ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เคทีซี จัดเสวนา รับมือเสี่ยง-ภัยออนไลน์ หนุน ธุรกรรมการเงินปลอดภัย พร้อมแนะวิธีสังเกต มิจฉาชีพออนไลน์ เบื้องต้น
นายไรวินทร์ วรวงษ์สถิตย์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ควบคุมงานปฏิบัติการและงานปฏิบัติการร้านค้า “เคทีซี” กล่าวในงานเสวนา KTC FIT Talks 7 ตอนรับมือความเสี่ยงและภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ ว่า
ธุรกรรมการชำระเงินออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตรวดเร็ว โดยเฉพาะการชำระค่าสินค้าและบริการบนอีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมสูงต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม 9.79% ต่อปี ในช่วงปี 2560-2564 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
โดยผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านอีมาร์เก็ตเพลซ มากที่สุด ในขณะที่ผู้ขายนิยมขายสินค้าผ่านโซเชียล คอมเมิร์ซ มากที่สุด สำหรับช่องทางการชำระค่าสินค้าและบริการออนไลน์ที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่
1. แอพพลิเคชั่นของธนาคาร
2. ชำระเงินปลายทาง
3. ชำระด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต
4. โอนหรือชำระเงินผ่านบัญชีธนาคาร
5. ชำระด้วยวอลเล็ตของแพลตฟอร์ม
นอกเหนือจากการชำระค่าสินค้าและบริการเพื่อการอุปโภคบริโภคผ่านออนไลน์แล้ว นับตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกหนึ่งบริการที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นคือ การซื้อขายสินทรัพย์เพื่อการลงทุนออนไลน์ อาทิ บิตคอยน์ หุ้น และกองทุนรวม
“เคทีซีให้ความสำคัญสูงสุดคือ ความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกในการทำทุกธุรกรรมการเงิน ด้วยการพัฒนาระบบบริหารการป้องกันภัยทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ผ่าน 4 องค์ประกอบหลัก คือ บุคลากร สร้างทีมงานที่มีศักยภาพในการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งให้ความรู้บุคลากรในองค์กรเพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ที่ดี และเพิ่มความรู้เท่าทันให้ผู้บริโภคเพื่อให้เกิดความระมัดระวัง กระบวนการปฏิบัติงาน มีมาตรฐานและยืดหยุ่นสูง เพื่อให้สามารถตรวจจับและป้องกันเหตุทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
”รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปรับปรุงกระบวนการงานให้มีความทันสมัย เทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริต การบริหารจัดการข้อมูล ติดตามและอัพเดตข้อมูลสถานการณ์ที่มีแนวโน้มการทุจริตทั้งจากภายในและต่างประเทศ รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบภายใต้หลักเกณฑ์ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี การป้องกันภัยจากการทุจริตต่างๆ จะเกิดประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น หากสมาชิกและผู้บริโภคได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีการป้องกันตนเองในเบื้องต้น” นายไรวินทร์ กล่าว
นายนพรัตน์ สุริยา ผู้จัดการ–ควบคุมและป้องกันการทุจริต “เคทีซี” กล่าวถึงการรับมือในยุคสังคมไร้เงินสดว่า ผู้บริโภคสามารถร่วมป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ง่ายๆ โดย
1) ระมัดระวังไม่หลงเชื่ออีเมลลวง ทุกธนาคารและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายแจ้งให้ลูกค้าเข้าใช้บัญชีผ่านทางอีเมล
2) ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่น่าเชื่อถือ
3) ตั้งการแจ้งเตือนเมื่อมีการทำธุรกรรม ผ่าน SMS หรือให้อีเมลกับธนาคารและสถาบันการเงิน
4) ล็อกเอาต์ออกจากระบบทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน
และการป้องกันความเสี่ยงจาก QR Code ปลอม ทำได้โดยตรวจสอบความเรียบร้อยสมบูรณ์ถูกต้องของ QR Code ใช้สแกนเนอร์ที่มีความปลอดภัยและมีฟังก์ชั่นเตือนเมื่อเป็น QR Code ปลอม / ระมัดระวังการสแกน QR Code ที่ติดตั้งในที่สาธารณะ / ไม่พิมพ์ข้อมูลส่วนตัวหลังจากสแกน QR Code / ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์หรือ URL หลังการสแกน QR Code เพราะมิจฉาชีพมักใช้ชื่อคล้ายคลึงกัน / หลีกเลี่ยงการดาวน์โหลดแอพจาก QR Code ควรดาวน์โหลดจาก Apple Store หรือ Google Play แทน
“สำหรับสมาชิกเคทีซี แนะนำให้เพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล ด้วยการดาวน์โหลดและใช้แอพ KTC Mobile ซึ่งปลอดภัยตั้งแต่เริ่มต้นล็อกอินด้วยรหัสผ่าน 6 หลัก อีกทั้ง เคทีซียังได้มีการปรับข้อความเมื่อส่งรหัสผ่านสำหรับใช้ครั้งเดียว หรือ OTP โดยย้ำเตือนให้สมาชิกระมัดระวังการแจ้งรหัสให้กับบุคคลอื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการทุจริตเข้าถึงบัญชี”
“นอกจากนี้ สมาชิกเคทีซีและผู้บริโภคยังสามารถตรวจสอบเว็บไซต์แปลกปลอมได้ผ่าน https://who.is เพื่อหาข้อมูลจดทะเบียนของเว็บไซต์ต่างๆ ได้ เนื่องจากปัจจุบันได้มีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นสถาบันการเงินที่มีการจดทะเบียนจริง แล้วสร้างเว็บไซต์ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหลอกให้ผู้เสียหายโอนค่าค้ำประกันวงเงินกู้ แต่ไม่มีการให้สินเชื่อแต่อย่างใด” นายนพรัตน์ กล่าว
นายพันธ์เทพ ชนะศึก ผู้อำนวยการ-หน่วยงานควบคุมและป้องกันการทุจริต “เคทีซี” กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือปัญหาทางออนไลน์ว่า เคทีซีทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสและติดตามสังเกตการณ์เหตุผิดปกติวิสัย ซึ่งอาจนำไปสู่การทุจริตของมิจฉาชีพ เพื่อการป้องปราบที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
โดยล่าสุด ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้พัฒนาความช่วยเหลือปัญหาที่เกิดขึ้นทางออนไลน์ไปอีกขั้น ด้วยการแจ้งเตือนภัย และเปิดให้ผู้บริโภคสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่ โทร. 1441 นอกจากนี้ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังได้เปิดสายด่วน โทร. 1212 เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคออนไลน์เชิงรุกตลอด 24 ชั่วโมง