อนุทิน เผย ฤกษ์ดี 9 มิ.ย.นี้ ปลูกกัญชาถูกกฎหมาย ไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว

อนุทิน เผย ฤกษ์ดี 9 มิ.ย.นี้ ปลูกกัญชาถูกกฎหมาย ไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว

วันที่ 13 พ.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้ถูกกฎหมาย หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ เพราะกัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป

โดยปลดล็อกทุกส่วนของกัญชา กัญชง ที่ปลูกภายในประเทศ ไม่ใช่ยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชาของพรรคภูมิใจไทย จะเข้าสภาไม่ทัน 9 มิ.ย. แต่ทางกระทรวงได้ชี้แจงการใช้กัญชาแล้ว

ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขได้อธิบาย เรื่องกัญชาเสรีต้องใช้อย่างไรถึงถูกต้อง เพราะฉะนั้น คนที่ใช้ผิด คือ คนที่ตั้งใจจะใช้ผิด ต้องมาดูเรื่องกฎหมายสาธารณสุขมาดูแลต่อไป ย้ำว่า ทำนโยบายนี้เพื่อให้คนได้ใช้ประโยชน์ของกัญชา ไม่ใช่ใช้ส่วนที่เป็นโทษ ต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย

นโยบายกัญชา คือกัญชาทางการแพทย์เท่านั้น ถ้าคนบริโภคในอัตราที่เหมาะสมจะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าขาดความเข้าใจแล้วไปใช้ทางที่ผิด หวังว่าจะออกฤทธิ์ให้สุขภาพดีขึ้นไม่มีทาง มีแต่โทษ ต้องเข้าใจเรื่องนี้ เชื่อว่าทุกคนเข้าใจ เพียงแต่จะทำหรือไม่ทำ

หลังจากนี้กัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว ไม่ต่างจากต้นพริกขี้หนู ถ้าไม่สนใจ ไปเอามากินครั้งเดียวหลายๆ เม็ด ก็อันตรายได้ แต่ถ้าใช้เพิ่มเติมรสชาติอาหารก็เป็นประโยชน์ กัญชาก็เช่นกัน นโยบายของ สธ. คือ กัญชาเสรีทางการแพทย์ ก็อธิบายด้วยตัวมันเอง ส่วนการใช้ที่ไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ และอาจจะผิดกฎหมายด้านสาธารณสุข

ถามถึงกรณีนักวิชาการเสนอให้เพิ่มกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกัญชาใน พ.ร.บ. ด้วย นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการจะพิจารณา ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ผ่าน ครม. ผ่านความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี บรรจุในวาระการประชุมรัฐสภา ซึ่งจะเปิดวันที่ 22 พ.ค. นี้ ก็ต้องบรรจุเข้าไปตามขั้นตอน ผ่านมือ สธ. และรัฐบาลไปแล้ว อยู่ที่การพิจารณาของสภา

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า มองกัญชา กัญชง เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพ การแพทย์ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงจะนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ อย. ดูแลตั้งแต่การปลูก การสกัด และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งต้น พ.ค. อนุมัติผลิตภัณฑ์แล้วเกือบ 1 พันรายการ ทั้งยาสมุนไพร อาหาร เครื่องดื่ม และจะอนุมัติเพิ่มขึ้น หลักการใช้กัญชา ตาม พ.ร.บ.กัญชา เพื่อส่งเสริมใช้ในการแพทย์ มีข้อกำหนดไม่ให้ใช้กับหญิงตั้งครรภ์หรือเด็ก และควบคุมโฆษณา ซึ่งจะมีโทษตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์

จุดยืนของพืชสมุนไพร คือมีการนำไปใช้ที่เหมาะสม โดยมีแอพพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” เพื่อจดแจ้งปลูกในประชาชนทั่วไป และขออนุญาตในเชิงพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้พัฒนาเสร็จแล้ว จะเริ่มให้บริการในวันที่ 9 มิ.ย.

ตอนนี้ประชาชนรับทราบและมี mindset เรื่องยาเสพติดกับสิ่งที่จะไปใช้ประโยชน์ได้ดี นึกถึงเรื่องใช้เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือสินค้าที่ทำจากกัญชา กัญชงอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า ประชาชนมีความตื่นตัว แต่ย้ำว่า สารสกัดที่มี THC มากกว่า 0.2% ยังเป็นยาเสพติดอยู่ และกำหนดชัดเจนว่ายังต้องเป็นการปลูกในประเทศ แม้แต่ผลิตภัณฑ์สุขภาพก็ชัดเจนว่าต้องมาจากในประเทศ

ถามต่อว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผ่าน อย. มี THC สูงกว่า 0.2% หรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ก่อนอนุญาตจะมีการตรวจวิเคราะห์ มีข้อกำหนดว่าต้องมีปริมาณเท่าไรต่อผลิตภัณฑ์นั้นๆ ถามว่าถ้าเกิน 0.2% นำไปใช้จะต้องขออนุญาต เช่น ยาสูตรเข้ากัญชาต่างๆ อย่างสูตรเมตตาโอสถของกรมแพทย์แผนไทยฯ มี THC สูงมาก แต่เป็นการนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง

เมื่อถามถึงข้อเสนอตั้งกองทุนดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชา นพ.ไพศาล กล่าวว่า เสนอมาได้ อย. ไม่มีอำนาจในส่วนนี้ แต่รับฟังทุกข้อเสนอ ทั้งนี้ พ.ร.บ.กัญชา ไม่ใช่ของเดิมที่นำมาทำใหม่ หากจะต้องตั้งเป็นกองทุนก็ต้องไปดูว่าอยู่ในกฎหมายใด หรืออาจจะนำไปเพิ่มเติมใน พ.ร.บ. ที่กำลังพิจารณาในสภา

ถามว่าจะควบคุมโฆษณาอย่างไร เพราะมีโฆษณาผลิตภัณฑ์กัญชาอย่างมาก นพ.ไพศาล กล่าวว่า มีการควบคุมการโฆษณาตาม พ.ร.บ. ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทั้งยา อาหาร และสมุนไพร จะต้องขออนุญาตจาก อย. ก่อน แต่เครื่องสำอางไม่ต้องขออนุญาตก่อนโฆษณา แต่ต้องไม่โอ้อวดเกินจริง

ที่มา ข่าวสดออนไลน์