อยากขายอาหาร เมนูกัญชา ผู้ประกอบการ ต้องทำอย่างไร ถึงจะถูกกฎหมาย

อยากขายอาหาร เมนูกัญชา ผู้ประกอบการ ต้องทำอย่างไร ถึงจะถูกกฎหมาย

ช่วงนี้ต้องยอมรับ ทุกมิติของ กัญชา กำลังมาแรง จนทำให้ผู้ประกอบการด้านอาหารน้อยใหญ่ อาจกำลังมองเห็นช่องทางสร้างรายได้จากกระแสดังว่า หลังจากพืชกัญชา หลุดออกจากรายการยาเสพติดให้โทษ แต่ยังคงเป็นสมุนไพรควบคุม

ล่าสุดทาง โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะหน่วยงาน ที่คอยให้ข้อมูลกับประชาชน ในเรื่องของสมุนไพรและศาสตร์การแพทย์แผนไทย มาอย่างต่อเนื่อง ก็ได้ออกมาให้ความรู้ เกี่ยวกับกัญชา ในแง่มุมของการจะนำมาประกอบเป็นอาหารเมนูต่างๆ นั้น ว่า

ตามองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย กัญชา มีสรรพคุณช่วยปรับให้ลมมีการเคลื่อนไหวที่เป็นปกติ ใบกัญชา มักใส่เป็นส่วนประกอบในอาหารที่มี เครื่องเทศ “ต้ม ยำ ตำ แกง” เพื่อช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดีบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย รวมถึง อาการนอนไม่หลับ

สำหรับการจะทำ ร้านอาหารกัญชา ให้ถูกกฎหมาย นั้น ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญ ดังนี้

การนำใบกัญชามาใช้ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร จะต้องมีการจัดเก็บใบ กัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย

ร้านอาหารต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ และต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ทำข้อความที่แสดงข้อมูล ว่าเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา

และต้องแสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด รวมทั้งแสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการ ซึ่งในเมนู อาหารทอด แนะนำให้ใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสด ส่วน อาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่ม แนะนำให้ใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู

นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงลูกค้าที่จะมาเข้ารับบริการ ว่ามีผู้ที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้เป็นโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตจากสารเสพติด โรคจิตเภท

ผู้ป่วยรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ โรคไตที่มีอาการรุนแรง ผู้มีประวัติแพ้สารสกัดกัญชา และห้ามขายอาหาร-เครื่องดื่มเมนูกัญชา ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เด็ดขาด