9 มิ.ย. ปลดล็อก กัญชา ภาคครัวเรือน ปลูก-ใช้ อย่างไร ให้ถูกต้อง?

9 มิ.ย. ปลดล็อก กัญชา ภาคครัวเรือน ปลูก-ใช้ อย่างไร ให้ถูกต้อง?

วันที่ 31 พ.ค. 65 เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานข่าว หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 และทำให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป

โดยระหว่างที่ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. ซึ่งจะระบุข้อกำหนดต่างๆ รวมถึงบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนยังไม่ประกาศใช้นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้นำมาตรการชั่วคราวออกมาใช้

สำหรับการใช้ในครัวเรือนนั้น

1. การปลูก

ผู้ปลูกกรณีปลูกใช้เองในครัวเรือนไม่ต้องขออนุญาต เพียงจดแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 1 มิถุนายน และพร้อมออกใบรับจดแจ้งในวันที่ 9 มิถุนายน หรือจดแจ้งผ่านเว็บไซต์ “ปลูกกัญ” โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

2. พกติดตัวเดินทาง-นำเข้าจากต่างประเทศ

การนำเข้า เมล็ด และส่วนอื่นๆ ของต้นกัญชา จะต้องขออนุญาตนำเข้ากับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ก่อน

ด้านผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชา-กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา-กัญชง รวมทั้งกรณีนำเข้าเพื่อใช้เฉพาะตัว เช่น ผู้เดินทางนำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร และการส่งทางพัสดุ/ไปรษณีย์ระหว่างประเทศนั้น ต้องเป็นไปตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางจะห้ามนำเข้า

ส่วนกรณีของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอยู่ระหว่างการจัดทำกฎระเบียบเพื่อห้ามนำเข้าและกรณียกเว้น

3. ข้อควรระวัง และการใช้เพื่อสันทนาการ

สารสกัดที่มีปริมาณ THC มากกว่า 0.2% ยังถือเป็นยาเสพติด

แม้การนำพืชกัญชา กัญชง ไปใช้ในทางสันทนาการต่างๆ ไม่ว่าจะในครัวเรือน หรือสถานที่สาธารณะอย่าง ร้านอาหาร สถานบริการ และสถานบันเทิงนั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุมชัดเจน แต่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอ กม. ควบคุมด้านเหตุรำคาญจากกลิ่นและควันของกัญชา กัญชง และอาจกำหนดให้กลิ่นและควันกัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ

4. การปลูกเพื่อจำหน่าย

ปัจจุบัน สธ. ยังไม่มีไกด์ไลน์สำหรับการปลูกกัญชาเชิงพาณิชย์ ในช่วงก่อนที่ พ.ร.บ. จะบังคับใช้ แต่ตามร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. การปลูกเพื่อจำหน่ายมีแนวปฏิบัติดังนี้

– ผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขาย ต้องขออนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือผู้ซึ่งเลขาฯ อย. มอบหมาย

ทั้งนี้ ใบอนุญาตแต่ละชนิดจะมีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดใบอนุญาต อาทิ ใบอนุญาตปลูก ค่าธรรมเนียม 50,000 บาท ใบอนุญาตสกัด ค่าธรรมเนียม 50,000 บาท ใบอนุญาตจำหน่าย ค่าธรรมเนียม 5,000 บาท เป็นต้น

โดยผู้ที่ผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย โดยไม่มีใบอนุญาต จะระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีใบอนุญาตเดิมที่ออกตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะ กัญชง พ.ศ. 2563 และกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะ กัญชา พ.ศ. 2564 ให้ถือเป็นใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. ใหม่นี้ และใช้ได้จนสิ้นอายุใบอนุญาต