ดอกเตอร์ ลาออกก่อนเกษียณหลายปี มุ่งทำสวนเต็มตัว เงินไม่มาก แต่สุขทุกวัน

ดอกเตอร์ ลาออกก่อนเกษียณหลายปี มุ่งทำสวนเต็มตัว เงินไม่มาก แต่สุขทุกวัน

เรื่องนี้เริ่มต้นมาจาก วันหนึ่งมีคนส่งมังคุดมาให้ลูกสาวของผมกล่องใหญ่ มีน้ำหนักน่าจะสัก 10 กิโลกรัม เห็นจะได้ มังคุดแต่ละลูกที่ส่งมา มีกระดาษฟองน้ำหุ้มห่อมาอย่างดี เหมือนผลไม้ที่ถูกส่งมาจากต่างประเทศเลยทีเดียว

พอผมได้กินมังคุด จึงได้รู้ว่าเป็นมังคุดที่มีเนื้อสีขาว รสชาติอร่อยมาก ผมถามลูกสาวว่าสั่งซื้อมังคุดมาจากที่ไหน ลูกตอบว่าไม่ได้ซื้อ เจ้าของสวนส่งมาให้กิน ในฐานะที่รู้จักกัน

เนื่องจากเมื่อผมได้กินมังคุดแล้วติดใจ จึงบอกให้ลูกช่วยสั่งซื้อ ลูกรับปากว่าจะสั่งซื้อมาให้ ถือเป็นการอุดหนุนชาวสวนด้วย สวนมังคุดที่ว่านี้ตั้งอยู่ที่ 55/2 ซอยศรีเผด็จ หมู่ 1 ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86000

มีชื่อเป็นทางการว่า “สวนแม่คุณช้อย”

ตอนแรกผมคิดว่าเจ้าของคงเป็นชาวสวนธรรมดาทั่วไปที่ผมเคยพบเห็น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ลูกสาวบอกว่า เจ้าของสวนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และมีความรู้ระดับดอกเตอร์จากประเทศออสเตรเลีย เธอมีชื่อจริงว่า ศิริพร สิริสุรพงศ์ มีชื่อเล่นว่า เต๋า

ปกติคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้วทำสวนไปด้วย เป็นเรื่องธรรมดา ทว่า สำหรับคุณเต๋า (ขอเรียกชื่อเล่น) ถึงขนาดลาออกจากมหาวิทยาลัยก่อนเกษียณหลายปี เพื่อมามีอาชีพทำสวนอย่างเดียว เท่ากับเป็นการค้นพบอาชีพใหม่ เมื่ออายุมากแล้ว

ผมถามเรื่องของคุณเต๋า ผ่านลูกสาวหลายอย่าง จนลูกส่งหมายเลขโทรศัพท์ให้ แล้วบอกว่า

“พ่อโทรไปสัมภาษณ์เองดีกว่า” หมายเลขโทรศัพท์ของคุณเต๋า คือ 089-508-8192 ที่บอกเบอร์ก็เพราะว่า เผื่อผู้อ่านและไม่ได้อ่านท่านใดอยากโทรถึงเธอ จะได้โทรได้เลย

ปกติ เวลาผมจะเขียนถึงผู้ใด ผมจะไปสัมภาษณ์ถึงสถานที่จริง ทว่า ในครั้งนี้ เนื่องจากขัดข้องทางเทคนิคบางประการ ผมจึงใช้วิธีโทรไปสัมภาษณ์คุณเต๋า โดยแนะนำตัวเองและบอกด้วยว่า จะนำไปเขียนลงเส้นทางเศรษฐีออนไลน์

คุณเต๋า เคยเป็นครูบาอาจารย์มาก่อน อีกทั้งเป็นคนมีความรู้ดี จึงพูดคล่อง โดยเล่าความเป็นมา ก่อนมาทำสวนให้ผมฟังอย่างยืดยาว ผมขออนุญาตสรุปสั้นๆ ดังนี้

คุณเต๋า เป็นคนชุมพร ถึงแม้เป็นตระกูลที่มาจากชาวสวน แต่พอเธอได้เรียนหนังสือ ไปถึงเมืองนอก กลับมาเมืองไทย ยังได้ทำงานที่มีเกียรติ อีกทั้งยังมีรายได้ที่มีชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย จึงทำให้เธอลืมสวนผลไม้ที่ได้มรดกมาจากยายไปเลย

