ฆ่าตัวตาย ลดลง พา คนพิการ ออกจากมุมมืด ฝึกทักษะอาชีพให้ ภูมิใจในตัวเอง

ฆ่าตัวตาย ลดลง พา คนพิการ ออกจากมุมมืด ฝึกทักษะอาชีพให้ ภูมิใจในตัวเอง

ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ชมรมเพื่อเพื่อนผู้พิการตำบลแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง มีบทบาทในการช่วยเหลือดูแลคนพิการในเรื่องของคุณภาพชีวิต การศึกษา การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงการส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการยกระดับทำงานในระดับอำเภอ โดยรวมกับกลุ่มคนพิการอีก 4 ตำบล

ได้แก่ ชมรมคนพิการตำบลเมืองปาน ชมรมคนพิการตำบลบ้านขอ ชมรมคนพิการตำบลทุ่งกว๋าว และชมรมคนพิการตำบลหัวเมือง เกิดเป็น ‘เครือข่ายชมรมคนพิการอำเภอเมืองปาน’ ทำให้มีสมาชิกทั้งหมด 1,146 คน

คนพิการเหล่านี้ ล้วนเป็นผู้ที่มีฐานะยากจน เนื่องจากไม่มีงานและรายได้ อีกทั้งยังใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเพราะไม่กล้าออกสู่สังคม ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ชมรมเพื่อเพื่อนผู้พิการตำบลแจ้ซ้อน จึงทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเครือข่ายชมรมคนพิการ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง

เพื่อให้คนพิการมีอาชีพและรายได้อย่างต่อเนื่อง มีกลุ่มเป้าหมายคนพิการจาก 3 ตำบล คือ ตำบลบ้านขอ ตำบลแจ้ซ้อน และตำบลเมืองปาน โดยมีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายมาตำบลละ 25 คน รวมทั้งสิ้น 75 คน

เห็นอก เห็นใจ

นายเพียงฟ้า สุทธิพรมณีวัฒน์ ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ชมรมเพื่อเพื่อนผู้พิการตำบลแจ้ซ้อน ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าว่า โครงการฯ ตั้งเป้าส่งเสริมอาชีพให้แก่คนพิการทั้งหมด 5 อาชีพ ประกอบด้วย การเลี้ยงกบและปลาดุกในชุมชน การเพาะพันธุ์กล้าไม้ป่า การเพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงผึ้งโพรงป่า และการแกะสลักจากเครื่องคอมพิวเตอร์ (CNC) ที่มีการประเมินว่าเหมาะสมกับคนพิการและเป็นความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

นายเพียงฟ้า เล่าว่า อาชีพแรก คือ การเลี้ยงปลาดุกและกบ มีการจัดอบรมและเชิญวิทยากรจากรุ่งนภาฟาร์มซึ่งมีความเชี่ยวชาญมาสอน รวมทั้งยังสนับสนุนอุปกรณ์ในการเพาะเลี้ยง เช่น ท่อซีเมนต์ พันธุ์ปลา พันธุ์กบ รวมทั้งอาหาร เพื่อให้คนพิการใช้ตั้งต้นเป็นอาชีพได้ทันที

แต่เนื่องจากเริ่มเลี้ยงช่วงฤดูหนาว กบไม่ค่อยกินอาหาร เลยไม่ค่อยโต ขายได้กิโลกรัมละ 80 บาท คนที่ขายไม่ได้ก็เลี้ยงต่อ ก็พยายามให้กำลังใจว่าอย่าเพิ่งท้อ ตอนนี้ก็ยังเลี้ยงกันอยู่ พอผ่านฤดูหนาวมา กบเริ่มกินอาหารมากขึ้น เริ่มโตขึ้นแล้ว หลายๆ ที่พร้อมจำหน่าย

ส่วนอาชีพเพาะพันธุ์กล้าไม้ป่ามีค่า โครงการฯ มองว่าเป็นอาชีพที่ทำได้ง่ายสำหรับคนพิการ และสามารถส่งขายให้กับหน่วยราชการ เช่น หน่วยควบคุมไฟป่าหรือว่าอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ที่จะมีการซื้อกล้าไม้สำหรับนำไปปลูกเพื่อที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นประจำ โดยพันธุ์ไม้ป่ามีค่า 5 ชนิด คือ ไม้แดง ไม้ชิงชัง ไม้ประดู่ แล้วก็ไม้พะยูง

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมเรื่องการปลูกไผ่ซางหม่นคนละ 10 กล้า เพื่อนำไปปลูกขายหน่อและขายลำไผ่ได้ ใช้เวลา 5 ปี เหมาะกับคนพิการเพราะไม่ต้องดูแลเยอะ เพราะจะมีคนมาซื้อ มาตัดเอง ส่วนกล้าไม้อื่นๆ ไม่ต้องใช้เวลานานหากต้นสูงประมาณ 20 เซนติเมตร สามารถขายได้ต้นละ 20 บาท

เพาะเห็ดนางฟ้า

การเพาะเห็ดนางฟ้า เป็นอีกอาชีพทางเลือกที่คนพิการสามารถทำได้ โดยพาไปเรียนรู้ที่แหล่งเรียนรู้เกษตรพอเพียง ซึ่งมีการสอนตั้งแต่การเลี้ยงเห็ด เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ แต่เราเลือกให้วิทยากรสอนการเพาะเห็ดนางฟ้าโดยเฉพาะ มีสอนตั้งแต่การทำก้อนเชื้อ การบรรจุ การอบ การดูแลอย่างถูกต้อง หลังจากนั้นก็ให้ทดลองทำโดยซื้อก้อนเห็ดให้คนพิการคนละ 200 ก้อน และหญ้าคาสำหรับมุงหลังคาให้ 30 ไพ เพื่อใช้ทำโรงเรือน

“พอเห็ดออกดอก ก็ทยอยเก็บขายตามหมู่บ้านหรือตลาดชุมชน กิโลกรัมละ 50-60 บาท บางคนก็แบ่งใส่ถุงขาย ถุงละ 20 บาท แล้วก็มีคนพิการที่เขาไปร่วมกลุ่มกันทำ 5 คน นำก้อนเห็ดมารวมกันคนละ 200 ก้อน ก็ได้ 1,000 ก้อน ทำให้สามารถเก็บเห็ดได้จำนวนมาก และขายได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด พอจำหน่ายได้เขาก็ทำบัญชีครัวเรือน 2 เดือน มีรายได้ประมาณ 6,000 บาท 4 เดือนจะมีรายได้ประมาณ 12,000 บาท อายุเก็บเกี่ยวของเห็ดจะอยู่ 4 เดือน” นายเพียงฟ้า บอก

ส่วนอาชีพการเลี้ยงผึ้งโพรงป่า พากลุ่มเป้าหมายไปเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้านที่ทำธุรกิจเลี้ยงผึ้งโพรงป่าในพื้นที่ 100 ไร่ สอนตั้งแต่วิธีการทำรังผึ้ง การใส่หัวเชื้อล่อผึ้ง และเทคนิคการล่อผึ้งนางพญาป่ามาติด จากนั้นมีการมอบรังผึ้งให้กลุ่มเป้าหมายจำนวน 2 รัง เพื่อนำไปทดลองติดตามแหล่งภูมิศาสตร์ตามที่ได้เรียนรู้มา โดยตอนนี้อยู่ระหว่างรอให้นางพญาผึ้งเข้ารัง หากทำสำเร็จรังผึ้ง 1 รัง จะให้น้ำผึ้งประมาณ 5 ขวด ขายได้ขวดละ 200 บาท รังผึ้ง 1 รังจะสร้างรายได้ถึง 1,000 บาท

สำหรับทักษะสุดท้าย คือ อาชีพแกะสลักไม้ซึ่งถือเป็นอาชีพที่เป็นทุนดั้งเดิมของชุมชน หากแต่ที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่สามารถออกแบบชิ้นงานเองได้ ต้องไปจ้างการออกแบบผ่านคอมพิวเตอร์ โครงการฯ จึงมีการต่อยอดทักษะการเขียนแบบชิ้นงานและการแกะสลักจากเครื่องคอมพิวเตอร์ (CNC) เชิญอาจารย์จากเทคนิคลำปางมาช่วยเป็นวิทยากรในการอบรม

