ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาปุ๋ยเคมีพุ่ง กระทบพืชเศรษฐกิจหลัก อย่างไร

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาปุ๋ยเคมีพุ่ง กระทบพืชเศรษฐกิจหลัก อย่างไร
ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาปุ๋ยเคมีพุ่ง กระทบพืชเศรษฐกิจหลัก อย่างไร

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาปุ๋ยเคมีพุ่ง กระทบพืชเศรษฐกิจหลัก อย่างไร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ราคาปุ๋ยยูเรียนำเข้าของไทยในปี 2565 จะยืนอยู่ในระดับสูงที่ 950-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เร่งขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2564 โดยราคาปุ๋ยเคมี (ยูเรีย) พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ตามราคาวัตถุดิบและอุปทานในตลาดโลกที่ตึงตัวจากผลกระทบของความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

ผนวกกับภาครัฐอนุญาตให้ปรับเพิ่มราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น อีกทั้งค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ราวเดือน ต.ค. 2564 หลังจากที่จีนจำกัดการส่งออกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

จนกระทั่งเดือน ก.พ. 2565 สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเคมีอย่างน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ดันให้ราคาปุ๋ยเคมีพุ่งตาม และรัสเซียได้มีการจำกัดการส่งออก รวมถึงผู้นำเข้าเร่งนำเข้า ทำให้อุปทานปุ๋ยในตลาดโลกตึงตัว ดันราคาปุ๋ยให้สูงขึ้นอีก

เกษตรกรไทยที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากจากราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น เพราะมีอัตราการใช้ปุ๋ยต่อไร่สูง ตามมาด้วยยางพาราและอ้อย ขณะที่ ข้าว แม้จะมีการใช้ปุ๋ยต่อไร่ที่น้อยกว่า แต่เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ทำให้ใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก อีกทั้ง ด้วยฤดูเพาะปลูกหลักของข้าวนาปีที่เพิ่งเริ่มต้น ทำให้หากเกษตรกรที่ปลูกข้าวปริมาณมากไม่สามารถปรับตัวได้ ก็อาจจะกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวทั้งปีนี้ให้ลดลงกว่าที่คาด

สำหรับปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (ทุเรียน) แม้จะมีอัตราการใช้ปุ๋ยต่อไร่ที่สูงกว่า แต่เนื่องจากขณะนี้ได้เข้าสู่ระยะเก็บเกี่ยวที่อาจไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยมากแล้ว ดังนั้น ผลกระทบของราคาปุ๋ยต่อปริมาณผลผลิตทั้งปีนี้ของปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (ทุเรียน มังคุด) จึงน่าจะอยู่ในวงที่จำกัด

ปุ๋ยเคมีเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการปลูกพืชเกษตรไทย โดยไทยเป็นประเทศที่นำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบทั้งหมด และนำเข้ามากขึ้นทุกปี โดยนำเข้าเฉลี่ยปีละกว่า 5 ล้านตัน มูลค่ามากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการที่ไทยมีพื้นที่เกษตรที่จำกัด ทำให้คุณภาพดินเสื่อมลง และต้องใช้ปุ๋ยต่อไร่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ในระยะกลางถึงยาว ทุกภาคส่วนต้องมุ่งไปที่การออกแบบโครงสร้างการใช้ปุ๋ยเคมีให้ตรงกับลักษณะดินอย่างมีประสิทธิภาพ มีการวิเคราะห์ดินอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วย อันจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างยั่งยืน

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย