เอสเอ็มอี พ้นจุดต่ำสุดแล้ว ต้อง Reskills – Upskills ควบคู่หนุนแหล่งเงินทุน

เอสเอ็มอี พ้นจุดต่ำสุดแล้ว ต้อง Reskills – Upskills ควบคู่หนุนแหล่งเงินทุน

การแบ่งปันความรู้ การให้โอกาส และการสนับสนุนและส่งเสริมเอสเอ็มอีอย่างตรงจุด นับเป็น 3 อาวุธสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน “ศูนย์ 7 สนับสนุน SME” หรือ 7 SME Support Center ภายใต้การขับเคลื่อนของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ หนึ่งในหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกมิติ จึงได้ผนึกกำลังหลากพันธมิตรเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมดีๆ อย่างต่อเนื่อง มุ่งหวังช่วยติดอาวุธด้านความรู้เสริมศักยภาพเอสเอ็มอีไทย

ล่าสุด จับมือกับพันธมิตรสำคัญ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดสัมมนาออนไลน์ “SME 3ก แกร่ง เก่ง กล้า” ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “SME Unlock : ปลดล็อกอนาคต SME ด้วยการ Reskills & Upskills” พร้อมเปิดเกณฑ์คุณสมบัติเอสเอ็มอีที่จะได้รับการสนับสนุนตามมาตรการของหน่วยงานภาครัฐ

รศ.ดร.วีระพงศ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเอสเอ็มอีในช่วงไตรมาส 2/2563 ซึ่งเป็นระยะแรกของการแพร่ระบาด ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (GDP MSME) อยู่ที่ -17.1% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี (2560-2564) แต่เมื่อเอสเอ็มอีเริ่มปรับตัวได้ประกอบกับได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมตรงจุด ทำให้ตัวเลขการฟื้นตัวของ GDP MSME ปี 2564 ขยายตัว 3.0%

สำหรับในปี 2565 สสว. ประมาณการว่า GDP MSME จะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.9% โดยมีปัจจัยบวกสนับสนุนหลากปัจจัย อาทิ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์โลก การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐอย่างต่อเนื่องตามแผน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวภายใต้มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นและการลงทุนที่มากขึ้นของภาคเอกชนตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐ

แม้ในปีนี้เอสเอ็มอีไทยจะมีปัจจัยหนุนในการเติบโต แต่ยังคงมีปัจจัยลบอยู่ด้วยเช่นกัน อาทิ มีผลิตภาพที่ต่ำเกินไป มีจุดอ่อนด้านการพัฒนาดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจน้อย และมีหนี้สินจำนวนมาก ปัจจัยลบเหล่านี้ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเติบของเอสเอ็มอี รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเอสเอ็มอีมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ถึง 34.6% ซึ่งหมายความว่า หากเอสเอ็มอีแข็งแรง ประเทศก็จะแข็งแรงด้วยเช่นกัน

สสว. ในฐานะหน่วยงานที่บูรณาการและผลักดันการส่งเสริม MSME จึงได้เร่งดำเนินการผลักดันแผนสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยแบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลักๆ ประกอบด้วย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ และการขยายโอกาสทางการตลาด ซึ่งทั้ง 3 เรื่องหลักจะถูกขับเคลื่อนผ่านกลไกที่ สสว. อยู่หรือพัฒนาให้ดีขึ้น ประกอบด้วย 1. ศูนย์กลางบริการข้อมูลสำหรับธุรกิจ (SME Portal) อย่าง SME ONE ศูนย์รวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเอสเอ็มอี

รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

2. การขยายผลโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ (Business Development Service) หรือเรียกง่ายๆ ว่าโครงการเอสเอ็มอีคนละครึ่ง เพื่ออุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาให้แก่เอสเอ็มอีแบบร่วมจ่าย (co-payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50-80 ตามขนาดของธุรกิจ โดยเตรียมเปิดเฟส 2 ให้กับเอสเอ็มอีที่สนใจในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 อนาคตให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

3. การปรับปรุงกฎหมายเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี หรือออกกฎหมายใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้ 4. การส่งเสริมเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบ (Formalization) ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการนอกระบบเหล่านี้จะไม่ได้รับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจากทางภาครัฐ

5. การสร้างความรู้พื้นฐานทางการเงิน (Financial Literacy) มีเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีการวางระบบการเงิน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่ม Micro โดยทาง สสว. ได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพิ่มเนื้อหาความรู้ทางการเงินในการเรียนออนไลน์ (SME Academy) ตลอดจนจัดทำหลักสูตรพื้นฐานทางการเงินสำหรับ Micro โดยเฉพาะ

แผนขับเคลื่อนเอสเอ็มอี

6. การขยายบทบาทการค้ำประกันสินเชื่อ ปัจจุบันระบบค้ำประกันสินเชื่อยังมีข้อจำกัด ทำให้การค้ำประกันยังมีปริมาณไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 7. การปรับเอสเอ็มอีสู่การทำธุรกิจบนฐานดิจิทัล เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ 8. การยกระดับเทคโนโลยีนวัตกรรม นวัตกรรมจะช่วยทำให้สินค้าของผู้ประกอบการมีความแตกต่างช่วยเพิ่มมูลค่า

9. การสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดภาครัฐของสินค้ามูลค่าสูง ซึ่งตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งเราจะดำเนินการจัดทำรายชื่อ/รายการสินค้าและบริการในกลุ่มสินค้าเป้าหมาย พร้อมประสานหน่วยงานจัดซื้อ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ดีของเอสเอ็มอี 10. การเชื่อมเอสเอ็มอีเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Value Chain) เช่น การสนับสนุนข้อมูล เงินทุนในการเข้าสู่เวทีโลก

รศ.ดร.วีระพงศ์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า ผู้ประกอบการที่รู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนอะไร หรือมีส่วนไหนที่ต้องพัฒนาก็ควรเร่งดำเนินการ Reskills และ Upskills เช่น เพิ่มช่องทางการขาย จัดทำระบบการเงินเพื่อเป็นข้อมูลในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน พัฒนากระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจะขับเคลื่อนแผนงานให้เป็นไปตามเป้าหมายได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบูรณาการองค์ความรู้

ตั้งใจฟัง

เพื่อถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ และงานสัมมนา “SME 3ก แกร่ง เก่ง กล้า” เป็นอีกหนึ่งช่องทางและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย สร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

สำหรับในปี 2565 ศูนย์ 7 สนับสนุน SME จะจัดสัมมนา “SME 3ก แกร่ง เก่ง กล้า” จำนวน 6 ครั้ง ครอบคลุมเนื้อหา 6 เรื่องหลัก ได้แก่ ภาพรวมแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจ มาตรการและการสนับสนุนภาครัฐ การหาแหล่งเงินทุน การเตรียมความพร้อมสู่การขายในช่องทางโมเดิร์นเทรด

การปรับตัวของเอสเอ็มอีต่อการแข่งขันในแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแบ่งปันประสบการณ์จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จ โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถติดตามข่าวสารต่างๆ ตลอดจนการจัดสัมมนาได้ที่ https://www.facebook.com/7smesupport หรือติดต่อขอรับคำปรึกษาโดยตรงได้ที่ 02-826-7750