ปลดล็อกกัญชา (ควร) ใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาด ความเชื่อ ความจริง มีหลายมิติ

ปลดล็อกกัญชา (ควร) ใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาด ความเชื่อ ความจริง มีหลายมิติ

ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ จากศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บรรยายตอนหนึ่ง ในการอบรมประชาชนผู้สนใจ ในหัวข้อ “ปลดล็อกกัญชา ใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาด” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในกัญชา มีสารมากกว่า 500 ชนิด แต่มีสาระสำคัญที่มีข้อมูลการศึกษามาก มี 2 ชนิด คือ THC และ CBD (พบในดอกมากกว่าส่วนอื่นๆ)

โดยในส่วนของ THC นับเป็นสารเมา มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีฤทธิ์เสพติด สามารถบรรเทาอาการปวด เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ขณะที่ CBD เป็นสารต้านเมา ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ไม่มีฤทธิ์เสพติด สามารถต้านการชัก ต้านการวิตกกังวล ต้านซึมเศร้า บรรเทาอาการอักเสบของผิวหนัง

และ กัญชา เปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อเข้าสู่ร่างกาย คำถามหัวข้อนี้ ภญ.อาสาฬา อธิบายว่า การสูบช่อดอกตัวเมีย หรือที่เรียกกันว่า กะหลี่กัญชา นั้น เมื่อกะหลี่กัญชา ได้รับความร้อน สารในใบสดชื่อ THCA จะเปลี่ยนเป็น THC หรือ สารเมา และจะผ่านเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง ออกฤทธิ์รวดเร็วภายใน 10-30 นาที และหมดฤทธิ์ภายใน 3 ชั่วโมง

ส่วน การดื่ม กิน สารเมาในกัญชา จะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับ เป็นสารอื่น ซึ่งฤทธิ์แรงกว่า 3-7 เท่า แต่ใช้เวลาในการออกฤทธิ์ช้ากว่าการสูบ ผู้ใช้จะรู้สึกได้หลังจาก 30-90 นาที และเกิดอาการเมาค้างอยู่นานประมาณ 6 ชั่วโมง

สำหรับข้อห้ามใช้กัญชา นั้น ภญ.อาสาฬา ระบุว่า หนึ่ง ผู้มีประวัติแพ้กัญชา เช่น เคยใช้แล้วแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปากบวม ตามบวม ผื่นขึ้น สอง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรง หรือไม่สามารถคุมอาการได้ เพราะสาร THC ในกัญชา มีผลต่อการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต สาม ห้ามใช้กัญชา ในผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน เพราะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออก

สี่ ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน เพราะการใช้กัญชาที่มีสาร THC ขนาดสูงอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่การเป็นโรคจิตเภท ทำให้มีอาการหลอน หลงผิด เกียจคร้าน เฉยเมยต่อสิ่งรอบข้าง ห้า เด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปี เนื่องจากส่งผลต่อสมองที่กำลังพัฒนา ทำให้เกิดปัญหาในการเรียน มีผลต่อสมาธิและความจำ เพิ่มโอกาสติดยา หากใช้ในทางที่ผิด และห้ามใช้กัญชาในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือวางแผนจะตั้งครรภ์

สำหรับ ความเชื่อ และ ความจริง เกี่ยวกับกัญชา ที่ ภญ.อาสาฬา รวบรวมมาได้นั้น ประกอบด้วยประเด็นน่าสนใจดังนี้

ความเชื่อ : ปริมาณสารออกฤทธิ์มาก หากน้ำมันกัญชา มีสีเขียวเข้มหรือเหนียวข้น

ความจริง : ความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ ไม่สัมพันธ์กับสีเขียวและลักษณะความข้นของน้ำมัน สีเขียวเข้มเป็นสีจากคลอโรฟิลล์ในพืช ความข้นของน้ำมัน ขึ้นอยู่กับน้ำมันตัวพาหรือกระสายยา

ความเชื่อ : กัญชา เสพติดยาก ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสพติดง่ายกว่า

ความจริง : แอลกอฮอล์เสพติดง่ายกว่าจริง แต่ไม่ใช่แปลว่ากัญชาไม่เสพติด กัญชา มีโอกาสติดโดยเฉลี่ยประมาณ 10% แต่ถ้าเป็นเยาวชน วัยทำงาน หากเริ่มต้นเสพ โอกาสติดจะเพิ่มจาก 10% เป็น 16% จาก 1 ใน 10 กลายเป็น 1 ใน 6

ความเชื่อ : น้ำมันกัญชาใช้หยอดตาแก้โรคต้อหินได้

ความจริง : ไม่ควรใช้ยากัญชาหยอดตา เนื่องจากก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หากผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้ตาบอดได้ เคยมีการศึกษาพบว่า กัญชา สามารถช่วยลดความดันในลูกตาของผู้ป่วยต้อหินได้เนื่องจากทำให้ หลอดเลือดขยายตัว แต่ระยะเวลาการออกฤทธิ์ค่อนข้างต่ำ

ความเชื่อ : กัญชาเป็นยาครอบจักรวาล ไม่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบันก็ได้

ความจริง : กัญชา มีฤทธิ์ส่วนใหญ่ช่วยทุเลาอาการ ไม่ได้ทำให้หายจากโรค

ความเชื่อ : กัญชา หาได้ง่าย และปลอดภัย

ความจริง : กัญชา ที่ไม่ผ่านการรับรองและไม่รู้แหล่งผลิตที่ชัดเจน เป็นอันตรายมาก เพราะเป็นพืชที่ดูดซับโลหะหนัก และสารพิษจากดินได้ดี

ความเชื่อ : กัญชา ช่วยลดความดัน

ความจริง : มีงานวิจัยว่าสารในกัญชา มีผลทำให้หลอดเลือดขยาย แต่ไม่ควรใช้แทนยาลดความดัน เนื่องจากยังมีผลข้างเคียงอื่น

ความเชื่อ : กัญชา กินเพื่อลดน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน

ความจริง : มีการวิจัยพบว่าสารสกัดกัญชาช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ยังไม่มีผลการวิจัยในคนที่ชัดเจน จึงไม่ควรใช้ในการรักษาเบาหวาน