เศรษฐกิจไม่ดี คนตกงาน อาหารแพง วิกฤตซ้ำซ้อน ทางรอดคนไทย อยู่ตรงไหน

เศรษฐกิจไม่ดี คนตกงาน อาหารแพง วิกฤตซ้ำซ้อน ทางรอดคนไทย อยู่ตรงไหน

หลังจากประชากรโลกต้องประสบกับ “อุบัติเหตุชีวิต” จากวิกฤตการแพร่ระบาด จนเกิดการเรียนรู้ “อยู่กับ COVID-19” แต่ก็ต้องมาเผชิญกับ “วิกฤตซ้ำซ้อน” พลังงาน-อาหารแพง ซึ่งส่งผลไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

รศ.ดร.ภญ.เสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้มุมมองในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายบริหารจัดการ ถึง “วิกฤตซ้ำซ้อน” พลังงาน-อาหารแพงโลก ที่ส่งผลกระทบสูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมาว่า เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเริ่มวิกฤต COVID-19

ซึ่งทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจจำนวนมากต้องหยุดชะงัก แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ก็เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงาน และวิกฤตอาหารโลกซ้อนขึ้นมาด้วย

“ภาวะวิกฤต “เศรษฐกิจไม่ดี คนตกงาน อาหารแพง” ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกัน โดยเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากวิกฤตโรคระบาด ถูกซ้ำเติมด้วยสงครามของประเทศผู้ผลิตน้ำมันและธัญพืชรายใหญ่ของโลก ทำให้น้ำมันขาดแคลน ราคาพลังงานที่แพงลิ่ว”

“เป็นเหตุให้ต้นทุนการขนส่งและปัจจัยการผลิตราคาสูงขึ้นตาม ส่งผลให้ราคาอาหารและสินค้าทุกอย่างแพงขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับหลายประเทศห้ามการส่งออกอาหารบางประเภท เกิดเป็นวิกฤตอาหารแพงซ้อนเข้ามา”

“ในขณะที่ประเทศไทยยังมีคนตกงานจำนวนมาก ค่าแรงขึ้นไม่ทัน และธุรกิจก็มีความลำบากในการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น จึงเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง” รศ.ดร.ภญ.เสาวคนธ์ อธิบาย

และว่า วิกฤตซ้ำซ้อนนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลก จากเหตุภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด วิถีชีวิตเปลี่ยน ทั้งหมดนี้จึงเป็นสัญญาณว่าทุกภาคส่วนต้องปรับตัว พร้อมกับสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย เพื่อการตั้งรับต่อไปอย่างยั่งยืน

คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเสนอให้ภาครัฐ มองให้กว้างไกล กำหนดนโยบายและสร้างระบบที่แข็งแกร่งไว้รองรับ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันตามศาสตร์พระราชา “เศรษฐกิจพอเพียง”

โดยมองเริ่มต้นจากการพัฒนาการเกษตร ซึ่งเป็นหัวใจของชาติ ให้เป็นเกษตรที่หลากหลาย แทนที่จะเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น ผนวกกับการวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างนวัตกรรมทางการเกษตรที่ลดการพึ่งพิงปุ๋ยเคมี และสารเคมีต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดการนำเข้า และเกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ในส่วนของปัญหาวิกฤตพลังงาน ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ขอเสนอให้รัฐ เร่งรัดผลักดันให้มีการใช้พลังงานทางเลือกอย่างจริงจังและแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ควรค่าแก่การลงทุน เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในพื้นที่โลก ที่สามารถใช้พลังงานจากแสงแดดได้อย่างไม่จำกัด

กล่าวคือ นอกจากจะให้การสนับสนุนในลักษณะของการอุดหนุนทางภาษี ยังควรเน้นการขับเคลื่อนทางนโยบายทั้งระบบ โดยให้สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกับภาคธุรกิจขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา การผลิต และการใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นรูปธรรมในทุกด้าน

ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม การขนส่ง การผลิต สำนักงาน และครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการใช้พลังงานถูกลงได้ในที่สุด

“ในส่วนของประชาชน แม้พิษเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 จะส่งผลให้คนตกงาน ของแพง และมีความยากลำบากเกิดขึ้นตามมามากมาย การปรับตัวใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ขวนขวายหาความรู้ ฝึกฝนทักษะที่หลากหลาย ไม่ย่อท้อต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นตรงหน้า แต่มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยและไม่ประมาทกับชีวิต ตลอดจนรักษาสุขภาพกายและใจ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใดๆ เชื่อมั่นว่าจะสามารถตั้งรับได้ด้วยความเข้มแข็งและพร้อมฝ่าฟันต่อไปได้อย่างแน่นอน” นักวิชาการท่านนี้ ให้กำลังใจทิ้งท้าย