โควิดเป็นศูนย์ ไม่น่าเป็นไปได้ ข้องใจฉีดวัคซีนครบ ทำไมยัง…เสียชีวิต

โควิดเป็นศูนย์ ไม่น่าเป็นไปได้  ข้องใจ ฉีดวัคซีนครบ ทำไมยัง…เสียชีวิต

จากการระบาดของโควิด-19 ยังเป็นปัญหาของระบบสาธารณสุขของทั้งโลก แม้ได้ระบาดกันมานานกว่า 2 ปีแล้ว และมีการฉีดวัคซีนกันกว่า 70% ของประชากรในหลายๆ ประเทศตามที่องค์การอนามัยโลกเสนอแต่แรก หลายคนได้รับวัคซีนมากกว่า 3 เข็ม แต่ก็ยังเข้าใจกันว่าติดเชื้อได้

โอกาสนี้ ศ.ดร.ธีระศักดิ์ พัชรวิภาส มหาวิทยาลัยรังสิต จึงรวบรวมข้อสงสัยเกี่ยวกับการระบาดของโควิด ที่อ้างอิงจากบทความวิชาการที่กระจัดกระจาย มารวบรวมเชื่อมต่อ เพื่อสร้างแนวคิดในอีกมุมมอง มีเนื้อหาน่าสนใจดังตัวอย่าง นับจากนี้

กับคำถามที่ว่า ทำไมฉีดวัคซีนตั้งหลายเข็มยังติดเชื้อ มีคำตอบที่ ศ.ดร.ธีระศักดิ์ รวบรวมมา ได้คำตอบว่า เนื่องจากวัคซีนทำให้เกิดเซลล์จดจำ (memory B cell) สามารถสร้างแอนติบอดีขึ้นมาปิดกั้น ไม่ให้เชื้อเข้าจับกับโมเลกุลติดเชื้อโควิดที่อยู่บนผิวเซลล์เป้าหมายได้ (โดยเฉพาะคนที่มีโอกาสติดเชื้อจริง) การพบเชื้อหรือรับเชื้อไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นติดเชื้อเสมอไป

คนที่ได้รับวัคซีนและมีการสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว เมื่อได้รับเชื้อก็ยังมีอาการได้ จากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน แต่มักไม่มีอาการรุนแรง การตรวจพบเชื้อในคนที่ฉีดวัคซีน จึงไม่ควรถูกเหมารวมว่าเป็นการติดเชื้อ เพราะต้องเข้าใจว่าเชื้อโควิด มีคุณสมบัติเกาะติดตามสภาวะต่างๆ ได้เป็นเวลานาน การพบเชื้อที่โพรงจมูกหรือช่องปากไม่ได้หมายความว่าเชื้อเข้าไปในระบบทางเดินหายใจแล้วเสมอไป

แล้วทำไมบางคนที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ยังมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ศ.ดร.ธีระศักดิ์ บอกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากพันธุกรรมทางภูมิคุ้มกันของคนคนนั้น ไม่สามารถสร้างเซลล์จดจำ และไม่สามารถสร้าง “ทีเซลล์” ที่เหมาะสมในการกำจัดเชื้อโควิดได้ ประกอบกับยังขาดยา ที่สามารถกำจัดเชื้อโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง

ศ.ดร.ธีระศักดิ์ พัชรวิภาส มหาวิทยาลัยรังสิต

สรุปแล้ว ควรทำอย่างไรกันต่อไป ศ.ดร.ธีระศักดิ์  กล่าวว่า การกำหนดนโยบายเปิดประเทศอย่างมีทิศทาง ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่า การตรวจพบเชื้อไม่ได้หมายความว่าติดเชื้อเสมอไป มีแนวทางที่สมดุลและเหมาะสมกับการใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของโควิด การฉีดวัคซีนที่มีมากพอแล้ว จะช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุขของประเทศและโลก

อย่างไรก็ตาม ควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการดูแล “ผู้ที่ติดเชื้อจริงและไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้” ซึ่งในกรณีโควิด น่าจะมีอยู่ประมาณ 0.2-2% กรณีนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ไม่น่าเป็นไปได้ ในบริบทที่เป็นอยู่ ในโลกปัจจุบัน ที่จำเป็นต้องมีการเดินหน้าของระบบเศรษฐกิจและสังคม และควรเตรียมใจกับการระบาดของไวรัสอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ได้เสมอในอนาคต

โดยเฉพาะการระบาดที่มีการติดต่อทางระบบทางเดินหายใจซึ่งทำให้เกิดการติดต่อได้ง่ายกว่าระบบอื่นๆ และที่สำคัญ ควรทำการศึกษาให้เกิดองค์ความรู้อย่างแท้จริงและสร้างความเข้าใจอย่างเป็นระบบให้ได้