ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พูดไว้อย่างไร ต้องทำอย่างนั้น “ชัชชาติ” สัญญากับ คนทำมาค้าขาย อะไรบ้าง
ผลเลือกตั้งออกมาค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับคะแนนไว้วางใจอย่างท่วมท้น กับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ก้าวต่อไปของผู้นำท่านนี้ คงหนีไม่พ้นการเข้ามาแก้ไขปัญหาสารพัดของเมืองหลวงประเทศชาติไทยของพวกเรา
แต่หากจะโฟกัส เฉพาะประเด็นของ คนทำมาค้าขาย เจ้าของกิจการน้อยใหญ่ นั้น ท่านผู้นำท้องถิ่นคนล่าสุดท่านนี้ มีแนวคิดที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขหลากหลายปัญหา ซึ่ง เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ได้รวบรวมมาไว้พอสังเขปดังนี้
“จะจัดทำตลาดออนไลน์ เพื่อลดการจราจร ลดมลพิษ และเรื่องราคาที่ด้วย กทม. ต้องปรับตัวให้ทันโลกออนไลน์มากขึ้น ต้องเต็มที่กับประชาชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา พร้อมทั้งต้องช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนด้วย” คุณชัชชาติ เคยระบุไว้อย่างนั้น
ทั้งยังเคยบอกไว้ด้วยว่า การจ่ายค่าปรับของพ่อค้า-แม่ค้า ให้กับเจ้าหน้าที่เทศกิจ แม้จะเป็นการจ่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีใบเสร็จ แต่เป็นสิ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ และซ้ำเติมความเดือดร้อนของชาวบ้านทำมาหากินสุจริต ปีที่ผ่านมาพ่อค้า-แม่ค้า ต้องจ่ายค่าปรับให้กับเทศกิจมากถึง 100 ล้านบาท แบ่งเป็นรางวัลนำจับ 50 ล้านบาท
โดยเงินจำนวนดังกล่าว ได้แบ่งเข้ารัฐด้วย แต่กลับพบว่า ไม่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิต บ้านเมืองไม่ได้สะอาดขึ้น จากเงินค่าปรับของเทศกิจ ทุกเดือนเหมือนจ่ายค่าเช่าแผง จึงมีแนวคิดหากมีการกระทำผิดจริง มีการปรับ อาจนำค่าปรับมาตั้งเป็นกองทุน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มผู้ค้าขายภายในตลาด
นอกจากนี้ คุณชัชชาติ ยังเคยหาเสียงไว้ด้วยว่า การค้าขายริมทางที่ยังมีความจำเป็นต่อเมือง เนื่องจากเป็นแหล่งจำหน่ายอาหารราคาถูก แต่ กทม. จะจัดการพื้นที่อย่างไรไม่ให้ร้านค้าเบียดบังทางเท้า หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะลงพื้นที่ 50 เขต ภายใน 1 ปี ตามโครงการ ผู้ว่าฯ สัญจร เพื่อทำความเข้าใจปัญหา กทม. ให้ดีขึ้น และเป็นช่องทางให้ชุมชนได้ร้องเรียนปัญหาถึงผู้ว่าฯ กทม.โดยตรงอีกด้วย
“จะฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้โดยเร็ว เพื่อเปิดประเทศ เปิดกิจการต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวกลับมา โดยดึงอัตลักษณ์ของย่าน 50 ย่าน 12 เทศกาล มาเสริมสร้างเศรษฐกิจ สร้างกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างหารายได้ให้กับประชาชนในแต่ละชุมชน” คุณชัชชาติ ระบุอย่างนั้น
และว่า ต้องหาคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในแต่ละชุมชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และเกิดการสร้างงาน โดยเฉพาะการจ้างงานกลุ่มผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพฯ