โควิดยังไม่หมด โรคใหม่ก็ต้องระวัง! เปิดลักษณะอาการ พร้อมวิธีป้องกัน ฝีดาษลิง 

โควิดยังไม่หมด โรคใหม่ก็ต้องระวัง! เปิดลักษณะอาการ พร้อมวิธีป้องกัน ฝีดาษลิง 

ใน 2-3 วันมานี้ ข่าวการแพร่ระบาดของ โรคฝีดาษลิง ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง แม้จะยังไม่มีข่าวการติดเชื้อในประเทศไทย แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจและเฝ้าระวังกันอย่างมาก

เว็บไซต์ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยความรู้เกี่ยวกับ โรคฝีดาษลิง พร้อมทั้งบอกวิธีการป้องกันและการรักษาที่ถูกวิธี โดยกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เผยว่า โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่พบไม่บ่อย แต่อันตรายถึงชีวิตที่เกิดจากเชื้อไวรัส Othopoxvirus

ธรรมชาติของเชื้อไวรัสก่อโรคชนิดนี้ มีรังโรคอยู่ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ และติดต่อไปยังสัตว์อื่น ในตระกูลลิงไม่มีหาง กระต่าย และสัตว์ฟันแทะอื่น เช่น กระรอกดิน

ซึ่งการระบาดของเชื้อไวรัสฝีดาษลิง มีลักษณะการติดต่อแบ่งเป็นจากสัตว์สู่มนุษย์ พบว่าสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสทางผิวหนัง หรือเยื่อเมือก เช่น จมูก ปาก หรือตา กับสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค สารคัดหลั่ง เลือด ผิวหนัง หรือ การนำซากสัตว์ป่วยมาปรุงอาหาร รวมทั้งการถูกสัตว์ป่วย ข่วน กัด หรือสัมผัส เครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อจากสัตว์นั้น

ส่วนการติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ ทางหลัก ติดต่อผ่านละอองฝอยทางการหายใจขนาดใหญ่ จากการอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะประชิด การสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย การสัมผัสเลือด หรือรอยโรคที่ผิวหนัง หรือ ของใช้ส่วนตัวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย หลังได้รับเชื้อโรคนี้มีระยะฟักตัว 7-14 วัน หรืออาจนานได้ถึง 21 วัน

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการของผู้ที่ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง จะเริ่มต้นจาก อาการมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และมีต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างฝีดาษลิงและฝีดาษ คือ ในฝีดาษจะไม่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต เช่นเดียวกับในฝีดาษลิง ภายใน 1-3 วัน

รูปภาพจาก มติชนออนไลน์

หลังจากมีอาการดังกล่าว จะเริ่มมีผื่นขึ้นโดยเริ่มมีผื่นบริเวณใบหน้าแล้วลามไปที่ผิวหนังส่วนอื่น จากผื่นจุดแดง นูนขึ้นเป็นตุ่ม แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำ และตุ่มหนอง และแตกออกเป็นสะเก็ดในที่สุด การดำเนินโรคจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยประมาณโดยมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10%โดยมีสาเหตุจาก ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในปอด การขาดน้ำและภาวะสมองอักเสบ

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ใช้การตรวจด้วยวิธี PCR ของเหลวจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง รักษาโดยให้ยาต้านไวรัส cidofovir, Tecovirimat, brincidofovir การป้องกันปัจจุบัน มีวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกา คือ JYNNEOS

Hygiene. Cleaning Hands. Washing Hands.

และสำหรับ การป้องกันเบื้องต้นสำหรับประชาชนทั่วไป แนะนำให้ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล งดรับประทานของป่า หรือปรุงอาหารจากสัตว์ป่า หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่มาจากพื้นที่เสี่ยง หรือสัตว์ป่าป่วย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ

ในกรณีที่พบผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิง แนะนำให้แยกผู้ป่วย ป้องกันระบบทางเดินหายใจของผู้ใกล้ชิด และนำส่งสถานพยาบาลที่สามารถแยกกักตัวผู้ป่วยได้ หลีกเลี่ยงการเลี้ยง หรือนำเข้าสัตว์ป่าจากต่างประเทศที่ไม่ทราบประเทศต้นทาง