แหละ” คุณชุติมา เล่าด้วยความปลาบปลื้ม
ก่อนนำรูปทั้งตอนที่พระองค์เสด็จฯ มาร้าน และรูปตอนที่คุณแม่เสีย และพระองค์ทรงเมตตา ส่งพวงหรีดพระราชทานมาให้ โดยมีอาจารย์ประพจน์ มาเป็นประธาน
“จะพยายามรักษาพื้นที่ตรงนี้ไว้ ไว้เป็นที่พึ่งให้แก่คนที่รักหนังสือ พี่ยังมองว่า อ่านหนังสือเล่มๆ มันดี ได้สมาธิ ได้สติ อ่านแล้วได้ข้อมูล และหนังสือเป็นกำลังใจสำคัญ กำลังใจดี จิตดี สุขภาพดี ก็ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้มาก” คุณชุติมา ย้ำอย่างนั้น
และเสริมอีกว่า นอกจากธีม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้ว คนที่จะหาหนังสือประเภทอื่นๆ หาไม่ได้ในอุทัยฯ ให้มาหา มาแจ้งได้ แล้วจะสั่งให้ เพราะต่างจังหวัด บางพื้นที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต และบางคนไม่ได้ใช้ หรือซื้อขายออนไลน์ไม่เป็น ก็จะใช้วิธีว่าใครหาอะไรไม่ได้ อยากสั่งหนังสือไหน มาแจ้งเราแล้วเราก็สั่งให้ แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ร้านเราก็จะมีหนังสือ มีข้าวของในหมวดนี้ครบ
นิตยสาร ขายดี ขายได้ ในยุคนี้
ถัดไปอีกหัวมุมถนน ร้านศุภโชค แผงนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หนังสือการ์ตูน หนังสือนิยาย เป็นร้านหนังสือเก่าแก่อีกร้านของเมืองอุทัย ที่เด็กๆ ที่เติบโตขึ้นมาในเมืองอุทัย รู้จักกันดีทุกคน และเป็นความภาคภูมิใจของ ป้ารัตน์-พนารัตน์ กิจสุวรรณ เจ้าของร้านศุภโชค ที่เล่าให้เราฟังว่า แม้เดี๋ยวนี้ร้านหนังสือแทบไม่มีคนเข้าแล้ว แต่ยังมีลูกค้าเก่าแก่แวะเวียนมาทักทาย เด็กบางคนเติบโตไปเป็นหมอ เป็นครู ก็มาจากการมานั่งอ่านการ์ตูน อ่านหนังสือในร้าน
“อย่าง การ์ตูนญี่ปุ่น หลายเล่มนี่มันสอนดีนะ เด็กๆ ที่อ่านหนังสือที่ร้าน โตไปเป็นดอกเตอร์ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นวิศวกร เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มี”
นอกจากร้านหนังสือ จะสร้างคนในอาชีพต่างๆ หลากหลายแล้ว ร้านหนังสือแห่งนี้ ยังสร้างคนให้เติบโตไปเป็นดาราชื่อดังอย่าง ต็อก ศุภกรณ์ เพราะเป็นลูกชายของร้านนี้
“อันที่จริงอยากจะเลิกขายแล้ว แต่ยังเสียดาย เพราะมันเป็นวิถีชีวิตเราไปแล้ว สมัยก่อนขายหนังสือทุกอย่าง ต้องตื่นตี 4 เราทำหีบห่อด้วย (สายส่งหนังสือ) สมัยนั้น จังหวัดหนึ่ง เขาระบุมาเลยว่า จังหวัดหนึ่งให้มีได้แค่ 3 ร้าน อุทัยธานี มีร้านรุ่งเรือง ประสพโชค และศุภโชค สมัยนั้นทำงานกันแบบเครื่องห่อ 2 เครื่องยังทำแทบไม่ทัน ลูกน้อง 20 คน ตอนเช้ามีเด็กมารอส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้านตามสำนักงาน 4-5 สาย ต่างอำเภอส่งทุกอำเภอ ทุกที่ส่งหมด เดี๋ยวนี้เลิกหมด ลูกน้องสักคนยังไม่มีเลย”
