โควิด ซัดทุกสิ่ง เจ้าของตกงาน ช้าง ขาดแคลนอาหาร ไร้ที่อยู่ เหตุไร้นักท่องเที่ยว

โควิด ซัดทุกสิ่ง เจ้าของตกงาน ช้าง ขาดแคลนอาหาร ไร้ที่อยู่ เหตุไร้นักท่องเที่ยว

คุณแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม กล่าวตอนหนึ่ง ในการเสวนาหัวข้อ “ทำอย่างไร ‘ช้างไทย’ จะไม่โดนทำร้ายอีก” ว่า ช่วงการระบาดของโควิด-19 สภาพความเป็นอยู่ของช้างไทย        ยิ่งประสบปัญหามากขึ้น และกระทบกันเป็นลูกโซ่ ช้างขาดแคลนอาหาร เพราะเจ้าของช้างตกงาน ทำให้ขาดรายได้ ช้างไร้ที่อยู่ ปางช้างต่างๆ ไม่สามารถเลี้ยงดูได้ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เจ้าของช้างบางราย ที่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้ ก็นำมาฝากไว้ที่มูลนิธิฯ ซึ่งขณะนี้มีช้างในความดูแลเกือบ 200 เชือก

“ช่วงโควิด-19 มีความพยายามในการหารายได้เพื่อการอยู่รอด โดยการพาช้างเข้าสู่อาชีพใหม่หลายรูปแบบ เช่น ให้ช้างแสดงผ่านทางโซเชียลมีเดีย และขายอาหารให้ช้าง การนำช้างไปมัดไว้ในวัดเพื่อให้คนที่มีศรัทธาและความเชื่อมาลอดท้องช้าง และขี่ช้างในวัด”

“เจ้าของบางคน นำช้างไปรับจ้างลากไม้ บางคนนำช้างตัวเองไปผสมพันธุ์ เพื่อหวังจะให้ช้างตั้งท้อง บางที่ล่ามช้างไว้เกินกว่า 2 ปี ไม่มีการเคลื่อนย้าย เหตุการณ์เหล่านี้ สร้างผลกระทบที่เลวร้ายต่อสวัสดิภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของช้างไทย ทำให้เกิดการสูญเสียช้างเลี้ยงไปเป็นจำนวนมาก” คุณแสงเดือน กล่าว

คุณปัญจเดช สิงห์โท

ด้าน คุณปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า กรณีทำร้ายช้างที่เห็นตามสื่อ เป็นเพียงปรากฏการณ์ยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ยังมีปัญหาอีกมากที่ซ่อนอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวช้าง ไม่ว่าจะเป็นการนำลูกช้างที่ยังเล็กมาฝึกอย่างโหดร้ายทารุณเพื่อการแสดง การใช้งานช้างอย่างหนัก

รวมไปถึงการบังคับผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การดูแลช้างแบบไม่ได้มาตรฐานด้านสวัสดิภาพ ส่งผลเสียต่อช้างทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติในฐานะสัตว์ป่า

ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาช้างและการยกระดับสวัสดิภาพช้างไทย จำเป็นต้องทำอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งตนเชื่อว่า ‘ร่างพระราชบัญญัติปกป้องและคุ้มครองช้างไทย พ.ศ. ….’ หรือเรียกสั้นๆ ว่าร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ฉบับภาคประชาสังคม ซึ่งถูกเสนอโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ต่อประธานรัฐสภา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะเป็นทางออกที่เป็นระบบและยั่งยืน

“กลไกกฎหมาย นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทำร้ายช้างรูปแบบต่างๆ โดยละเอียดแล้ว ยังมีเนื้อหาสำคัญในอีกหลายประเด็น เช่น การยุติการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ การห้ามส่งออกช้างเชิงพาณิชย์ การป้องกันการค้าชิ้นส่วนช้าง การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพช้างไทย เป็นต้น” คุณปัญจเดช กล่าว