ยายของเธอชื่อ ช้อย มีอาชีพหลักทำสวนมาตลอด จนตั้งชื่อสวนว่า สวนแม่ช้อย ชาวสวนที่ชุมพร ไม่มีใครไม่รู้จัก สวนแม่ช้อย

เมื่อคุณเต๋า มีหน้าที่การงานดี อีกทั้งยังมีสามีเป็นสถาปนิก จึงไม่สนใจที่จะกลับบ้านมาทำสวน ทั้งๆ ที่เธอได้รับมรดกเป็นสวนผลไม้มาจากแม่ช้อยหลายสิบไร่

แม้คุณพ่อของเธอไม่สบาย นอนติดเตียง เธอก็คิดว่า เพียงหาพยาบาลให้ดูแลพ่อ และให้เงินพ่อใช้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว สำหรับหน้าที่ของลูก

อยู่มาวันหนึ่งคุณเต๋า กลับบ้าน ได้เห็นสภาพพ่อ และความรู้สึกของพ่อที่ดีใจและมีความสุขมากเมื่อได้พบกับลูกสาว ซึ่งหมายถึงเธอนั่นเอง

 

อีกทั้งพอได้มาอยู่ในสวนหลายวันเข้า ทำให้รู้สึกได้เลยว่า ในสวนไม่ได้มีแค่ผลไม้ อย่างมังคุด ทุเรียน ให้ขายได้เท่านั้น แต่มีความร่มเย็นและสงบสุขสอดแทรกอยู่ด้วยทุกตารางนิ้ว

ยามเช้า ตื่นขึ้นมา นอกจากได้ยินเสียงไก่ขันแล้ว ยังได้เห็นแสงอาทิตย์แทรกผ่านยอดไม้ลงเป็นทาง ซึ่งภาพเหล่านี้หาไม่ได้เลยถ้าอยู่ในตัวเมือง

สวนยังมีเสน่ห์อื่นๆ อีก โดยเฉพาะชาวสวนด้วยกันที่เป็นเหมือนญาติสนิท มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ประกอบกับเธอไม่มีบุตร จึงไม่ต้องมีภาระต้องห่วงอะไรทั้งสิ้น

เธอใช้เวลาตัดสินใจเพียงไม่กี่วัน ก็ได้ลาออกจากงานประจำตอนอายุ 53 ปี ก่อนเกษียณหลายปี

คุณเต๋า กลายมาเป็นชาวสวนอย่างสมบูรณ์แบบมา 3 ปีแล้ว เธอมีต้นทุเรียนอยู่ 11 ต้น เป็นทุเรียนที่มีอายุกว่า 50 ปี แล้วยังมีมังคุดอีก 40 กว่าต้น ทั้งทุเรียนและมังคุดออกดอกออกผลให้เก็บขายได้ทุกปี

ถึงแม้ได้เงินไม่มาก แต่ก็มีความสุข เพราะสวนมีเสน่ห์ สามารถสร้างสุขให้เธอกับสามีได้ทุกวัน อีกทั้งเธอใช้วิชาความรู้ที่มีทุนเดิมอยู่แล้ว มาปรับปรุงสวน ทำให้ทั้งต้นทุเรียนและมังคุดมีผลผลิตมากขึ้น ออกผลอย่างได้ผล

พร้อมกันนี้ยังได้ปลูกผลไม้ให้มีมากชนิดอีกต่างหาก สวนของเธอจึงมีต้นผลไม้อื่นๆ ด้วย เช่น น้อยหน่า มะม่วง

เท่านี้ยังไม่พอ เธอยังปลูกพืชที่กินได้ไว้อีกหลายชนิด โดยเฉพาะผักเหลียง ซึ่งปลูกไว้ระหว่างต้นมังคุด เป็นจำนวนกว่าร้อยต้น

ตอนนี้ สวนของเธอ ไม่ได้ทำเพื่อเก็บผลเท่านั้น แต่ได้ทำเป็นศูนย์เรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตรด้วย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับได้ดีพอสมควร โดยนำสวนของลูกหลานแม่ช้อยคนอื่นๆ มาร่วมด้วยช่วยกัน

ฟังน้ำเสียงของคุณเต๋า ขณะเล่าให้ผมฟังแล้ว ทำให้รู้เลยว่า เธอรู้สึกโชคดีที่บั้นปลายชีวิตได้มีโอกาสมาดูแลพ่อ และได้มาทำสวน

 

เผยแพร่แล้วเมื่อ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2565