กางตำราขายของ! 4 สูตรเด็ด แก้ปัญหา เงินจม กับ สินค้าค้างสต๊อก  

กางตำราขายของ! 4 สูตรเด็ด แก้ปัญหา เงินจม กับ สินค้าค้างสต๊อก  

ปัจจุบัน หลายๆ คน ผันตัวหันมาขายของออนไลน์ กันมากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันที่ตามมาย่อม ดุเดือด แต่ละร้าน จึงมีวิธีการขายและการเติมของแตกต่างกัน แล้วรู้หรือไม่ว่า การจัดการสต๊อกสินค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็ส่งผลต่อต้นทุนทางธุรกิจเป็นอย่างมาก

บวกกับกำลังซื้อลูกค้าหด พ่อค้าแม่ขายต้องปรับแผนรับมือใหม่ แล้วจะจัดการสต๊อกอย่างไร ไม่มากไปจน เงินจม และไม่น้อยไปจน พลาดโอกาสขาย เพจ K SME ได้มัดรวม 4 สูตรเด็ดในการจัดการสต๊อกให้ทุกท่านได้นำไปปรับใช้ ดังนี้

สูตร 1 : หาจำนวนสินค้า เพื่อให้มีสินค้าเพียงพอในการขาย (Safety Stock) คือ มีของเท่าไรถึงจะปลอดภัย ขายได้อย่างไม่ขาดแคลน คิดง่ายๆ โดยการนำ จำนวนสินค้าที่ขายได้เฉลี่ยต่อวัน x ระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ = จำนวนสินค้าขั้นต่ำที่ควรมีในสต๊อก เช่น เฉลี่ยใน 1 วัน ขายสินค้าได้ 10 ชิ้น x 10 วัน = 100 ชิ้น ที่ต้องมีในสต๊อก

———————————————————————

สูตร 2 : หาว่าเมื่อไหร่ ต้องสั่งสินค้าเข้ามาเพิ่ม (Reorder Point : ROP) โดยนำ (จำนวนสินค้าที่ขายได้เฉลี่ยต่อวัน x ระยะเวลาในการจัดหาสินค้ามาขาย) + Safety Stock = จำนวนสินค้าคงเหลือ ถึงจุดที่ต้องสั่งซื้อใหม่ เช่น (ขายสินค้าได้ 10 ชิ้น ต่อวัน x 7 วัน) + 100 ชิ้นที่มีในสต๊อก = 170 ชิ้น ที่เป็นจำนวนของที่ต้องสั่งเพิ่ม

———————————————————————–

สูตร 3 : หาจำนวนสินค้าที่เก็บสินค้าในสต๊อกได้สูงสุด (MAX) คือการนำ จำนวนสินค้าที่ขายได้เฉลี่ยต่อวัน x จำนวนวันที่ต้องการเก็บสินค้าไว้ = จำนวนสินค้าที่เก็บได้สูงสุดในสต๊อก เช่น ขายได้ 10 ชิ้นต่อวัน x วันที่ต้องการเก็บสูงสุด 30 วัน = จำนวนสินค้าที่เก็บได้สูงสุดในสต๊อก คือ 300 ชิ้น

————————————————————————

สูตร 4 : หาจำนวนสินค้าที่ต้องการสั่งซื้อในแต่ละครั้ง คือ การนำเอา จำนวนสินค้าที่เก็บได้สูงสุดในสต๊อก x Safety Stock = จำนวนสินค้าสูงสุดที่ควรสั่งซื้อในแต่ละครั้ง เช่น จำนวนสินค้าที่เก็บได้สูงสุดในสต๊อก คือ 300 ชิ้น x 100 ชิ้นที่มีในสต๊อก = จำนวนสินค้าสูงสุดที่ควรสั่งซื้อในแต่ละครั้ง คือ 200 ชิ้น

การที่ธุรกิจจะจัดสต๊อกสินค้าให้พอดีกับความต้องการของลูกค้า ยังถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ถ้าสามารถจัดการได้ดี ก็จะส่งผลดีต่อสภาพคล่องของธุรกิจให้ยังคงไปต่อได้นั่นเอง