ทำป้าย

ปัจจุบันเริ่มมีหน่วยงานราชการเริ่มสั่งสินค้า เช่น ป้ายต่างๆ ซึ่งหากเป็นป้ายชื่อธรรมดา กลุ่มเป้าหมายออกแบบเองได้เลย โดยจะคิดราคาตามเวลาแกะสลักคือชั่วโมงละ 120 บาท แต่หากมีรายละเอียดเกี่ยวกับตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ต่างๆ ก็จะคิดค่าจ้างออกแบบด้วย เพราะกลุ่มยังไม่สามารถออกแบบได้

การพัฒนาคนพิการให้มีหนทางในการประกอบอาชีพ ไม่เพียงทำให้พวกเขามีรายได้ที่พอหล่อเลี้ยงชีวิตในแต่ละวัน แต่การมอบโอกาสให้เขาได้ลุกขึ้นมาทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้มีเพื่อน มีสังคม ทำให้พวกเขามีความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของตนเอง

นายสมศักดิ์ อายุ 54 ปี อาชีพเลี้ยงสัตว์ กลุ่มเป้าหมาย บอกว่า เขาเป็นคนพิการขาลีบ ไม่สามารถเดินเหินได้เช่นคนปกติ ที่ผ่านมาทำอาชีพเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เข้าร่วมโครงการฯ นี้ เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ดีกับชีวิตที่จะได้ลุกขึ้นมาทำงานเพื่อเลี้ยงดูตนเอง ไม่ต้องนั่งรอรับความช่วยเหลือ หรือต้องเป็นภาระให้แก่ครอบครัวและสังคมอีกต่อไป

“เมื่อก่อนไม่เคยออกไปนอกกะลาเลย ไม่เคยมองโลกข้างนอก ตื่นเช้ามากินข้าว จากนั้นก็ไปไร่ เสร็จแล้วกลับมานอน การก้าวเท้าออกไปเรียนรู้โลกภายนอก ทำให้เห็นว่าคนที่พิการมากกว่าเรา เขายังมีชีวิตที่ดีกว่าเลย โครงการฯ สอนฝึกเพาะกล้าไม้ ตอนนี้เพาะไว้ 2,000 ต้น ทำกับครอบครัว อีก 2 เดือนก็จะขายกล้าไม้ได้แล้ว ขายต้นละ 20 บาท มีรายได้ประมาณ 40,000 บาท เป็นรายได้เสริมที่ดีมากๆ นอกจากนี้ ก็ยังไปช่วยออกแบบการแกะสลักไม้ด้วยเครื่อง CNC ได้ทำร่วมกับกลุ่มเพื่อน ทำให้มีความสุข” นายสมศักดิ์ บอก

แลกเปลี่ยน เรียนรู้

“เมื่อก่อนเขาอยู่กับกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนพิการ ก็รู้สึกเหมือนแกะดำ แต่พอได้มาอยู่กับคนพิการด้วยกัน เขารู้สึกเหมือนพวกเดียวกัน เข้าใจกัน ทำให้พี่สมศักดิ์ เขามีความสุข กล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด กล้าแสดงออก แล้วยังสามารถที่จะไปช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย ซึ่งตอนนี้พี่สมศักดิ์ เข้ามาเป็นคณะกรรมการชมรมฯ มาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” นายเพียงฟ้า เล่าเสริม

แน่นอนว่าการพาคนพิการออกจากมุมมืดของตนเอง กระทั่งลุกขึ้นมาช่วยเหลือตนเองได้สำเร็จเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ‘หัวใจ’ สำคัญ คือการเข้าใจในความพิการ และส่งเสริมให้เขาพึ่งพาตนเอง เพื่อให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง

ภูมิใจมีงานทำ

“เมื่อก่อนคนพิการในชุมชนคิดฆ่าตัวตายเยอะ และมีฆ่าตัวตายมาหลายราย แต่เดี๋ยวนี้หลังจากที่เรามีการส่งเสริมอาชีพและช่วยเหลือคนพิการมากขึ้น การฆ่าตัวตายของคนพิการก็น้อยลง หรือแทบจะไม่มี เพราะว่าสังคมให้โอกาสเขา ให้เขาได้ออกมาใช้ชีวิต และมีช่องที่จะให้เขายืน ซึ่งสิ่งนี้คือเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของเรา” นายเพียงฟ้า กล่าวทิ้งท้าย