แบงก์ชาติ คงดอกเบี้ยต่ำลากยาว ขึ้นเมื่อไหร่ มีธุรกิจได้ประโยชน์ และกระทบรุนแรง

แบงก์ชาติ คงดอกเบี้ยต่ำลากยาว ขึ้นเมื่อไหร่  มีธุรกิจได้ประโยชน์ และกระทบรุนแรง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เผยถึงสถานการณ์ด้านการเงิน โดยภาพรวมในขณะนี้ว่า สหรัฐฯ เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงในรอบกว่า 40 ปี ในขณะที่อีกหลากหลายประเทศ ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วหรือส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในเวลาอันใกล้

แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ก็เผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งแรงและรวดเร็ว แล้วทำไมทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำลากยาว โดยยังไม่ได้แสดงสัญญาณใดๆ ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาอันใกล้

“เชื่อว่าทาง ธปท. คงกังวลในประเด็นเงินเฟ้ออยู่บ้าง แต่คงไม่อยากส่งสัญญาณอะไรที่จะทำให้ตลาดผันผวนจนกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อไม่มีความชัดเจนในช่วงเวลาหรือสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของไทย จึงขอปรุงสูตรลับที่ทางแบงก์ชาติสงวนเอาไว้ไม่ได้เปิดเผย มาลองดูว่าจะสามารถชี้ให้นักลงทุนและผู้ประกอบการเห็นว่าควรเตรียมรับมือกับดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยได้เมื่อไร” ดร.อมรเทพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หาก ธปท. เห็นสัญญาณดังกล่าวและเริ่มที่จะควบคุมได้ยากขึ้น ทาง ธปท. ก็อาจเริ่มส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยได้ และจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น จะมีทั้งกลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบเชิงลบและกลุ่มที่ได้ประโยชน์ โดยเราประเมินกลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรม แยกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์สามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ผลกำไรของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น กลุ่มธุรกิจประกันชีวิต เพราะเงินเบี้ยประกันจากลูกค้า

ส่วนใหญ่บริษัทประกันจะนำไปลงทุนในตราสารหนี้ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ก็จะทำให้บริษัทประกันมีแนวโน้มได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น รวมทั้งกลุ่มธุรกิจนำเข้าต่างๆ เช่น ธุรกิจนำเข้าเครื่องมือแพทย์ ธุรกิจนำเข้าเครื่องจักร จากต้นทุนการนำเข้าที่อาจลดลง

ธุรกิจ ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ ธุรกิจที่มีภาระหนี้สินสูง ประกอบกับมีความอ่อนไหวกับภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่สูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย

ดังนั้น ความต้องการของสินค้าและบริการอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากในสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวต่ำ ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของกลุ่มเช่าซื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้หลักจากดอกเบี้ยรับจากการปล่อยสินเชื่อจะเป็นลักษณะการคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ (Fixed Rate)

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทำให้ภาระในการผ่อนชำระต่องวดของผู้กู้ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ลดลงได้

สำหรับธุรกิจอื่นๆ ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น ธุรกิจ Transportation (Land, Sea and Air), Private Construction, Construction Materials, Energy, Movie Theatre และ Media เป็นต้น นอกจากนี้ บางธุรกิจยังเสียเปรียบในการแข่งขันอีกด้วย เช่น Car Dealer (Non-leading Brands), Department Store (Small Size) เป็นต้น

สอง ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบระดับปานกลาง-น้อย จากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน, ธุรกิจ Warehouse Rental in Eastern Area, Department Store (Large Size), ธุรกิจดิสเคานต์สโตร์, ธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาง, ธุรกิจปาล์มน้ำมัน, ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค, ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องปรับอากาศ)

เพราะแม้จะได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงระดับหนึ่ง  แต่ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการใช้บริการและสินค้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขัน