อัดฉีด 400 ล้าน ตั้งเป้าช่วยเอสเอ็มอี 6,000 ราย ผุดมาตรการ SME ปัง ตังได้คืน

อัดฉีด 400 ล้าน ตั้งเป้าช่วยเอสเอ็มอี 6,000 ราย ผุดมาตรการ SME ปัง ตังได้คืน

คุณวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสวฺ.) กล่าวว่า สสว. เริ่มดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ Business Development Service มาตั้งแต่ต้นปี 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการมีโอกาสเข้าถึงบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่

ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกประเภทของบริการที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจตัวเองได้ เรียกว่า Business Development Service หรือ BDS โดย สสว. จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาให้แก่ผู้ประกอบการ แบบร่วมด้วยช่วยจ่ายในสัดส่วนร้อยละ 50-80 ตามขนาดของธุรกิจ สูงสุดถึงรายละ 200,000 บาท

ผอ.สสว. เผยอีกว่า ในปีนี้ สสว. ได้เตรียมงบประมาณเพื่อช่วยอุดหนุนผู้ประกอบการกว่า 400 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการกว่า 6,000 ราย มุ่งเน้นการอุดหนุนพัฒนาใน 3 ด้าน คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด และการพัฒนาการตลาดต่างประเทศ

คุณวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดหลักของมาตรการใหม่ล่าสุดของ สสว. ที่มีชื่อว่า SME ปัง ตังได้คืน คือ ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้พลิกฟื้นและพัฒนาธุรกิจให้ก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยเบื้องต้น สสว. พิจารณาผู้ประกอบการใน 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว (Restart) เช่น โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร บริการเพื่อสุขภาพ นำเที่ยวหรือจำหน่ายของที่ระลึก เพื่อพลิกธุรกิจขานรับนโยบายเปิดประเทศ

กลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม (Food) รวมไปถึงการผลิตยาและสมุนไพร กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมการบิน อากาศยาน และเครื่องมือแพทย์ และ กลุ่ม BCG เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว กลุ่มเกษตรแปรรูป และการค้าและบริการอื่นๆ

SME ปัง ตังได้คืน

“ข้อดีของมาตรการ SME ปัง ตังได้คืน คือ นอกจากเอสเอ็มอีจะโตขึ้นจากการพัฒนาบริการด้านมาตรฐานจนทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้น จนปังแล้ว เอสเอ็มอี ก็ต้องได้ตังคืนด้วย ซึ่งมองว่าได้ตังคืนสองต่อ คือ ตังได้คืน ต่อที่ 1 จากการที่เอสเอ็มอีพัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว จะได้เงินคืนจาก สสว. 50-80% ไม่เกิน 200,000 บาท และตังได้คืน ต่อที่ 2 คือ หลังจากที่เอสเอ็มอีได้รับการพัฒนาธุรกิจจากการที่ได้รับมาตรฐานต่างๆ และได้กำไรกลับมาให้สู่ธุรกิจ” ผอ.สสว. ระบุ

ด้านคุณสมบัติของเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ คือ กลุ่มธุรกิจ Micro SME หรือรายย่อย มีรายได้ 1.8 ล้านบาทต่อปี จะได้รับสิทธิ์ในการช่วยเหลืออุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาไม่เกิน 80% สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท กลุ่มธุรกิจขนาดย่อม ในภาคการผลิต มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี และภาคการค้า และภาคบริการ มีรายได้ไม่เกินปีละ 50 ล้านบาท รับเงินสนับสนุนร้อยละ 50-80 สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดย สสว. ตั้งเป้าจะพัฒนาและให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี 6,000 ราย