“20 ปีก่อน ร้านนี้คนแน่นแทบไม่มีที่เดิน เด็กนักเรียนบ้าง ผู้ใหญ่บ้าง ซื้อบ้าง อ่านบ้าง แน่นร้าน เดี๋ยวนี้วันทั้งวันไม่มีคน หลับได้เลย”
แต่กระนั้นการตื่นมาเปิดร้านหนังสือ ยังคงเป็นเหมือนกิจวัตรประจำวัน ที่ป้ารัตน์คุ้นเคย แม้ทุกวันนี้ จะเน้นไปที่การขายสลากกินแบ่ง มากขึ้นกว่าการขายหนังสือก็ตาม
ตลอดชีวิตการทำร้านหนังสือ สิ่งที่เป็นยิ่งกว่าน้ำทิพย์ชโลมใจป้ารัตน์ ก็คือ เมื่อครั้งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ช่วงพระองค์ท่านเสด็จฯ มาที่ศาลเจ้า และได้เสด็จฯ เข้ามาเยี่ยมชมร้านหนังสือเล็กๆ ของป้ารัตน์ ด้วยเช่นกัน
จาก ร้านศุภโชค ข้ามถนนไปร้านประสพโชค ร้านหนังสือเก่าแก่ของเมืองอุทัยธานีอีกร้าน ภาพสีน้ำติดฝาผนังร้านแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีตที่หนังสือเต็มชั้น เต็มร้าน ทั้งด้านในและหน้าร้าน แต่วันนี้ตู้หนังสือและชั้นกลายเป็นความว่างเปล่าเหลือเพียงแผงนิตยสาร หนังสือพิมพ์ไม่กี่หัว และแผงนิตยสารทั้งหลายถูกแทนที่ด้วยนิตยสารใบ้หวยและนิตยสารพระเครื่อง
คุณสุวรรณา เหลืองบริบูรณ์ เจ้าของร้านประสพโชค ผู้รับช่วงกิจการต่อมาจากพ่อแม่ ซึ่งเป็นอดีตเอเย่นต์ใหญ่ของหนังสือพิมพ์สำคัญๆ หลายหัว เล่าให้ฟังถึงปัญหาหลักของร้านหนังสือทุกวันนี้นอกจากคนอ่านจะน้อยลงแล้ว ก็คือเรื่อง การขนส่ง และค่าขนส่ง รวมถึงคนส่งด้วย เมื่อค่าขนส่งแพงมากขึ้นจำนวนหนังสือน้อยลง ก็กลายเป็นปัญหาเรื่องสายส่งหรือการเลิกเป็นเอเย่นต์ส่งหนังสืออย่างที่เคยๆ ทำกันมา
“ทุกวันนี้ที่ขายได้และขายดี คือ หนังสือใบ้หวย ขายได้ทุกๆ 15 วัน เล่มตั้งแต่ 30 บาทขึ้นไป คนซื้อกันทุกงวด นิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ ขายได้น้อยแล้ว หัวไหนไม่รับคืนก็ไม่ขายแล้ว นอกจากนั้นการส่ง ก็ส่งน้อยลง ขายก็น้อยลง บางแห่งก็เลิกส่ง เพราะไม่มีเด็กส่ง จากสมัยก่อนรายได้เดือนหนึ่งแสนกว่าบาท เดี๋ยวนี้เหลือเดือนละไม่กี่ร้อย”
นี่คือภาพสะท้อนของร้านหนังสือตามหัวเมืองใหญ่ ที่วันนี้ กลายเป็นอีกธุรกิจที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ เปลี่ยนพลิกรูปแบบสินค้าและการขาย เพื่อให้มีลมหายใจต่อไป