เผยแพร่ |
---|
ทุนพุ่งคับกระป๋อง! ผู้ประกอบการ ปลากระป๋อง ขอปรับราคาขึ้น 2 บาท เหตุ เหล็ก-ขนส่ง ต้นทุนไม่หยุด
เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ เผยข่าว อุตฯ ปลากระป๋องหมื่นล้านสะเทือน ต้นทุนการผลิต “ปลา-กระป๋อง-ขนส่ง” พุ่ง บาทอ่อนทุบซ้ำต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าแพง “ซูเปอร์ ซีเชฟ-โรซ่า-ปุ้มปุ้ย” ยื่นขอปรับราคา 2 บาท/กระป๋อง ตามรอย “ทียู” “ซีเล็ค” ขอขึ้น 5-7% สมาคมอาหารสำเร็จรูปชี้แนวโน้มต้นทุนสูงต่อเนื่อง “ผักกระป๋อง ปลากระป๋อง เครื่องปรุงรส” เริ่มเจรจาค้าปลีกขอปรับราคาขึ้นตาม
โดย นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปลากระป๋องแบรนด์ “ซูเปอร์ ซีเชฟ” เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจ ว่า จากต้นทุนการผลิตสินค้าทุกอย่างที่เพิ่มในรอบปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตจึงมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นราคาอย่างน้อย 20% แต่เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนแรงมากคงปรับขึ้นขนาดนั้นไม่ได้ แต่ควรให้ปลากระป๋องขึ้นราคากระป๋องละ 2 บาท
การที่ต้นทุนสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี ทำให้กำไรต่อกระป๋องลดลง นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบของค่าบาทที่อ่อนตัวลงไปถึง 33-34 บาท และสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ คือ การปรับค่าแรงขั้นต่ำ และราคาเหล็กที่อาจปรับตัวขึ้นไปอีก ซึ่งต้องรอคณะกรรมการทุ่มตลาดและการอุดหนุนพิจารณาภายในเดือน พ.ค. นี้
ขณะที่ นายสุวิทย์ วังพัฒนมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปลากระป๋อง “โรซ่า” สะท้อนปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นว่า
ขณะนี้ต้นทุนการผลิตต่างๆ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งวัตถุดิบ ค่าขนส่ง บรรจุภัณฑ์ โดยรวมปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 10-15% จากเมื่อช่วงต้นปีที่เพิ่มขึ้น 6-7% ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบไปถึงต้นทุนการจับปลาที่เป็นวัตถุดิบหลัก
รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ หรือกระป๋อง ล่าสุดเพิ่งแจ้งมาว่าจะขึ้นราคาอีก ที่คาดว่าปรับขึ้นอีกในช่วงกลางปี ซึ่งจะกระทบกับผู้ผลิตค่อนข้างหนัก แม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับราคาส่งไปเมื่อต้นปี แต่ไม่สามารถปรับขึ้นได้อีกเพราะชนเพดานแล้ว
“ที่ผ่านมาบริษัทได้ยื่นขอปรับขึ้นราคาไปยังกรมการค้าภายใน ขอกระป๋องละประมาณ 2 บาท แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเรียกคุย คาดว่าอยู่ระหว่างการพิจารณา”
ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังไม่ปรับขึ้นราคา เนื่องจากอาหารกระป๋องเป็นสินค้าควบคุม แต่มีหลายรายที่ทำเรื่องขอปรับราคาไปแล้ว และได้รับการอนุมัติบ้างแล้ว และบางรายอยู่ระหว่างการพิจารณา ที่ผ่านมาบางรายปรับขึ้นราคาขายส่ง ส่วนราคาขายปลีกขึ้นอยู่กับคู่ค้าของแต่ละราย
สำหรับสินค้าอาหารสำเร็จรูปกลุ่มที่มีการปรับขึ้นราคาบ้างแล้ว ได้แก่ ผักกระป๋อง ปลากระป๋อง เครื่องปรุงรส ขณะเดียวกันก็มีผู้ผลิตบางรายที่ปรับตัวมาใช้ถุงเพาช์ (พลาสติก) แทนกระป๋องที่มีต้นทุนสูง ผู้ประกอบการที่มีบรรจุภัณฑ์หลายชนิดจึงพยายามเฉลี่ยต้นทุนให้มากที่สุด บางรายจึงยังไม่ขอปรับราคาเนื่องจากต้องการรักษาฐานตลาด เพราะการซื้อของผู้บริโภคยังเปราะบาง และบางส่วนยังติดสัญญาราคาขายกับห้างค้าปลีก
“ตอนนี้ราคากระป๋องยังมีแนวโน้มจะปรับขึ้นราคาอีก และภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) แผ่นเหล็ก (ทินเพลตและทินฟรี) 6 เดือน จะครบกำหนดในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งจากกรมการค้าต่างประเทศว่าจะขยายเวลาบังคับใช้ ออกไปอีก 6 เดือนหรือไม่ ต้องรอผลการประชุมพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน หรือ ทตอ. ก่อน”
สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู ผู้ผลิตอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปของไทย แบรนด์ “ซีเล็ค ทูน่า” กล่าวถึงภาพรวมต้นทุนการผลิตปลากระป๋องที่ปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณ 6-7% จากแพ็กเกจจิ้ง และค่าขนส่งที่ปรับขึ้นมาตั้งแต่ปีก่อน
ในส่วนของแพ็กเกจจิ้งคิดเป็นสัดส่วน 10% โลจิสติกส์ สัดส่วน 20% ที่เหลืออีก 10% เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยไทยยูเนี่ยนเริ่มปรับราคามาตั้งแต่ปลายปี 2564 ตามต้นทุนชนิดสินค้า ส่วนสินค้าที่รับจ้างผลิต (ORM) ปรับขึ้นราคาเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม ภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับขึ้นนี้ไม่ได้กระทบแต่ทียู เพราะมีผลกับทุกอุตสาหกรรมทุกประเทศทั่วโลก